ผ่านมาครึ่งปีของปี 2559 แน่นอนว่า นโยบายของภาครัฐ ธุรกิจ SMEs ยังคงเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล แต่จากการรับฟังเสียงสะท้อนหนึ่งจากกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ยังคงพบว่า ปัญหายอดฮิตที่ทุกคนต่างพูดตรงกันคือ ความยากลำบากในการขอสินเชื่อธนาคาร ซึ่งทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก ยังคงประสบปัญหา และขาดสภาพคล่อง
คำถามคือ ปัญหาของการกู้เงินธนาคารในวันนี้คืออะไร แม้ภาครัฐจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างมากมาย ครอบคลุมตั้งแต่รายย่อย หาบเร่ แผงลอย เจ้าของธุรกิจทั่วไป ไปจนถึงกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ กลุ่มนวัตกรรม ตลอดจน SMEs ภาคเกษตร ฯลฯ นั่นเพราะภายใต้มาตรการช่วยเหลือ SMEs เหล่านี้ ซึ่งใช้สถาบันการเงินเป็นกลไกสำคัญ
“การพิจารณาปล่อยกู้ ยังคงเป็นดุลพินิจของธนาคาร ซึ่งยังมีกรอบ กติกา เงื่อนไข ข้อกำหนดต่างๆ มากมาย เพื่อป้องกันหนี้เสีย หนี้สงสัยจะสูญ หรือ NPL”
ทั้งการเช็คเครดิตบูโร ก่อนการปล่อยกู้ ก็เป็นอีกหนึ่งกติกาพื้นฐานที่ผู้กู้ทุกคนต้องรู้
หลายคนมีร้านค้า มีการเดินบัญชีธนาคารสม่ำเสมอ แต่หากธนาคารพบว่าผู้กู้ติด “เครดิตบูโร” (ประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภท รวมถึงบัตรเครดิต ของผู้กู้) คือ มีปัญหาค้างจ่าย ล่าช้า ฯลฯ (ดูรายละเอียดเครดิตบูโร เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด http://www.ncb.co.th) ก็เป็นเรื่องที่ยากมากที่ธนาคารจะปล่อยกู้
แล้วกรณีของ SMEs บางรายแม้ไม่ได้ติดเครดิตบูโร แต่ธนาคารก็ไม่ปล่อยกู้ ปัญหาคืออะไร
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจ ภาพรวมการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร โดยสิ่งที่ธนาคารจะพิจารณาพื้นฐานมี 3 สิ่งคือ 1.คุณสมบัติของผู้กู้ 2. โครงการ ซึ่งจะประกอบด้วย 4 C คือ CAPACITY ความสามารถในการหารายได้, CAPITAL ฐานะการเงิน, CONDITION สภาพแวดล้อม และ COUNTRY ประเทศคู่ค้า และเรื่องสุดท้าย 3. หลักประกัน ได้แก่ ที่ดิน, สิ่งปลูกสร้าง, เครื่องจักรอุปกรณ์, เงินฝาก, พันธบัตร, สิทธิการรับเงิน, ค่างวดงานตามสัญญาจ้าง, สิทธิการเช่าที่ดิน, เช็คการค้า, ตั๋วแลกเงิน ตลอดจน หนังสือค้ำประกัน บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) ซึ่งเป็นหลักประกัน โดยการสนับสนุนจากภาครัฐ
ผู้ประกอบการ SMEs บางรายที่ต้องการกู้เงินธนาคาร และผ่านทั้งเรื่องคุณสมบัติ โครงการ แต่อาจจะมาติดปัญหาเรื่อง “หลักประกัน” ก็สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้
นอกเหนือจากนี้ ที่จะทำให้การขอกู้เงินธนาคารเป็นเรื่องง่ายขึ้น ผู้ประกอบการยังต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เพิ่มเติม ได้แก่ 1.จดทะเบียนการค้า 2. เข้าระบบภาษี ซึ่งรัฐบาลรณรงค์เรื่องนี้อย่างหนักตั้งแต่ต้นปี และ 3. การเดินบัญชีธนาคาร (Statement) รายรับ-รายจ่ายของธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะธนาคารจะดูศักยภาพในการชำระหนี้ของผู้กู้จากสิ่งนี้เป็นหลัก
ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs เจ้าของธุรกิจที่มีแผนว่า อนาคตจะกู้เงินธนาคารเพื่อนำมาขยับขยายธุรกิจ จึงควรจะเริ่มต้น เตรียมความพร้อมของตัวเองนับตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้การกู้เงินเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ต้องติดขัด ขาดสภาพคล่อง และสามารถนำเงินทุนมาเพิ่มมูลค่า และโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ
อย่าลืมว่า...การเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ เป็นการปูทางสู่ธุรกิจที่แข็งแกร่งในวันหน้า
บทความโดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *