เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ราคายางพาราสูงเกือบ200บาทต่อกิโลกรัม เกษตรหน้าเก่าใหม่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคใต้ แห่กันมาปลูกต้นยาง ทว่า “พิโชติ ผุดผ่อง” กลับเลือกสร้างนวัตกรรมปลูกผักสวนครัวด้วยระบบน้ำไร้ดิน หรือไฮโดรโปนิกส์(hydroponics) ท่ามกลางความสงสัยแปลกใจของคนรอบข้าง
มาถึงปัจจุบัน เกิดวิกฤตยางพาราตกต่ำ ผัก‘ขึ้นฉ่าย’ปลูกไร้ดินด้วยวิธีกางมุ้ง จากฝีมือหนุ่มคนดังกล่าว กลายเป็นสินค้าเกษตรเกรดเอส่งขายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งตลาดตอบรับสูงจนปริมาณไม่ทันผลิต ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงเป็นคำตอบของการทำเกษตรกรยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรม และใช้ตลาดนำการผลิต
พิโชติ ผุดผ่อง วัย 42 ปี เกษตรกร ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เล่าว่า ครอบครัวมีอาชีพทำสวนยางพารา บนพื้นที่ 16 ไร่ เหมือนเกษตรกรทั่วไปในท้องถิ่น ส่วนตัวเรียนจบด้านเกษตร จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสงขลา โดยมีความตั้งใจจะทำธุรกิจเกษตรแนวใหม่ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
“ผมบอกตัวเองว่า เรียนเกษตรเพื่อมาทำธุรกิจเกษตร ไม่ได้เรียนมากรีดยาง หลังเรียนจบ ผมทำงานบริษัทขายผลิตภัณฑ์เกษตรในอำเภอหาดใหญ่ 4-5 ปี เพื่อหาประสบการณ์ จากนั้นออกมาธุรกิจเกษตรของตัวเอง ซึ่งตอนนั้น ยางพาราราคาดีมาก ใครๆ ก็ปลูก แต่ผมประเมินว่า ถ้าปลูกกันเยอะแบบนี้ สักวันราคาต้องตกแน่ ผมเลยเลือกจะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เพราะสามารถจะขายได้มูลค่าสูงกว่ายางเมื่อคำนวณเทียบพื้นที่ปลูกเท่ากัน” พิโชติ เล่าถึงแนวคิด
เบื้องต้นลงทุนหลักแสนกว่าบาท จำนวน 4 โต๊ะ (โต๊ะ=คำใช้เรียกอุปกรณ์ปลูกผักไร้ดิน) โดยปลูกผักชนิดต่างๆ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักสลัด และขึ้นฉ่ายฯลฯ วางตำแหน่งให้เป็นสินค้าเกษตรเพื่อตลาดบน นำเสนอขายในห้างสรรพสินค้าอย่าง “เทสโก้ โลตัส” จ.สงขลา ทำให้มีเวทีแจ้งเกิดสินค้าสู่ผู้บริโภค
“เวลานั้น ผักไฮโดรฯ ถือเป็นเรื่องใหม่มากของเมืองไทย ซึ่งความรู้ในการปลูก ผมใช้จากที่เรียนมาโดยตรง คู่ศึกษาเองเพิ่มเติม ทดลองปลูกผักชนิดต่างๆ จนได้มาตรฐาน แล้วไปเสนอเทสโก้ โลตัส ซึ่งได้รับโอกาสวางขาย” เขาเผย
ความพิเศษของเกษตรกรหนุ่มคนนี้ อยู่ที่การมุ่งพัฒนานวัตกรรมเกษตรตลอดเวลา และใช้การตลาดนำการผลิตเสมอ ไม่หยุดหรือยึดติดจะทำแค่สินค้าเกษตรแค่ตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น จนเป็นที่มานวัตกรรมปลูก ‘ขึ้นฉ่ายไร้ดินกางมุ้ง’ เพื่อแก้ปัญหาผู้ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ขายตัดราคากันเอง
“ช่วงแรก ส่วนใหญ่ผมจะปลูก “ผักสลัด” แต่ในระยะหลัง มีคู่แข่งปลูกผักสลัดจำนวนมาก แล้วมาขายตัดราคา ทำให้ผมคิดหาผักชนิดอื่นแทน จนได้พูดคุยกับเทสโก้ โลตัส รู้ความต้องการตลาดขึ้นฉ่ายในภาคใต้ยังมีสูง เพราะสภาพฝนตกชุ่มในภาคใต้ ทำให้ปริมาณขึ้นฉ่ายที่ปลูกไม่สม่ำเสมอ ผมเลยทดลองปลูกขึ้นฉ่ายไร้ดิน แล้วใช้วิธีกางมุ้ง เพื่อป้องกันฝนและแดด รวมถึงคิดสูตรน้ำปุ๋ยที่ใช้ปลูกของตัวเอง ปรากฏว่าได้ผลดี เมื่อส่งขายได้การตอบรับสูง” พิโชติ เผย
