xs
xsm
sm
md
lg

“We Listen” เว็บเพจเปิดรับฟังทุกปัญหา ไอเดียสร้างรายได้กิจการเพื่อสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“พิมพ์ชนก วิทยวีรศักดิ์”  เจ้าของไอเดีย
การทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่มีคนกลุ่มนี้ที่พร้อมจะทำธุรกิจบนพื้นฐานของการดูแลคนในสังคม ในประเทศ และบนโลกใบนี้ เฉกเช่นกิจการที่มีชื่อว่า We Listen ของ “พิมพ์ชนก วิทยวีรศักดิ์”

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ We Listen กัน
 
We Listen เป็น Application และ Webpage ที่จะจับคู่คนที่ต้องการคนที่รับฟังและคนที่ต้องการฟังให้มาเจอกัน โดยผู้คนที่พร้อมจะรับฟัง (Active Listener) คืออาสาสมัครที่ผ่านการอบรม และคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญให้มีความพร้อมในการรับฟังปัญหาต่างๆ โดยไม่ไปตัดสินสิ่งที่รับฟังมาว่าถูกหรือผิด 
 
“พิมพ์ชนก” เล่าถึงที่มาของ We Listen ว่าเกิดขึ้นมาจาก ตัวเองเคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน ผ่านการรักษาจนกลับมาเป็นปกติ จึงมีความคิดที่ต้องการจะช่วยคนอื่นๆ ที่เจอเรื่องร้ายๆ แต่ไม่มีคนรับฟัง บวกกับที่ปัจจุบันคนมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าเยอะขึ้นมาก เลยอยากสร้างโครงการนี้ขึ้น มาเพื่อช่วยคนอื่นๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าสู่วงจรของภาวะซึมเศร้าและหายจากสภาวะซึมเศร้าเร็วขึ้น ก่อนที่เขาจะตัดสินใจคิดสั้น และฆ่าตัวตายเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่เป็นข่าวในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ตรงนี้จะกลายเป็นโมเดลธุรกิจได้อย่างไรนั้น “พิมพ์ชนก” อธิบายว่า รายได้มาจากสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการ โดยกำหนดค่าสมาชิกเป็นรายเดือน และจำกัดจำนวนครั้งที่จะเข้ามาใช้บริการพูดคุย ซึ่งมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา เพราะหลังจากได้ทดลองแนะนำ We Listen ผ่านทางแฟนเพจ facebook เราได้รับการตอบรับจากกลุ่มวัยรุ่น GEN-Y โดยเฉพาะนักเรียน เข้ามาพูดคุย บอกเล่าปัญหาต่างๆ มากถึง 700 คน ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเรียนและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ รวมไปถึงปัญหาความรักหนุ่มสาว  ซึ่งคนที่รู้จักเรามาจากการแชร์และบอกต่อกันในกลุ่มเพื่อน 
จัดคอร์สอบรมให้กับผู้ที่จะมารับฟัง
สำหรับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ We Listen จะเริ่มขึ้นต้นเดือนตุลาคม 2559 โดยสิ่งที่ต้องบริหารในธุรกิจนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง คือ 1. อาสาสมัคร ที่จะมารับฟัง โดยเปิดรับสมัครจากผู้ที่มีจิตอาสา เพราะจะไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นเงิน แต่จะได้รับเป็นความรู้จากการที่เราเปิดอบรมในคอร์สต่างๆ โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรสถานะ อย่าง สมาคมสมะมาริตันส์ (กิจกรรมของสมาคมนี้ คือการป้องกันการฆ่าตัวตาย ) 2 . เทรนเนอร์ และ 3. เว็บมาสเตอร์ที่จะมาคอยดูแลสมาชิกให้ได้รับการบริการอย่างที่ต้องการ

“พิมพ์ชนก” มองถึงแผนการขยายกิจการในอนาคตว่า ต้องการสร้างแพลตฟอร์มให้ประสบความสำเร็จและมีผู้ใช้เยอะๆ โดยตั้งเป้าสมาชิกไว้ที่ 800-1,000 คน แต่ก็คงต้องอยู่บนพื้นฐานและปัจจัยที่สำคัญ คือ การที่ต้องทำให้คนได้รู้จักมากขึ้น และเข้าใจจุดมุ่งหมายการทำงานว่า เราทำเพื่อสังคมจริงๆ แต่ถ้านำเสนอออกมาในแง่ที่ไม่ถูกต้องจะเกิดผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมายของเรา ซึ่งเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบทั้งในแง่บวก และลบได้เร็วมาก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนธุรกิจไม่ได้ชัดเจน แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือ อยากให้คนไทยหันมาใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตของตนมากขึ้น กล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น รวมถึงสิ่งที่คนอื่นเป็น ไม่โดนความเข้าใจผิดของสังคมครอบงำ และตัดสินว่าคนที่มีอาการทางจิตนั้นจะต้องเป็นบ้า เป็นโรคจิตหนัก ซึ่ง platform online ของเรา หรือของคนอื่นๆ ทำให้คนไทยได้มีพื้นที่ระบายความเครียดหรือความกังวลในจิตใจออกมา และเมื่อเขารู้สึกดีขึ้น โอกาสที่เขาจะมีความเครียดสะสมจนพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้าก็จะลดลง

ปัจจุบัน We listen มีสมาชิกที่เป็นอาสาสมัครมารับฟังปัญหา 20 คน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมาจากการอบรมให้ความรู้ (ค่าใช้จ่ายอบรมครั้งแรก 14,000 บาท) ค่าเทรนเนอร์ สมาชิก คนละ 450 บาท ประมาณ 25,000 บาทต่อวัน และโปรแกรมเมอร์ เว็บมาสเตอร์ ประมาณ 70,000 บาท ดังนั้น การตั้งราคาค่าบริการของสมาชิกตอนนี้ยังไม่เซตออกมา แต่คาดว่าน่าจะประมาณหลักพันบาทต่อเดือน

สำหรับ We listen เป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการ Banpu Champion for Change 6 โดยได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย และได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 200,000 บาท

โทร. 09-5556-2396 www.facebook.com/We Listen

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น