xs
xsm
sm
md
lg

เค้าเปรียบหนูเป็นอ.เฉลิมชัย 2 “อุ้ม-ปานพรรณ ยอดมณี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นศิลปินหน้าใหม่มาแรงที่สุดในเอเชียตอนนี้ สำหรับอุ้ม-ปานพรรณ ยอดมณี ศิลปินไทยวัย 29 ปี ซึ่งเป็นคนไทยคนที่สอง ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ “11th Benesse Prize” พร้อมเงินรางวัลหนึ่งล้านบาท ท่ามกลางการแข่งขันจากศิลปินและคณะศิลปินจำนวน 63 ราย จาก 19 ประเทศทั่วเอเชีย ในงานประกวดศิลปะระดับเอเชีย Singapore Biennale 2016 ด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยบนผนังปูนและวัสดุผสมผสาน จนคนในวงการศิลปะขนานนามให้เธอว่า “อ.เฉลิมชัย 2”

“อุ้มคิดว่า คนที่เปรียบอุ้มว่าเหมือนกับ อ.เฉลิมชัย นั้น น่าจะเห็นจากผลงานของอุ้มที่นำเสนองานศิลปะไทยแบบผสมผสานกับงานศิลปะร่วมสมัย เช่นเดียวกับงานของอาจารย์เฉลิมชัยค่ะ ที่ผสมผสานงานจิตรกรรมไทยแนวประเพณีและความเป็นตัวตนของบุคคล โดยถ่ายทอดความกล้าคิดในแบบที่แตกต่าง แนวคิดการเสียดสีสังคมเข้าไปในงานด้วยค่ะ”เจ้าตัวกล่าวอย่างอ่อนน้อม

การจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับศิลปินหน้าใหม่อย่างอุ้ม เพราะเธอเกือบจะทิ้งความฝันแล้วหันไปทำธุรกิจ เมื่อได้สัมผัสว่า “เราไม่สามารถยังชีพอยู่ด้วยด้วยอาชีพศิลปินได้” เพราะความเชื่อของคนไทยที่ว่า ศิลปินจะดังและทำเงินได้ต้องจบจากต่างประเทศ เธอจึงหันมาเอาดีด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์แฟชั่นของตัวเอง แต่ด้วยความรักในงานศิลปะที่บ่มเพาะมาตั้งแต่เล็กๆ จนฝังในดีเอ็นเอ และกระตุ้นเตือนว่า “เรามั่นใจว่าเราทำได้ และเราต้องทำได้ และสุดท้ายฝันเธอก็เป็นจริง

ความฝันเริ่มต้นจากความจริง หาเงินได้เอง ตั้งแต่ 10 ขวบ

“อุ้มเริ่มเรียนศิลปะจากวัดกะเปียด จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นวัดข้างบ้าน ที่นั่นมีชมรมศิลปะ โดยเจ้าอาวาสเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเพาะช่าง ก็เลยใช้เวลาว่างตอนปิดเทอมไปเรียนวิธีการผูกลาย เรียนปั้นลาย เรียนเขียนลาย เมื่อท่านเห็นฝีมือว่าเราทำได้ ก็เลยให้งานทำตั้งแต่เล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนลายไทยที่วัด เขียนภาพที่ศาลา ที่โรงเรียนอนุบาลบ้าง ป้ายประกาศต่างๆ มีเขียนภาพในถ้ำด้วย ซึ่งตอนนั้นงานเขียนก็ได้ภาพละแปดพัน-หนึ่งหมื่นบาท ก็ถือว่าเป็นเงินเยอะมากสำหรับเด็ก 10-11 ขวบ อุ้มก็เลยได้ค่าเทอมค่าขนมของตัวเองตั้งแต่ตอนนั้น” เธอเล่าถึงที่มาของความสำเร็จทั้งหมด

หลังจากนั้นเด็กหญิงอุ้มก็เริ่มต้นส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีศิลปะต่างๆ จนกระทั่งเข้าเรียนด้านศิลปะระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพที่มหาวิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช ก็เริ่มๆ ลืมงานไทย แล้วหันมาตื่นเต้นกับงานเพ้นท์ติ้ง งานปั้นเซรามิก ได้ค้นหาตัวเองกับประสบการณ์ด้านศิลปะแปลกใหม่ รวมถึงการเดินทางไปหาเงินด้วยการวาดภาพที่สตูดิโอบนเกาะสมุยอีกด้วย

หลังจากจบปวช. อุ้มก็เลือกสานฝันต่อด้านศิลปะด้วยการส่งผลงานต่างๆ ของตัวเอง สมัครเข้าเรียนคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ จนจบปริญญาศิลปะมหาบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความฝันสะดุด เมื่อเจอโลกของศิลปินที่หากินไม่ได้

“เมื่อได้เข้าเรียนในรั้วศิลปากร ได้เห็นชีวิตของรุ่นพี่และเพื่อนๆ จึงมองเห็นว่าเส้นทางของศิลปินนั้นลำบากมาก รู้สึกเลยว่าการจะสำเร็จในเส้นทางนี้คงต้องไปเรียนต่างประเทศถึงจะมีชื่อเสียงและมีเงินพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นอกเสียจากว่าคุณจะส่งผลงานเข้าประกวดเยอะๆ แล้วได้เงินรางวัลมาเป็นต้นทุนชีวิต เรียกง่ายๆ เลยว่า เราไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยอาชีพศิลปิน เพราะเมื่อคุณหาเงินจากอาชีพนี้ไม่ได้ ครอบครัว พ่อแม่ ก็ยิ่งไม่ยอมรับการทำงานบนเส้นทางนี้”
อุ้มจึงเริ่มเบนเข็มไปทำงานด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ เริ่มออกแบบตั้งแต่เครื่องประดับ กระเป๋า เสื้อผ้า ถุงเท้า ภายใต้แบรนด์ Girltist เปิดขายในอินเตอร์เน็ตและตลาดอินดี้ อินทาวน์ ควบคู่กับการส่งผลงานเข้าประกวดเรื่อยๆ เพราะคิดว่าศิลปะก็ยังอยู่ในสายเลือด

“ทำแบรนด์มาจนกระทั่งประสบความสำเร็จกับงานถุงเท้าค่ะ มีเพื่อนรับไปจำหน่ายที่ออสเตรเลีย แล้วได้รับฟีดแบคดีมาก เริ่มมีลูกค้าทั้งจากไต้หวันและฮ่องกง จนตั้งใจจะเปิดเป็นโรงงานผลิตแล้วส่งออกเลย แต่เมื่อโอกาสทางด้านงานศิลปะเข้ามาพร้อมๆ กัน อุ้มจึงต้องเลือกหยุดทำธุรกิจแล้วมาเดินตามหาความฝันค่ะ”

การเดินตามความฝันครั้งนี้ อุ้มต้องระงับการทำธุรกิจอย่างที่ตั้งใจซึ่งผลตอบแทนที่รออยู่แม้จะเป็นเงินก้อนโตก็ตาม ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า “ทำตามความเชื่อ”

“ถึงเวลาที่อุ้มต้องเลือกแล้วระหว่างความฝันกับความเป็นจริง ซึ่งในความเป็นจริงก็คงไม่มีใครเลือกความฝัน หากความจริงเป็นสิ่งที่เลี้ยงตัวเราได้ แต่อุ้มเลือกตามความฝัน สุดท้ายก็ทิ้งงานถุงเท้าส่งออก แล้วเราก็เลือกเส้นทางศิลปิน ถ้าครั้งนี้ทำไม่ได้ ก็คงจะไม่ทำงานศิลปะไปอีกตลอดชีวิต แล้วการเป็นศิลปินคือศูนย์แน่นอน มันเป็นการเดิมพันของชีวิตเลยค่ะ”

จุดเริ่มต้นและความสำเร็จของการเป็น ศิลปินระดับเอเชีย

ระหว่างที่ทำธุรกิจส่วนตัว อุ้มยังคงส่งผลงานเข้าประกวดอย่างต่อเนื่องนั้น ที่ผ่านมา เธอสามารถคว้ารางวัลจิตรกรรมบัวหลวง ของมูลนิธิบัวหลวง ได้ถึง 4 รางวัล จนกระทั่งผลงานศิลปะที่รังสรรค์บนหินและปูนในรูปแบบของศิลปะสื่อผสม และเป็นงานอินสตอเลชันที่เจ้าตัวเชี่ยวชาญมาตั้งแต่เด็กๆ เข้าตา ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ศิลปินและภัณฑารักษ์คนสำคัญของเมืองไทย ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศิลปินที่มีชื่อเสียง

“อาจารย์ถามว่า อุ้มสามารถทำผนังปูนยาว 16 เมตร เหมือนงานชิ้นนี้ได้ไหม อุ้มก็เลยเสนอแบบสเก็ตด้วยสีน้ำไปให้อาจารย์ดู ซึ่งอาจารย์ก็คงไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ว่าเราจะทำได้ แต่ท่านก็เชื่อมั่นว่าอุ้มทำได้ เมื่อบรรณารักษ์ระดับเอเชียเห็นศักยภาพของว่าเราทำได้ เราก็ต้องทำให้ได้ ตอนนั้นเครียดมาก เพราะขั้นตอนการนำเสนอผลงานให้ทางคณะกรรมการดูนั้น ศิลปินที่ร่วมประกวดส่วนใหญ่ล้วนมีชื่อเสียงและเคยได้รับรางวัลมาก่อนแล้ว เมื่อเทียบกับเราซึ่งเด็กสุด แต่อุ้มก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ค่ะ”

อุ้มเล่าประสบการณ์ครั้งสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน หลังจากผ่านการคัดเลือกที่เมืองไทยให้ฟังต่อว่า “เราเตรียมชิ้นงานปูนที่เมืองไทย 3 เดือน แล้วตั้งใจจะใช้เวลา 1 เดือนในการทำผลงานต่อที่สิงคโปร์ แต่ความจริงที่ได้รับคือ ช่างทำผนังนานมากทำให้กินเวลาที่มีไปอีก ทำให้เราเหลือเวลาแค่สองอาทิตย์ ด้วยทีมงานแค่สามคนที่รวมอุ้มแล้ว เครียดค่ะ ร้องไห้ฟูมฟายเลยว่าจะทำทันไหม ตอนนั้นเกิดอุบัติเหตุเท้าพลิกอีก ก็ต้องฝืนทำ ในที่สุดพวกเราก็รังสรรค์ผลงาน 6X16 เมตรได้จนสำเร็จ โดยยังเหลือเวลาอีก 1 สัปดาห์ เมื่อทุกคนเห็นถึงกับตกใจ เราก็ยังตกใจว่าเราทำได้”
“อุ้มจึงเชื่อว่า ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้ หากเรามีแรงผลักดัน มีความฝันและมีความเชื่อ”

เอกลักษณ์ในชิ้นงาน ผสมผสานความร่วมสมัย ความเป็นไทยและเทคนิคใหม่ๆ

ผลงานบนผนังปูนในสไตล์ศิลปะร่วมสมัยของอุ้มแต่ละชิ้น ได้บอกเล่าเรื่องราวของแนวคิด ความเชื่อ และศาสนา ในซอกหลืบของผนังปูนจะมีรายละเอียดเล็กๆ ที่ศิลปินเจ้าของผลงานไม่เคยมองข้าม ทั้งลวดลายความเป็นไทยๆ เส้นสายที่ตวัดโดยพู่กันเพียง 1 มิลลิเมตร ไปจนถึงความตื้นลึกของซากอิฐ ซากปูน ที่ถูกกระเทาะให้ดูมีมิติที่ดึงดูดสายตา การผสมผสานความดิบ ความเชื่อ ศาสนา และความอ่อนช้อยแบบไทยๆ ด้วยวัสดุที่ผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นงานปูน การใช้วัสดุธรรมชาติอย่างก้อนหินจากเหมืองแร่วุลแฟรมที่เก็บมาจากบ้านเกิด ผสานกับจิตรกรรมฝาผนัง ความแตกต่างนี้เอง ที่เจ้าตัวเชื่อว่าสามารถเอาชนะใจกรรมการได้