เขาอธิบายต่อว่า ข้อดีของการปลูก ‘ขึ้นฉ่ายไร้ดินกางมุ้ง’ คือ สะอาดปลอดภัย ใช้แรงงานคนน้อย อีกทั้ง ได้ผลผลิตเร็ว ต่อรอบใช้เวลา 35-45 วันสามารถเก็บขายได้เลย และเริ่มต้นปลูกรอบใหม่ได้ทันที ในหนึ่งปีสามารถปลูกแล้วเก็บขายได้ถึง 11 รุ่น ช่วยให้มีรายได้สม่ำเสมอ โดยต้นทุนการปลูก ค่าอุปกรณ์ถาวรเริ่มต้นประมาณ 35,000 บาทต่อโต๊ะ พื้นที่1 ไร่ สามารถตั้งได้ 40 โต๊ะ ใน 1 โต๊ะ ขนาด= 2x7 เมตร มีจำนวน 1,200 หลุม และใน 1 หลุมปลูกได้ 5-7 ต้น ส่วนความเสี่ยงอยู่ที่มีโอกาสติด “โรคใบจุด” หากเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ผลผลิตเสียยกโต๊ะ
ด้านช่องทางขายนั้น เขาเผยว่า ปัจจุบันผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งเข้าขายที่ห้างเทสโก้ โลตัส ใน จ.สงขลาและใกล้เคียง โดยทางห้างมีโครงการ “เทสโก้ โลตัส ประชารัฐร่วมใจ” รับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกรที่มีนวัตกรรม โดยให้เงื่อนไขพิเศษ รับซื้อขาดจ่ายเงินสดทุกสัปดาห์ โดยให้ราคาประกันที่ 75 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในอาชีพว่าผลผลิตที่ปลูกมีตลาดรองรับแน่นอน และได้ราคาที่น่าพึงพอใจ
“ราคาขายที่ 75 บาท ในพื้นที่ปลูก 1 โต๊ะ จะมีผลผลิตประมาณ 50-60 กิโลกรัม สร้างยอดขายประมาณ 3,000-4,000 บาท หักต้นทุนทุกอย่างแล้ว จะเหลือกำไรประมาณ 50% ในขณะที่ราคาท้องตลาด ขึ้นฉ่ายอยู่ที่ 50-90 บาท ซึ่งราคาที่ผันผวนขึ้นลง ทำให้ควบคุมต้นทุนและวางแผนการตลาดได้ยาก ดังนั้น การขายขาดโดยมีราคาประกัน ช่วยสร้างความมั่นคงได้ดีกว่า” เกษตรหนุ่ม เผย
จากเริ่มต้น 4 โต๊ะ ปัจจุบัน เขาขยายการปลูกขึ้นฉ่ายไร้ดิน เป็น 17 โต๊ะ มียอดส่งเข้าห้าง กว่า 500-600 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ โดยกำลังผลิตดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงเตรียมลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1.6 ล้านบาท ซื้อที่ดิน 3 ไร่ ขยายกำลังผลิต รวมถึง ปลูกผักไร้ดินชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่ม “ผักโรยหน้า” ไม่ว่าจะเป็นผักชี ต้นหอม และปวยเล้ง เป็นต้น รองรับความต้องการบริโภคผักปลอดสารในภาคใต้
นอกจากที่ตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว พิโชติยังถ่ายทอดความรู้ในการปลูกผักไร้ดินกางมุ้งแก่เกษตรกรคนอื่นๆในท้องถิ่น โดยเป็นความร่วมมือของภาครัฐ จ.สงขลา คัดเลือกชาวสวนยางรายได้น้อย มีพื้นที่สวนไม่เกิน 5 ไร่ และเป็นลูกจ้างกรีดยางให้เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม “ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ คลองหอยโข่ง” เพื่อประกอบอาชีพปลูกผักไร้ดินเป็นรายได้เสริม บรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคายางตกต่ำ และทางเทสโก้ โลตัสที่เป็นภาคเอกชน ช่วยรับซื้อผลผลิตทั้งหมด โดยให้ราคาประกัน ปัจจุบัน มีเกษตรกรร่วมเป็นสมาชิกกว่า 20 ราย จำนวนปลูกราว 100 โต๊ะ ปริมาณส่งรวมประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
“คนทำแปลงปลูกผักไร้ดินส่วนใหญ่จะไม่ยอมเปิดเผยความรู้ลึกๆแก่คนอื่น กลัวมาเป็นคู่แข่ง แต่ผมเดินตามรอยในหลวง ร.๙ ที่อยากให้เกษตรกรพัฒนาตัวเอง ผมจึงพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้ชาวสวนยางที่ตอนนี้กำลังลำบาก มีรายได้เสริม โดยรวมกลุ่มเป็นเครือข่าย สามารถกำหนดราคาขายได้เอง ไม่ต้องตัดราคาแข่งกัน นี่เป็นความสามัคคีที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนเกษตร ภาครัฐ และเอกชน เพื่อช่วยให้เกษตรกรไทยเกิดความเข้มแข็ง และพึงพาตัวเองได้” หนุ่มเกษตรแดนใต้ กล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *