xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดลไขข้อข้องใจ “Startup” กับ “SMEs” ต่างกันอย่างไร? (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล แจงความหมายสตาร์ทอัพ (StartUp) ในสังคมไทยต้องเป็นสิ่งใหม่ แตกต่างด้วยนวัตกรรม พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจชาติ เผยล่าสุดไทยเกิดสตาร์ทอัพกว่า 95% แต่อยู่รอดเพียง 5% ชี้รัฐฯ ต้องชูนโยบายช่วยเหลือต่างจากเอสเอ็มอีเพื่อสร้างนักรบทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยในกิจกรรม Intensive Media Briefing Course หัวข้อ All About STARTUPS - สตาร์ทอัพ คืออะไรกันแน่?” ว่า หลังจากที่ภาครัฐฯ ได้สื่อสารในเรื่องธุรกิจสตาร์ทอัพมาได้ระยะหนึ่งทำให้คนรุ่นใหม่เกิดการตื่นตัว และต้องการจะเป็นเจ้าของธุรกิจใหม่โดยที่ยังไม่รู้ความหมายที่ชัดเจน และเรียกตัวเองว่าเป็นสตาร์ทอัพ จากการเริ่มต้นธุรกิจที่คล้ายคลึงกับผู้อื่น หรือมีอยู่เดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลในระยะยาว ต่อการกำหนดนโยบายของหน่วยงานภาครัฐฯ ที่มีแผนพัฒนากลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพเช่นเดียวกับกลุ่มเอสเอ็มอี



ทั้งนี้ ดร.ภูมิพรได้ให้ความหมายของคำว่า สตาร์ทอัพ ไว้ว่า เป็นธุรกิจที่เกิดใหม่มีโอกาสในการเติบโตสูงที่จะอยู่บนพื้นฐานของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการ ที่สามารถขยายตัวให้เกิดการเติบโตในรูปแบบของธุรกิจได้ โดยปัจจัยที่สำคัญของการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ คือ การหา (สร้าง) แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการใหม่ ที่ตอบสนองกลุ่มที่ผู้ใช้หรือผู้ต้องการได้แตกต่างและมีคุณค่ามากกว่าที่มีอยู่เดิม

ทั้งนี้ การนำเสนอสิ่งใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและสามารถทำให้กลุ่มผู้ใช้สตาร์ทอัพ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการดึงดูดทุน การลงทุนด้านการผลิต การลงทุนด้านการพัฒนา การจ้างงาน และการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการ เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสตาร์ทอัพทั่วโลกสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเภทธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท ได้แก่ 1. Digital Startup เป็นกลุ่มประเภทธุรกิจที่เกิดง่ายที่สุด บนพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น อีคอมเมิร์ซ (e-commerce), ซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันต่างๆ โดยมีสัดส่วนประมาณ 50% 2. Technology Startup เป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ สัดส่วนประมาณ 25% 3. Science Startup ยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกิดขึ้นน้อย แต่หากสามารถทำได้จริงจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบได้ยาก ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในสถาบันการศึกษา มีประมาณ 5% และ4. Creative Base Startup เป็นธุรกิจในกลุ่มของนักออกแบบที่ต้องคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ตลอดเวลา มีประมาณ 20% ตามลำดับ

ส่วนการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐฯ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแจ้งเกิดให้กลุ่มสตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยเฉพาะการผ่อนปรนในเรื่องกฎหมายการลงทุนจากต่างชาติ ลดความยุ่งยากด้านภาษี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเงินทุนในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเหล่านี้แจ้งเกิด ขณะเดียวกันต้องแยกแนวนโยบายส่งเสริมและพัฒนาภาคธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้ชัดเจน เพื่อเสริมศักยภาพได้ตรงจุด

อย่างไรก็ตามปัจจุบันในไทยคนรุ่นใหม่ในกลุ่มสตาร์ทอัพประมาณ 95% แต่มีเพียง 5% เท่านั้นที่อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากสังคมและวัฒนธรรมพื้นฐานของไทยที่เยาวชนไม่ได้ถูกสอนให้เปิดกว้างทางความคิด มักถูกปิดกั้นทางความคิดจากการที่เป็นเด็ก ขณะที่ภาคการศึกษาก็ไม่ค่อยมีเวทีให้แสดงออกทางความคิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้สตาร์ทอัพเกิดความลังเลไม่กล้าลองทำสิ่งใหม่ และเกรงกลัวความล้มเหลว ดังนั้น หากภาคการศึกษามีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เชื่อว่าอนาคตกลุ่มสตาร์ทอัพจะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติได้อย่างแน่นอน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *





กำลังโหลดความคิดเห็น