การประชุมสมาพันธ์ประกันสินเชื่อแห่งภูมิภาคเอเชีย ( Asian Credit Supplementation Institution Confederation : ACSIC Conference) ครั้งที่ 29 ที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพมหานคร โดย บสย.เป็นเจ้าภาพ เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก และถือเป็น “ก้าวสำคัญ” อย่างยิ่ง ในการการส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ ผู้ประกอบการ SMEs ไม่เพียงแต่ในไทย แต่รวมถึงในภูมิภาคเอเชีย
หัวข้อสำคัญที่ บสย. จะมีส่วนแชร์ประสบการณ์ซึ่งถือเป็น Success Case ที่เกิดขึ้นในไทย คือ ความสำเร็จของโครงการ PGS (Portfolio Guarantee Scheme) ซึ่งเป็นโมเดลการค้ำประกันที่นำข้อดี และความสำเร็จจากการค้ำประกันในประเทศต่างๆ มาปรับให้เหมาะกับบริบทสภาพเศรษฐกิจ สถานการณ์ของผู้ประกอบการ SMEs ตลอดจนนโยบายด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน และมาตรการภาครัฐของไทยเอง เกิดเป็นโมเดลที่ยูนิค เฉพาะตัว แตกต่างและไม่เหมือนใคร
ถึงวันนี้ผ่านมา 7 ปี พิสูจน์แล้วว่าโมเดลการค้ำประกันสินเชื่อแบบ PGS สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และช่วยอัดฉีดเงินในระบบสถาบันการเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ
หลังจาก บสย. ปรับเปลี่ยนมาใช้โมเดลการค้ำประกันแบบ PGS ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 - 2559 ซึ่งปัจจุบันดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะที่ 5 และวงเงินของโครงการ PGS5 เพิ่งหมดลงเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อที่ให้ บสย.ค้ำประกันนั้นมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากยอดค้ำประกันสินเชื่อ 44,000 ล้านบาท ในช่วง 18 ปี ตั้งแต่ ก่อตั้ง บสย. เพิ่มเป็น 528,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12 เท่า ตั้งแต่ปรับมาใช้โครงการ PGS
ย้อนกลับไป 7 ปีก่อน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้ บสย. ดำเนินโครงการค้ำประกัน PGS1 ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท จากโจทย์ที่ภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการหาเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ หลังจากวิกฤต “Hamburger Crisis” ที่ลุกลามไปทั่วโลก
บสย. ซึ่งเป็นหน่วยงานค้ำประกันหนึ่งเดียวของไทย จึงได้รับโจทย์ใหญ่ในการเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว
โครงการค้ำประกันแบบ PGS เป็นการปรับเปลี่ยนจากโมเดลการค้ำประกันของ บสย. รูปแบบเดิมที่เรียกว่า Risk Participation (RP) ซึ่งธนาคารมองว่ามีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากต้องแชร์ความเสี่ยงร่วมกับ บสย. อย่างละครึ่ง กรณีที่เกิดความเสียหาย ขณะที่โครงการ PGS มาปิดจุดอ่อนเรื่องนี้ ทำให้ธนาคารได้รับการชดเชย 100% เมื่อเกิดความเสียหาย ภายใต้เงื่อนไขหนี้เสีย NPG (NPL ในส่วนที่ บสย. ค้ำประกัน) ไม่เกิน 12% และจ่ายลดหลั่นลงมาจนถึง NPG 18% หากมากกว่านั้น ก็จะไม่ได้รับชดเชย
แน่นอนว่า โมเดลดังกล่าว ช่วยพลิกประวัติศาสตร์การค้ำประกันของ บสย. โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไทย ให้ได้รับแหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการขยายกิจการ และเสริมสภาพคล่อง
PGS ยังทำให้เกิดความถ่วงดุลของระบบการค้ำประกัน ระหว่างธนาคาร และ บสย. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้ภาครัฐรู้ถึงเพดานความเสียหายสูงสุดในการอุดหนุนให้กับ บสย. กรณีเกิดความเสียหาย ช่วยลดงบประมาณในส่วนที่คาดไม่ถึงในอนาคต แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทันทีคือ เม็ดเงินสินเชื่อจากธนาคารอัดฉีดเข้าสู่ระบบ เพราะธนาคารมีความมั่นใจ
นี่จึงเป็นข้อดีของ กลไก “การค้ำประกันสินเชื่อ” ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก นำมาเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือ SMEs ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
วันนี้ ในมุมมองของภาครัฐ และธนาคาร จึงไม่ได้มองว่า บสย. เป็นแค่ผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่มีมีหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอ แต่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงในการปล่อยกู้ของธนาคาร
นำไปสู่บทบาทสำคัญเพื่อ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของทุกสถาบันค้ำประกันสินเชื่อในภูมิภาคเอเชีย และเป็นหัวข้อหลักในการประชุม ACSIC ครั้งที่ 29 นี้
บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *