xs
xsm
sm
md
lg

‘โคโค่ เฟรส’มะพร้าวน้ำหอมสดยกลูก เกษตรยุคใหม่ใส่ไอเดียกินสะดวก (มีคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มะพร้าวน้ำหอม พร้อมกิน แบรนด์ “โคโค่ เฟรส” (COCO FRESH)
มะพร้าวน้ำหอมแท้สดๆ ทั้งลูกจากสวน มีการผ่านำร่องเป็นฝาพร้อมเปิดมาเรียบร้อย บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใส สะอาดและช่วยป้องกันหกเลอะ แถมมีหลอดกับช้อนสแตนเลสมาให้ด้วย วางขายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อ ทั้งหมดเกิดจากแนวคิดของเกษตรกรยุคใหม่ ภายใต้แบรนด์ “โคโค่ เฟรส” (COCO FRESH) ที่เสิร์ฟความสะดวกในการกินมะพร้าวสดแก่ลูกค้า โดยเฉพาะคนเมือง จนกลายเป็นสินค้าขายดี ถึงขั้นผลิตไม่ทันความต้องการ

กว่าจะถึงวันนี้ เจ้าของธุรกิจ “ธานี ทรัพย์สมบูรณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรัพย์ประเสริฐ (2558) จำกัด ผ่านอุปสรรคมาหลากหลาย เจอวิกฤตถึงขั้นติดหนี้นับสิบล้านบาท ลองผิดลองถูกนับ 10 ปี กว่าจะเข้าใจถึงการทำธุรกิจเกษตรยุคใหม่ที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“ธานี ทรัพย์สมบูรณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรัพย์ประเสริฐ (2558) จำกัด
เขาเกริ่นนำว่า พื้นฐานครอบครัวประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกมะพร้าวมา 40 กว่าปีตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ บนพื้นที่กว่า 30 ไร่อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร แต่มีช่วงหนึ่ง ครอบครัวเปลี่ยนไปทำฟาร์มกุ้งกุลาดำตามกระแสฮิต แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องยอมแบ่งที่ดินบางส่วนขายเพื่อใช้หนี้

หลังเรียนจบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ธานีที่เวลานั้นเป็นหนุ่มไฟแรงเลือกที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านเกษตรมะพร้าวของครอบครัวมาสร้างอาชีพใหม่ โดยคำนึงถึงข้อได้เปรียบ อยู่ในพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมได้คุณภาพดีที่สุดในประเทศ ประกอบกับรู้ข้อมูลว่าในต่างประเทศนิยมมะพร้าวมาก อีกทั้ง เวลานั้นเป็นยุคหลัง พ.ศ.2540 รัฐบาลส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เป้าหมายธุรกิจจึงมุ่งมั่นที่จะส่งออกมะพร้าวน้ำหอมในท้องถิ่นสู่ตลาดโลกให้ได้

“ผมมีแนวคิดจะขายมะพร้าวน้ำหอมเพื่อส่งออก โดยมีจุดเด่นเป็นมะพร้าวที่ผู้บริโภคได้กินง่าย ยิ่งจบออกแบบผลิตภัณฑ์มาด้วย เลยใช้ความรู้ออกแบบมะพร้าวสดที่มีฝาพร้อมเปิด มีหูหิ้ว ใช้แบรนด์ “ดาวทอง” ซึ่งตอนนั้น สร้างความฮือฮาให้วงการมาก เพราะเราเป็นรายแรกที่ทำลักษณะนี้ ได้รางวัลการออกแบบมากมาย ลูกค้าต่างชาติสนใจอย่างยิ่ง สั่งออเดอร์มาจากทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ยุโรป ญี่ปุ่นฯลฯ ซึ่งราคาตอนนั้น ขายในต่างแดนถึงลูกละ 300-400 บาท” ธานี เผย
มีหลอดกับช้อนสแตนเลสมาให้ด้วย เปิดฝากินได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ถึงจะได้คำสั่งซื้อถล่มทลาย แทนที่ธุรกิจจะพุ่งทะยานติดลมบน ตรงกันข้าม ยิ่งขายดี กลับยิ่งขาดทุน เพราะไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ เนื่องจากกระบวนการทำซับซ้อน เกิดสินค้าเสียในการผลิตกว่า 50% และส่วนที่เสียต้องเอาไปขายถูกๆ จนขาดทุน และเนื่องจากมะพร้าวเป็นสินค้าเกษตรที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล เมื่อไม่สามารถคุ้มมาตรฐานได้เท่าเทียมกันตลอดทั้งปี สร้างความเสียหายให้ธุรกิจอย่างมาก

“ยอมรับว่า ตอนนั้น ผมด้อยในการทำธุรกิจเกษตรมาก คิดแต่ว่าเราจะทำ “ของดี” แต่ไม่ได้คิดถึง “ของเสีย” ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก จนธุรกิจเดินต่อไม่ได้ ผมเลยหันไปทำธุรกิจอื่นๆ ตามกระแสฮิต แต่ไม่มีความถนัด เช่น อสังหาฯ สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ แถมเป็นหนี้ธนาคารอีกนับสิบล้าน” เจ้าของธุรกิจ เผยบทเรียนสุดซ้ำ

ประสบการณ์ความผิดพลาดที่ผ่านมา ทำให้เขานำมาปรับแก้ เพื่อกลับมาทำธุรกิจเกษตรจากมะพร้าวน้ำหอมอีกครั้ง เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด โดยสร้างจุดขายมะพร้าวน้ำหอมสด สะดวกกินง่ายเช่นเดิม และเพิ่มเติม ปรับกระบวนการให้ผลิตได้ง่ายขึ้น สร้างเครื่องจักรผ่าฝามะพร้าวที่ลดความสูญเสียลงเหลือไม่เกิน 10%

นอกจากนั้น สร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในท้องถิ่น ให้คอยป้อนวัตถุดิบ ปัจจุบันมีสมาชิกว่า 30 ราย บนพื้นที่ปลูกรวมกว่า 400 ไร่ โดยจะรับซื้อในราคา 12-28 บาทต่อลูก ซึ่งอ้างอิงราคารับซื้อจาก “ตลาดไท” และรับซื้อตลอดทั้งปี พร้อมจ่ายเงินสด โดยจะรับซื้อวันละกว่า 3,000 ลูก ส่วนที่เหลือจากการผลิตในแต่ละวัน จะเก็บใน “ห้องเย็น” เป็นสต๊อกใช้ยามวัตถุดิบขาดตลาด วิธีนี้ ช่วยให้ผลิตสินค้าป้อนตลาดได้ทั้งปี และควบคุมต้นทุนได้

ที่สำคัญเลือกช่องทางตลาดส่งขายที่ร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” (7-11) ช่วยกระจายสินค้าถึงลูกค้าเป้าหมายคนเมืองที่รักสุขภาพได้กว้างขวาง ใช้แบรนด์“โคโค่ เฟรส” (COCO FRESH) ขายปลีกราคา 35 บาท มีรอยผ่านำร่องพร้อมเปิดฝากินได้ทันที บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใส มีหลอดและช้อนสแตนเลสมาให้ด้วย เริ่มวางตลาดเมื่อปลายปี พ.ศ.2558 จำนวน 1,500 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น มีปริมาณส่งประมาณ 1,500-2,000 ลูกต่อวัน ซึ่งในความเป็นจริง ตลาดมีความต้องการซื้อสูงกว่านี้มาก แต่ด้วยข้อจำกัดของกำลังผลิต ณ ปัจจุบัน จึงยังทำได้สูงสุดเพียงเท่านี้
ภายในโรงงาน
“ตอนปี 2553 ผมเคยส่งมะพร้าวน้ำหอมเข้า 7-11 แล้ว แต่วางขายได้แค่เดือนเดียว ก็ต้องหยุดส่ง เพราะติดปัญหาผลิตไม่ทัน จนเมื่อพร้อมในปี 2558 ผมเริ่มส่งขายใน 7-11 อีกครั้ง โดยทาง 7-11 ให้เงื่อนไขพิเศษ รับซื้อในราคาขึ้นลงตามราคาตลาด เฉลี่ยอยู่ที่ 20-28 บาทต่อลูก จุดนี้ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์มาก เพราะเมื่อขายส่งได้ราคาสูง ผมก็มีทุนไปซื้อวัตถุดิบจากผู้ปลูกได้ราคาสูงตามไปด้วย จูงใจให้เกษตรกรยึดอาชีพนี้ในท้องถิ่นต่อไป ทำให้อาชีพเกษตรเกิดความยั่งยืน”

“ส่วนตัวผลิตภัณฑ์ ผมยังคงจุดเด่นกินง่ายเหมือนเดิม โดยทีม 7-11 แนะนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น เปลี่ยนจากใช้ช้อนพลาสติกเป็นช้อนสแตนเลสแทน ให้ลูกค้าตักเนื้อมะพร้าวง่ายขึ้น รวมถึง ใช้ถุงพลาสติกให้ดูทันสมัย และมีคุณสมบัติคงอายุได้ถึง 5 วัน” ธานี ระบุ

นอกเหนือจากมะพร้าวน้ำหอมสดทั้งลูกแล้ว ยังใช้วัตถุดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น วุ้นมะพร้าว น้ำมะพร้าวแปรรูป ไอศกรีมมะพร้าว ฯลฯ ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ผ่านช่องทางตลาดหลากหลาย เช่น โมเดิร์นเทรดและร้านค้าปลีกส่ง ส่วนเศษวัตถุดิบเหลือทิ้งอย่างเปลือกมะพร้าว นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ช่วยลดต้นทุนการผลิต เท่ากับปัจจุบัน สามารถใช้วัตถุดิบจากมะพร้าวได้ครบถ้วน 100%

