xs
xsm
sm
md
lg

ยกเครื่อง “ฟาร์มหมู” สู่ “สมาร์ท” โมเดลนวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตรยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภายในโรงเลี้ยงหมูของวี.พี.เอฟ
“วีพีเอฟ” ผู้ประกอบการธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสุกรครบวงจร จ.เชียงใหม่ เร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยียกระดับการผลิต ช่วยสร้างมาตรฐาน และควบคุมต้นทุนได้ ปูทางธุรกิจยั่งยืน ด้าน กสอ.ยกให้เป็นโมเดลต้นแบบ พร้อมวางงบ ปี 60 จำนวน 80 ล้านบาท พัฒนาและยกระดับ SMEs ด้านอุตสาหกรรมเกษตร
นายวรพงศ์ จีรประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปสายงานผลิตภัณฑ์อาหารในเครือวีพีเอฟ
นายวรพงศ์ จีรประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปสายงานผลิตภัณฑ์อาหารในเครือวีพีเอฟ ผู้ประกอบการธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสุกรครบวงจร จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตรมีการแข่งขันกันมากขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ ดังนั้น บริษัทฯ จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและวิธีการและปรับตัวตามยุคสมัยในสภาวะที่มีการแข่งขันกันสูง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์สัตว์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การปรับปรุงอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม อาทิ การใช้ระบบให้อาหารอัตโนมัติที่สามารถคำนวณระยะเวลาและคำนวณระบบการดูดซึมอาหารได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งประสิทธิภาพการลดใช้แรงงานคน ตลอดจนเพิ่มผลผลิตและคุณภาพให้กับสินค้า
บรรยากาศภายในโรงงาน
นอกจากนี้ยังมีการใช้นวัตกรรมไบโอฟิลเตอร์ที่เป็นเสมือนตัวบังช่องลมเพื่อกำจัดและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ระบบการจัดการโรงเรือน ระบบก๊าซชีวภาพและไฟฟ้า ระบบข้อมูลและสารสนเทศ ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทฯ ยังเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าด้วยการพัฒนาควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป พร้อมทั้งการขยายช่องทางการค้าด้วยการสร้างศูนย์การค้าปลีก และร้านอาหารแบบครบวงจร ซึ่งในอนาคตจะสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และการเป็นอุตสาหกรรมด้านการบริการ โดยการปรับตัวในหลายๆ ด้านดังกล่าวนี้จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน


นายวรพงศ์กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากบริษัทจะพัฒนานวัตกรรมเพื่อการดำเนินธุรกิจแล้ว ปัจจุบันยังมุ่งเน้นนโยบายในเรื่อง Green Supply Chain ซึ่งประกอบด้วย Green Feed, Green Farm, Green Power, Green Pork, Green Food และ Green Society ซึ่งเป็นการผลักดันตนเองให้เป็นฟาร์มสีเขียว โดยคำนึงถึงด้านความปลอดภัยและการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติ มีการจัดการพลังงานและความรับผิดชอบต่อสังคม
ผลิตภัณฑ์แปรรูป
รวมถึงประยุกต์ใช้การแบ่งปันพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของฟาร์ม ด้วยการให้บุคลากรหรือพนักงานสามารถใช้พื้นที่ภายในเพื่อการเพาะปลูก นำมาซึ่งการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้เหล่านี้เกิดจากการค้าขายระหว่างชุมชน รวมทั้งการค้าขายให้กับโรงอาหารภายใน นอกจากนี้ยังมีการนำมูลสุกรที่เหลือใช้มาสร้างพลังงานทดแทน ด้วยการพัฒนาสู่ไบโอแก๊ส ปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สมีเทนที่สามารถใช้งานได้จริงพร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงานได้กว่า 12 ชั่วโมง

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังมีการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกและผักตบชวา ซึ่งถือเป็นพืชมหัศจรรย์ เพื่อการบำบัดน้ำเสียและป้องกันหน้าดินไม่ให้พังทลาย โดยการใช้ประโยชน์ดังที่กล่าวมานี้จะช่วยให้ระบบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมดำเนินต่อเนื่องไปได้นานที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศวิทยา และไม่เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

ด้านดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมการเกษตรถือเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง แต่อุปสรรคที่สำคัญของอุตสาหกรรมเกษตรไทย คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีในปัจจุบัน รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงจำเป็นที่สร้างตลาดใหม่ๆ หรือขยายผลจากนวัตกรรมทางธุรกิจ พัฒนาไปอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เป็นต้น

สำหรับฟาร์มแห่งนี้นับเป็นต้นแบบนวัตกรรมเกษตรต้นแบบที่อยากให้กระจายไปสู่ผู้ประกอบการเกษตรในวงกว้าง โดยในปี 2560 กสอ.ได้จัดเตรียมโครงการเพื่อการพัฒนาและรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กว่า 10 โครงการ ภายใต้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและยกระดับ SMEs จำนวน 280 กิจการ/890 คน และเกิดการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 120 ผลิตภัณฑ์ เช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ส่งเสริมในระดับภูมิภาค ได้แก่ โครงการ Thailand Food Valley ที่เร่งผลักดัน ให้เกิดศูนย์กลางเกษตรและการผลิตอาหารในแต่ละพื้นที่ โดยพบว่าภาคเหนือของประเทศไทยจัดเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตภูมิภาคหนึ่ง ด้วยจุดแข็งจากความหลากหลายและคุณภาพของสินค้า สามารถเป็นได้ทั้งแหล่งผลิตและแหล่งแปรรูป รวมทั้งมีสถาบันและโครงการเพื่อการวิจัยเทคโนโลยีที่จะสามารถแปรองค์ความรู้และกระบวนการต่างๆ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานระดับปฏิบัติการ (Command Center) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เพื่อขับเคลื่อน Thailand Food Valley ในพื้นที่ภาคเหนือ
โรงงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น