“ไร่ยังคอย” ของ “ยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ” หรือ “โจ้” ปลูกอะโวคาโดกว่า 20 ไร่ ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยอะโวคาโดที่ปลูกมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ปีเตอร์สัน พันธุ์แฮส และ พันธุ์กลาย ผลผลิตที่ได้ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ได้แก่ ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด สครับผิว ทรีทเม้นท์ ครีมหมักผม เป็นต้น และบางส่วนจำหน่ายเป็นผลสด
“ไม่มีท่าน ไม่มีเราในวันนี้” ที่มา “อะโวคาโด ไร่ยังคอย”
ยุทธนาศักดิ์ เล่าว่า ที่มาของ การปลูกอะโวคาโด ในพื้นที่ของเรา มาจาก เมื่อครั้ง (พ.ศ. 2522) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ ทราบถึงความทุกข์ยากของชาวเขาในพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยง โดยทำนาในพื้นที่ลุ่มระหว่างหุบเขา มีการถางป่าทำไร่เลื่อนลอยในที่ดอน เส้นทางคมนาคมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์ และหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ 17 หมู่บ้าน ไร่ยังคอยของเราก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยอยู่ห่างจากโครงการหลวง 500 เมตร
“อะโวคาโด” เป็นหนึ่งในพืช ที่นำมาทดสอบและสาธิต
สำหรับ การปลูกพืชศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการทดสอบสาธิตเพื่อทดสอบพืชพันธุ์ใหม่ โดยเน้นความต้านทานโรคและคุณภาพผลผลิต ต้องการทราบถึงชนิดพืชและสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และฤดูกาล เพื่อที่จะได้นำผลการทดสอบที่เหมาะสมเป็นข้อมูลนำไปถ่ายทอดและส่งเสริมให้กับเกษตรกร ต่อไป ซึ่งพืชและสายพันธุ์ที่ทดสอบ มีทั้งหมด 19 ชนิด จำนวนพื้นที่ 16 ไร่ พืชผัก จำนวน 11 ชนิดได้แก่ ผักกาดหวาน ถั่วลันเตา ผักกาดหอมห่อ กะหล่ำปลีรูปหัวใจ โอ๊คลีฟแดง เรคคอลัน แรดิชชิโอ สลัดแดง กะหล่ำปลีแดง สวีทชาร์ท และอาร์ติโช๊ค ไม้ผล จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ ส้มพองกัลป์ ส้มคัมควัท อะโวคาโด พลับ พลัม บ๊วย มะม่วงนวลคำ และสาลี่
“นับแต่นั้นมา ดินแดนผืนนี้ก็มีผลไม้วิเศษที่พระราชทานมาจากพระราชา ผลไม้นั้นคือ อะโวคาโด ที่เติบโตขึ้นมาและเป็นวัตถุดิบหลักในการแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้พวกเราอีกนับร้อยนับพันคน นี่คือความอัจฉริยะของพระองค์ท่านโดยแท้” ยุทธนาศักดิ์ กล่าว
นายยุทธนาศักดิ์ เล่าว่า สำหรับไร่ยังคอยปลุูกอะโวคาโด 3สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ ราคาแตกต่างกันมาก เช่น พันธุ์แฮสเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการมาก เพราะรสชาติดี ราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 200 บาท แต่การดูแลรักษาค่อนข้างยาก ให้ผลผลิตน้อย ส่วนพันธุ์กลายและพันธุ์ปีเตอร์สัน รสชาติไม่คงที่ แต่ให้ผลผลิตมาก ราคาไม่สูง เพียงกิโลกรัมละ 10 -15 บาท เท่านั้น
ทั้งนี้ การปลูกอะโวคาโด ควรจะปลูกในเดือน พฤษภาคม เพราะพ้นอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายนไปแล้ว เนื่องจากอะโวคาโดไม่ชอบอากาศร้อนจัดมาก ซึ่งการปลูกเหมือนกับพืชทั่วไป คือ จะต้องมีการเตรียมดิน ขุดหลุม ห่างกันระหว่างหลุม 6×6 เมตร ขนาดหลุม 1×1แมตร รองพื้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกแล้วพักไว้สองสัปดาห์ก่อนนำต้นกล้าลงปลูก ช่วงปีแรก ไม่ควรปล่อยให้ขาดน้ำ ปีต่อไปต้นอะโวคาโดจะปรับตัวเองได้ การดูแลจะน้อยลง ระยะเวลาการปลูกอะโวคาโด จนถึงสามารถเก็บผลผลิตได้ ใช้เวลา ประมาณ 4 ปี โดยพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกอะโวกาโดได้ 45 ต้น ซึ่งการปลูกจะเป็นการปลูกแบบปลอดสารเคมี
สำหรับผลผลิตที่ได้ ผลสดที่เก็บขายได้ต่อไร่ประมาณ 2 แสนบาท แต่ทว่าการทำเกษตรมีความเสี่ยงหลายอย่าง บางครั้งผลผลิตไม่ออกตามฤดูกาล ผลไม่สวย ด้วยเหตุนี้จึงคิดหาแนวทางเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในกลุ่มของผลิตภัณฑ์ดูแลผิว สำหรับผู้หญิง และที่นำอะโวคาโดมาทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เพราะอะโวคาโดมีคุณสมบัติ คือ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดร่องรอยตามวัยได้ดีกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ จึงเหมาะกับการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
โดยกลุ่มลูกค้าอะโวคาโด ของ “คุณโจ้” จะเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ ทุกช่วงวัย ซึ่งถ้าเป็นผลสด “คุณโจ้” จำหน่ายเอง แต่ถ้าผลิตภัณฑ์บำรุงผิว จะจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ “อะโวคาโด ไร่ยังคอย” ซึ่งใช้ช่องทางการขยายตลาดผ่านตัวแทนจำหน่าย รวมถึงส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ต่อเดือนหลักล้านบาท
สำหรับราคาอะโวคาโดผลสด ลูกสวย เนื้อเยอะ น้ำหนักต่ออลูก 5 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม คุณโจ้ จำหน่ายเองราคา ตั้งแต่ 80-100 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันรายได้จากการจำหน่ายอะโวคาโด 20 %มาจากการจำหน่ายผลสด อีก 80 %มาจากการแปรรูป ยกตัวอย่างเช่น เฉลี่ยแต่ละวันจะผลิตสบู่อะโวคาโด ได้วันละ 500 ก้อน ขายเกือบหมดทุกวัน ส่งออกไปจีน ลาว ส่วนผลสดก็มีชาวบ้านทั้งในเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนมารับซื้อ จึงกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้เป็นหลักล้านต่อเดือน
โทร. 08-9560-4258
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *