xs
xsm
sm
md
lg

SMEs Boost-Up:SMEs เตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง เงินกู้อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บสย. ออกบูธในงาน Money Expo 2016
มหกรรมการเงิน ครั้งที่ 16 หรือ Money Expo 2016 ที่จัดขึ้นในช่วงตลอดสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆ ระดมโปรโมชั่นมาออกงานกันอย่างคึกคัก ทั้งการกู้บ้าน กู้รถ ตลอดจนการกู้เงินทำธุรกิจ ขณะเดียวกันยังผนวกด้วยเกร็ดความรู้ทางการเงินต่างๆ
บรรยายหัวข้อ “เทคนิคเตรียมตัวให้ได้เงินกู้” โดยผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานคร ของ บสย.
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้ำประกันเงินกู้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถได้เงินกู้ไปทำธุรกิจในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการ ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่ง นอกจากการออกบูธให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs แล้ว มีโอกาสเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่อง “เทคนิคเตรียมตัวให้ได้เงินกู้” โดยผู้จัดการสาขากรุงเทพมหานคร ของ บสย. ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อฮอตฮิตที่บรรดาผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ต้องการรู้มากที่สุด

บทความวันนี้ จึงขอนำส่วนหนึ่งของการบรรยายมาสรุปให้ผู้อ่านฟัง เพื่อเป็นทิปส์สั้นๆ ในการขอเงินกู้จากธนาคาร เริ่มจากการพิจารณาสินเชื่อ หรือการปล่อยเงินกู้ของธนาคาร หลักๆ จะมององค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน

1.ผู้กู้ ที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือกิจการที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งธนาคารก็จะพิจารณารายรับรายจ่ายว่าเป็นอย่างไร หรือหากเป็นผู้กู้ ในรูปแบบของบริษัท/นิติบุคคล ระบบเอกสารจะเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงประวัติในการทำธุรกิจ เช่น ประวัติการชำระหนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ติดเครดิตบูโร เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นที่ตัวบุคคลหรือบริษัท คือ

2.การเดินบัญชี เป็นหัวใจสำคัญที่ธนาคารขอดูอันดับต้นๆ เพราะสิ่งนี้สะท้อนความเป็นจริงของธุรกิจ เงินทุนที่ต้องการขอไปใช้ในธุรกิจ สอดคล้องกับบัญชีอย่างไร คำถามที่เจ้าของธุรกิจจะได้ยินจากธนาคาร คำถามแรกเมื่อไปขอสินเชื่อ คือ จะเอาไปทำอะไร คำตอบต้องชัดเจน ทั้งในแง่ขอการขอเงินกู้ใหม่ และการขอเพิ่ม ซึ่งทุกอย่างจะสัมพันธ์กัน ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการกู้และการเดินบัญชีคือสิ่งสำคัญมากในการขอกู้เงินจากธนาคาร

3.หลักประกัน การให้เงินกู้ของธนาคาร จะดูหลักประกันของผู้กู้ด้วย เพื่อรับความเสี่ยง เพราะหากในอนาคตผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินคืนได้ ธนาคารก็จะนำหลักประกันนี้ไปหักชำระหนี้แทน


ในส่วนของ “หลักประกัน” นี้เองที่ บสย. เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเมื่อธนาคารมองว่า ธุรกิจผ่านมีศักยภาพ สามารถให้สินเชื่อได้ แต่หลักประกันอาจไม่พอ ธนาคารก็จำเป็นต้องขอหลักประกันจากผู้กู้ เพื่อป้องกันความเสี่ยง จุดนี้เองที่ บสย.จะเข้าไปช่วยค้ำประกันให้กับผู้กู้ ยกตัวอย่าง ผู้กู้ต้องการกู้เงิน แต่ธนาคารประเมินแล้วว่า หลักทรัพย์ผู้กู้ที่มีอยู่ไม่พอ บสย.ก็จะเข้าไปค้ำในส่วนที่ไม่พอให้ ช่วยรับความเสี่ยงให้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ธนาคาร

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ บสย. แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ ที่ บสย. ให้การค้ำประกันสูงสุดถึง 40 ล้านบาทต่อราย เรียกว่า PGS5 ปรับปรุงใหม่ โดยปรับปรุงในเรื่องการค้ำประกันเพื่อสามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลยังช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้กับ บสย. แทนกับผู้ประกอบการ 4% ตลอด 4 ปีแรก โดยฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการลงอีก

นอกจากผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็กแล้ว ปัจจุบัน บสย. ยังเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยด้วย เช่น พ่อค้า แม่ค้า โดยจะเข้าไปค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 200,000 บาท ต่ำสุดที่ 10,000 บาท ซึ่งกลุ่มนี้สมัยก่อน ธนาคารจะให้บุคคลมาช่วยค้ำประกันให้ แต่ปัจจุบันให้ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันแทน

จึงเป็นความมุ่งมั่นของ บสย. ที่ไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนทางการเงินที่สูงเกินไปในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะลดการ “กู้นอกระบบ” ซึ่งทำให้ SMEs มีต้นทุนธุรกิจที่สูง และความเสี่ยง บสย. จึงขอเป็นกลไกลสำคัญ เพิ่มโอกาสให้ SMEs ขอเงินกู้กับธนาคารในต้นทุนที่ต่ำ สร้างโอกาสในการเติบโต และเพิ่มความเข้มแข็ง ให้กับธุรกิจมากขึ้น

บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น