“เมื่อก่อนเราคิดแต่จะทำสินค้ามะพร้าวน้ำหอมให้ได้ดีที่สุด จนลืมคิดถึงวัตถุดิบส่วนที่เหลือกันส่วนที่เสียว่าควรจะนำไปใช้ได้อย่างไร แต่ปัจจุบัน เราสามารถนำวัตถุดิบมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้ทั้งหมด ตั้งแต่น้ำ เนื้อ กะลา เปลือก แม้ตอนนี้ ผมยังมีภาระหนี้จากที่ไปกู้เงินธนาคารมาสร้างโรงงานอีกกว่าสิบล้านบาท แต่หนี้ก้อนนี้ มันต่างจากอดีตมาก ซึ่งเป็นหนี้จากความผิดพลาดทางธุรกิจ แต่หนี้ในปัจจุบัน กู้มาโดยมีแผนธุรกิจชัดเจน มีความสามารถชำระในการชำระคืนได้แน่นอน และเห็นทิศทางธุรกิจที่เราจะก้าวไป” เจ้าของธุรกิจ กล่าว
ดีไซน์แบบดั้งเดิม ทำเพื่อส่งออกต่างประเทศ

ธานี เผยด้วยว่า ขณะนี้ธุรกิจมีรายได้ประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อเดือน โดยมาจากยอดขายมะพร้าวน้ำหอมสดผ่าน 7-11 ประมาณ 30% สินค้ามะพร้าวแปรรูปต่างๆ 50-60% และส่งออกประมาณ 10% ส่วนแผนธุรกิจที่วางไว้ ต้องการเพิ่มกำลังผลิตให้ได้มากยิ่ง รองรับความต้องการของลูกค้าได้เพียงพอ รวมถึง เมื่อมีความพร้อมสมบูรณ์จะก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศอีกครั้ง

“ทุกวันนี้ มะพร้าวน้ำหอมแบบสดยกลูก ขายดีจนทำไม่ทัน ซึ่งผมพยายามจะขยายกำลัง โดยสร้างเครือข่ายเกษตรกรเพิ่มเติม และหาเครื่องจักรมาช่วยเสริมผลิตได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่า ความนิยมมะพร้าวยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ นอกจากนั้น มะพร้าวสามารถนำไปแปรรูปได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอาง ส่วนต่างประเทศความนิยมก็ยังมากเหมือนเดิม ถ้าในอนาคต ผมสามารถควบคุมให้มีปริมาณผลิตได้สม่ำเสมอประมาณ 10,000-20,000 หมื่นลูกต่อวัน ผมจะกลับไปขยายตลาดส่งออกอีกครั้ง” เขาเผย
บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใส สะอาด
ส่วนทิศทางการเติบโตของการทำเกษตรปลูกมะพร้าวน้ำหอมนั้น ธานีแสดงทัศนะว่า จากที่ช่วง 3-4 ปีหลังที่ผ่านมา มะพร้าวราคาดีมาก ทำให้มีคนแห่มาลงทุนทำเกษตรปลูกมะพร้าวจำนวนมาก โดยไม่มีข้อมูลจากภาครัฐ หรือหน่วยงานใดจะบอกได้ว่า การปลูกเกินความต้องการของตลาดแล้วหรือไม่ ดังนั้น ต้องจับตาว่า ในอนาคตจะเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการทำฟาร์มกุ้งกุลาดำ หรือยางพารา หรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่ปัจจุบัน นักธุรกิจจีนจะเข้ามาเหมาซื้อผลผลิตจากชาวสวน ทำให้กลไกตลาดถูกบิดเบือน

“ผมคิดว่า สำหรับคนที่สนใจจะทำธุรกิจเกษตร หากจะปลูกอะไร ควรดูความต้องการของตลาดเสียก่อน อย่าไปทำตลาดกระแส เห็นใครบอกว่าดี เห็นใครทำแล้วกำไร ก็แห่ไปทำตาม แล้วก็เจ๊งเหมือนฟาร์มกุ้งกุลาดำ ปลูกยางพารา และก็อย่าทำโดยไม่มีประสบการณ์ จากบทเรียนของผมเอง ไปทำในเรื่องที่เราไม่เชี่ยวชาญความเสี่ยงมันสูงมาก และที่สำคัญ ทำธุรกิจเกษตร อย่าคิดแค่ผลผลิตที่ “ดี” เท่านั้น ต้องคิดเผื่อไปถึงผลผลิตที่ “เสีย”ด้วย ต้องวางแผนสำรองเพื่อจะนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด” เจ้าของธุรกิจหนุ่ม กล่าว

ด้วยประสบการณ์ทำธุรกิจเกษตรมายาวนาน ผ่านทั้งคืนวันอันลำบากและหอมหวาน สอนให้เรียนรู้ว่า ต้องมอง รอบด้าน ทั้งด้านบวกและลบ จะช่วยให้วางแผนรอบคอบ พร้อมรับมือและปรับตัวได้ทุกสถานการณ์



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น