“การสร้างสรรค์งานครั้งนี้ อุ้มเป็นคนควบคุมดูแลทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มรีเสิร์ชหาแรงบันดาลใจ หาเทคนิคใหม่ ซึ่งบางอย่างเราอาจไม่ถนัด จึงต้องเดินทางไปหาคนที่ถนัดในเรื่องนั้นๆ ช่วยเป็นครูให้ โดยเฉพาะงานปูนที่เห็นนั้น อุ้มได้แรงบันดาลใจมาจากงานปูนเคลือบโฟม พอศึกษาเห็นว่าเขาใช้เทคนิคนี้ในการสร้างบ้านสมัยใหม่ ก็เลยไปดู ได้เห็นซิ้งค์ล้างจานที่มีโฟมอยู่ข้างใน มีปูน แล้วทับด้วยกระเบื้อง เราก็เลยได้ไอเดียตรงนั้นมาใช้ในผลงาน ซึ่งหลายคนดูแล้วมีความรู้สึกว่าคงหนักมาก แต่จริงๆ แล้วเบาค่ะ”

นอกจากเทคนิคแล้ว ชิ้นงานศิลปะที่ดูใหญ่โตชิ้นนี้ ยังสะท้อนคอนเซ็ปต์ของงานได้อย่างชัดเจน อุ้มเล่าว่า “ผลงานเรามีความแปลก และตรงกับคอนเซ็ปต์ของงานอย่าง An Atlas of mirrors คือเหมือนให้ศิลปะนำทางไปยังที่ต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งผลงาน Aftermath ของอุ้มได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือไตรภูมิในอดีต พูดถึงการเปลี่ยนถ่ายและไหลเวียนของเอเชีย เป็นการถามถึงตัวตนว่าเรามาจากไหน เป็นใคร พูดถึงการทำลายล้างที่เกิดขึ้นและวิกฤตการณ์เอเชียในปัจจุบันทำให้เกิดการดับไปของศาสนา สถาปัตยกรรม อาหารการกิน เสื้อผ้า ทุกอย่างมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วก็พาเรามองกลับไปถึงอดีตว่าก่อนหน้านี้เราไม่มีศาสนา พอเรามีศาสนาเราก็เริ่มมีรากของอารยธรรม เริ่มมีศิลปะ ก็มีคำถามที่ว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้อย่างไร มีการนำพามาจากไหน เป็นคำถาม พอเป็นคำถาม เราก็นำออกมาเป็นงานชิ้นใหญ่ครั้งนี้ได้อย่างลงตัว”

ผลงานครั้งนี้ของอุ้ม กลายเป็นประตูเปิดสู่การเป็นศิลปินอาชีพ ที่เธอเคยปรามาสไว้ในช่วงหนึ่งว่า “คงทำเป็นอาชีพหาเลี้ยงชีพไม่ได้” ทั้งๆ ที่เธอมีรายได้จากผลงานตัวเองตั้งแต่เล็กๆ

“การทำงานครั้งนี้ มันทำให้อุ้มนึกย้อนไปสมัยเด็กๆ ตอนนั้นเราก็เคยนั่งทำงานบนนั่งร้านวาดภาพบนผนังโบสถ์ ความทรงจำเก่าๆ กลับมา เพียงแค่ว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันเปลียนไป ทำให้ความเชื่อของอุ้มที่ว่าเราทำได้ จึงเวียนกลับมาอีกครั้ง”

