เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ราคายางพาราสูงเกือบ200บาทต่อกิโลกรัม เกษตรหน้าเก่าใหม่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคใต้ แห่กันมาปลูกต้นยาง ทว่า “พิโชติ ผุดผ่อง” กลับเลือกสร้างนวัตกรรมปลูกผักสวนครัวด้วยระบบน้ำไร้ดิน หรือไฮโดรโปนิกส์(hydroponics) ท่ามกลางความสงสัยแปลกใจของคนรอบข้าง
มาถึงปัจจุบัน เกิดวิกฤตยางพาราตกต่ำ ผัก‘ขึ้นฉ่าย’ปลูกไร้ดินด้วยวิธีกางมุ้ง จากฝีมือหนุ่มคนดังกล่าว กลายเป็นสินค้าเกษตรเกรดเอส่งขายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งตลาดตอบรับสูงจนปริมาณไม่ทันผลิต ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงเป็นคำตอบของการทำเกษตรกรยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรม และใช้ตลาดนำการผลิต
เขาอธิบายต่อว่า ข้อดีของการปลูก ‘ขึ้นฉ่ายไร้ดินกางมุ้ง’ คือ สะอาดปลอดภัย ใช้แรงงานคนน้อย อีกทั้ง ได้ผลผลิตเร็ว ต่อรอบใช้เวลา 35-45 วันสามารถเก็บขายได้เลย และเริ่มต้นปลูกรอบใหม่ได้ทันที ในหนึ่งปีสามารถปลูกแล้วเก็บขายได้ถึง 11 รุ่น ช่วยให้มีรายได้สม่ำเสมอ โดยต้นทุนการปลูก ค่าอุปกรณ์ถาวรเริ่มต้นประมาณ 35,000 บาทต่อโต๊ะ พื้นที่1 ไร่ สามารถตั้งได้ 40 โต๊ะ ใน 1 โต๊ะ ขนาด= 2x7 เมตร มีจำนวน 1,200 หลุม และใน 1 หลุมปลูกได้ 5-7 ต้น ส่วนความเสี่ยงอยู่ที่มีโอกาสติด “โรคใบจุด” หากเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ผลผลิตเสียยกโต๊ะ
“ราคาขายที่ 75 บาท ในพื้นที่ปลูก 1 โต๊ะ จะมีผลผลิตประมาณ 50-60 กิโลกรัม สร้างยอดขายประมาณ 3,000-4,000 บาท หักต้นทุนทุกอย่างแล้ว จะเหลือกำไรประมาณ 50% ในขณะที่ราคาท้องตลาด ขึ้นฉ่ายอยู่ที่ 50-90 บาท ซึ่งราคาที่ผันผวนขึ้นลง ทำให้ควบคุมต้นทุนและวางแผนการตลาดได้ยาก ดังนั้น การขายขาดโดยมีราคาประกัน ช่วยสร้างความมั่นคงได้ดีกว่า” เกษตรหนุ่ม เผย
จากเริ่มต้น 4 โต๊ะ ปัจจุบัน เขาขยายการปลูกขึ้นฉ่ายไร้ดิน เป็น 17 โต๊ะ มียอดส่งเข้าห้าง กว่า 500-600 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ โดยกำลังผลิตดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงเตรียมลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1.6 ล้านบาท ซื้อที่ดิน 3 ไร่ ขยายกำลังผลิต รวมถึง ปลูกผักไร้ดินชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่ม “ผักโรยหน้า” ไม่ว่าจะเป็นผักชี ต้นหอม และปวยเล้ง เป็นต้น รองรับความต้องการบริโภคผักปลอดสารในภาคใต้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *