ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พลิกธุรกิจสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0” ที่ชลบุรี หวังปลุกกระแสการตื่นตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงการพัฒนาอย่างเต็มที่ สอดรับต่อการเข้าสู่การค้าเสรีในปัจจุบัน ชูจุดเด่นศักยภาพในด้านต่างๆ ของภาคตะวันออกที่ยังคงมีความพร้อม
วันนี้ ( 6 ต.ค.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พลิกธุรกิจสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0” ณ ห้องแสนสุข โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงาน พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thailand 4.0 เชื่อมโยง Industry 4.0 และ SMEs 4.0 ได้อย่างไร” โดยมี นายภคัรธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้การต้อนรับ ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ และมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคตะวันออกเข้าร่วมกว่า 500 คน
ดร.อรรชกา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม และการยกระดับรายได้ของประชากรในประเทศไทยสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่น่าลงทุนในระดับภูมิภาคจากการสำรวจของกลุ่มบริษัทข้ามชาติ ที่เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับต่างๆ ที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสู่ระดับภูมิภาค
และการเข้าถึงเอสเอ็มอีรายย่อย เนื่องจากความเจริญส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่ๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความสมดุล ทั้งนี้ ยังคงต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภัณฑ์พร้อมทั้งการบริหารจัดการที่ดี และได้มาตรฐาน เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถแข่งขันได้ทำ สอดคล้องต่อการเข้าสู่การค้าเสรีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
โดยทางกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินการจัดปฏิบัติการเรื่องพลิกธุรกิจสู่อุตสาหกรรม 4.0 และเอสเอ็มอี 4.0 พร้อมจัดมหกรรมวันนัดพบผู้ประกอบการซึ่งกำหนดจัดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเป็นกิจกรรมที่นำหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอี เข้าร่วมเผยแพร่แผนการจัดการธุรกิจ การเผยแพร่โครงการ และการให้บริการด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโอทอป เพื่อสร้างความรู้ และพัฒนาขีดความสามารถให้ผู้ดำเนินธุรกิจมีความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 สอดคล้องต่อสถานการณ์ และความต้องการของบริบทประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตั้งเป้าให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ จากภาครัฐในปี 2560 ไม่ต่ำกว่า 6,000 ราย
ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคตะวันออกถือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคที่สำคัญของประเทศ โดยมีวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมกว่า 200,000 ราย เนื่องจากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก และยังเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ และโอกาสในการพัฒนาที่หลากหลาย ทั้งโครงการเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor หรือ ECC ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ และมีโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก และทางน้ำเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ มีสภาพภูมิประเทศ และการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง รวมถึงเป็นแหล่งผลิตอาหาร และการเกษตรที่สำคัญ สามารถรองรับการบริโภคแปรรูป และส่งออก
และความความโดดเด่นด้านนวัตกรรมการผลิตที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อประโยชน์ไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมระดับประเทศให้มีความเข้มแข็ง การเสริมสร้างให้มีการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดผลต่อการปรับโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมในระยะยาวต่อไป
แต่ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือ ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ ปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม การเกิดภัยธรรมชาติ และปัญหาด้านการพัฒนานวัตกรรม ที่จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการให้ความสำคัญต่อภาคการผลิตตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามกระแสการบริโภคที่ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล
อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปผลไม้ รวมถึงวัตถุดิบจากการประมง