“การแก้ปัญหา” คือความยากที่สุดในทุกอาชีพ

แต่ในความสมบูรณ์แบบของงานศิลปะที่ตั้งใจทำ ย่อมมีปัญหาในแต่ละช่วง แต่ละขั้นตอนให้แก้ไข อุ้มเล่าว่า “ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือการแก้ปัญหา โดยเฉพาะแก้ปัญหาหน้างาน ตอนแรกก็สนุกกับการแก้ปัญหาค่ะ แต่ตอนนี้ก็ยังเจอปัญหาตลอด ปัญหาทำให้เกิดความท้อ ก็เลยต้องปรับความคิดใหม่ว่า หากเราผ่านปัญหาจุดนี้ไปได้ เราจะได้เจออีกสิ่งหนึ่งที่พิเศษกว่า เราจะไม่กลัวว่างานจะพังหรือเป็นอะไรอีกต่อไป เพราะเวลาที่งานเราพัง เรากลับเจอไอเดียใหม่ทุกครั้ง”
ที่ผ่านมา อุ้มเจอปัญหาหน้างาน ทั้งมีงานพัง เกิดอุบัติเหตุ ชิ้นงานหล่นลงมา เธอก็ปล่อยให้ลงมากองอยู่ข้างล่างเลย จนกลายเป็นศิลปะชิ้นใหม่

“ยกตัวอย่างงานแสดงศิลปะที่ไปจัดถึงอังกฤษ ด้วยความที่ชิ้นงานเราจำกัดอยู่ที่ผนัง แต่ในงานครั้งนี้ไม่มีผนัง แล้วเราทำยังไงล่ะ เครียดมากค่ะ จนวันสุดท้ายเราไปคุยกับภัณฑารักษ์ว่า หากไม่มีผนังแล้วขอชิ้นงานห้อยจากเพดานแทนได้ไหม และด้วยตัวของปูนเองที่ดูหนักและพระเอกของงานคือโฟมซึ่งน้ำหนักเบา มันเลยดูเหมือนปูนหนักๆ ลอยได้ มันเลยมีคอนเซ็ปต์ เท่ากับเราแก้ปัญหาได้ แล้วได้ไอเดียใหม่ในการทำงาน ก็เป็นงานชุดหนึ่งที่ใช้วิธีห้อยลงมา”

เอกลักษณ์ของการผสมผสาน สิ่งที่อยากถ่ายทอดให้รุ่นน้อง

อุ้มอยากให้คนไทยเปิดใจและเปิดโอกาสค่ะ จริงๆ งานศิลปะไม่ได้เป็นงานแค่สวยงามอย่างเดียว งานอุ้มก็ไม่ใช่งานที่สวยงาม แต่อย่างน้อยก็ให้ความรู้สึก ให้แนวคิด เพราะงานศิลปะบางประเภทไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ว่างานชิ้นไหนจะดีกว่ากัน แต่ละงานมีคุณค่าเหมือนๆ กัน

“ที่สำคัญอยากเป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่เลือกเดินเส้นทางนี้ เปิดโอกาสให้กับตัวเอง อย่าเพิ่งปฏิเสธว่าตัวเองทำไม่ได้ แล้วสุดท้ายเราจะไม่เหลืออะไรเลย ให้เริ่มจากจะทำวิธีไหนก็ได้ให้คนรู้จัก เพราะอนาคตเราบอกไม่ได้ว่าผลงานของเราจะถูกตาต้องใจใคร แต่ซักวันหนึ่งเราจะได้เห็นว่า ผลงานของเรายังมีคนเห็นคุณค่า ที่สำคัญต้องเปิดใจรับคำวิจารณ์และความคิดเห็นจากผู้ชมงานให้ได้ค่ะ”

การเดินทางตามความฝันของศิลปินอายุยังน้อยคนนี้ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นล่าสุดเธอกำลังเตรียมงานและรีเสิร์ชข้อมูลต่างๆ เพื่อไปสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ Benesse Art Site บนเกาะนาโอะชิมะ ประเทศญี่ปุ่นในปีหน้า โดยการตกแต่งผนังถ้ำครั้งนี้จะเป็นชิ้นงานถาวร ให้นักท่องเที่ยวไปชม

ซึ่งแน่นอนว่า เธอจะนำความร่วมสมัยผสมผสานกับความอ่อนช้อยแบบไทยๆ ไปอวดให้คนทั่วโลกได้เห็นว่า ฝีมือคนไทยไม่แพ้ผลงานศิลปินระดับโลกคนอื่นๆ
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: นวพร แนวณรงค์




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น