เมื่อไอศกรีมตามท้องตลาดที่ไปตระเวนชิมกลับไม่ถูกใจ บางครั้งรสชาติดีแต่เนื้อไอศกรีมยังไม่โดน รวมถึงรสชาติยังไม่หลากหลายพอ จึงตัดสินใจไปเรียนทำไอศกรีมซะเลย หวังจะทำกินเล่นๆ แต่เมื่อได้ทดลองขายในคีออสก์เล็กๆ กลับได้การตอบรับดี กระทั่งขยายสู่ธุรกิจร้านไอศกรีมที่ชื่อว่า “Bucket Berg” ชูจุดขายด้วยถังไอศกรีมพร้อมน้ำแข็งแห้งที่ใครเห็นต้องแชะแล้วแชร์
สาวๆ กับเมนูไอศกรีมถือเป็นของคู่กันที่น้อยคนนักจะปฏิเสธ เฉกเช่น “ปภาวดี ธรรมสังคีติ” เจ้าของแบรนด์ “ทานไอติม” และ “Bucket Berg” ที่เธอชื่นชอบการรับประทานไอศกรีมเป็นชีวิตจิตใจ แต่ทุกครั้งต้องพาแฟนหนุ่ม (ศฤงคาร ชาญประเสริฐ) ติดตามไปด้วย จากคนที่ไม่ชอบในตอนแรก กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการชิมไอศกรีมไปแล้ว ซึ่งทั้งรสชาติและรสสัมผัสของเนื้อไอศกรีมแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกัน บางครั้งรสชาติดีมากแต่เนื้อสัมผัสยังไม่โดน ทำให้พวกเขาทั้งสองแยกย้ายกันไปเรียนทำไอศกรีมตามที่ต่างๆ หวังแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน พร้อมพัฒนาไอศกรีมขึ้นเป็นสูตรของตนเองได้ในที่สุด
“ไม่ใช่ว่าไอศกรีมของแต่ละที่ไม่อร่อยนะครับ แต่มันไม่ค่อยถูกปากเราสองคนเท่าไหร่” เป็นคำบอกเล่าของศฤงคาร ที่สุดท้ายความไม่ชอบนั้นกลับกลายเป็นธุรกิจที่พวกเขาทั้งสองร่วมก่อตั้งร้านไอศกรีมคีออสก์เล็กๆ ภายใต้ชื่อ “ทานไอติม”
ร้าน “ทานไอติม” ได้เกิดขึ้นด้วยวัยเพียง 23 ปีของเจ้าของธุรกิจ ณ เวลานั้น เป็นการเช่าพื้นที่เล็กๆ หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่งบริเวณแยกบางโพเมื่อ 6 ปีก่อน ขายเฉพาะช่วงเย็นตั้งแต่เวลา 18.00-21.00 น.เท่านั้น เนื่องจากทำงานเป็นพนักงานบริษัทด้วยกันทั้งคู่ หวังเพียงอาศัยลูกค้าที่มารับประทานอาหารสั่งไอศกรีมมารับประทานเป็นของหวานบ้างเท่านั้น แต่ด้วยความหลากหลายของรสชาติที่มีกว่า 20 รสให้ลิ้มลอง ทำเพียงเวลาไม่นานมีลูกค้าที่ตั้งใจเข้ามารับประทานไอศกรีมโดยตรง ทำให้เพิ่มความมั่นใจในเรื่องรสชาติไอศกรีม และมีลูกค้าโทร.มาสอบถามที่ตั้งของร้านอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมานั่งรับประทานในร้านและซื้อกลับบ้าน จึงแตกไลน์เป็นไอศกรีมถ้วย ส่งขายตามร้านอาหารทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีไม่แพ้กัน
หลังจากที่คีออสก์เล็กๆ เริ่มได้รับความนิยมก็มีลูกค้าสนใจร่วมลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งพวกเขาก็ใช้เวลาศึกษารูปแบบการลงทุน เงื่อนไข และการบริหารจัดการระบบภายในได้ระยะหนึ่งก็เปิดขายแฟรนไชส์มาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว รวม 10 สาขาทั่วกรุงเทพฯ
“ผ่านมาราว 5 ปีรากฐานค่อนข้างมั่นคง ระบบค่อนข้างลงตัว และไอศกรีมของเราก็พัฒนามีมากกว่า 100 รสชาติ อีกทั้งพอมาศึกษาตลาดไอศกรีมอย่างจริงจังจะเห็นได้ว่ามูลค่าตลาดและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจนี้สูงขึ้นทุกปี และมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงทำให้ธุรกิจนี้ยิ่งทวีความน่าสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก ผมและแฟนจึงตัดสินใจทำในสิ่งที่ตอบโจทย์และตอบความสงสัยของเราเมื่อ 5 ปีก่อนที่ว่าทำไมรสชาติของแบรนด์ต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้นน้อยจัง ทำไมแทบทุกร้าน แทบทุกแบรนด์ต้องแต่งร้านน่ารักๆ มันสามารถเป็นแนวอื่นได้ไหม จึงทำให้เกิดแบรนด์ Bucket Berg ขึ้นบน ถ.พระอาทิตย์ ย่านบางลำพู”
Bucket Berg เป็นร้านขายไอศกรีมโฮมเมด (Homemade) เกรดพรีเมียม และมีคอนเซ็ปต์ว่าในร้านจะต้องมีไอศกรีมหมุนเวียนมากกว่า 100 รสชาติ ร้านแต่งแนว loft เท่ๆ เสิร์ฟด้วยเมนูสุดเก๋ที่มีไอเดียธีม 'ถัง' ทั้งร้าน!
นอกจากความโดดเด่นในเรื่องของไอศกรีมแล้ว เมนูของหวานอื่นๆ ก็ถูกเนรมิตให้รับประทานคู่กับไอศกรีมได้ ขณะที่รสชาติไอศกรีมที่แปลกใหม่ยังไม่มีในท้องตลาดก็มีมาให้เลือกสรร อย่าง Berries Granola ice cream, Cereal Ice cream หรือเมนู Bucket Berg Party และ Bucket Berg Party (Cone) ซึ่งเป็นเมนู Signature ของทางร้าน พร้อมเสิร์ฟไอศกรีมในถังขนาดใหญ่ที่ลูกค้าสามารถเลือกความอร่อยได้อย่างจุใจกับไอศกรีมหลากหลายรสชาติ พร้อม Topping ต่างๆ ที่ลูกค้าสามารถผสมผสานได้ตามสไตล์แต่ละคน เน้นกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่มีไลฟ์สไตล์เป็นของตนเอง ชอบความแตกต่างที่เมื่อเข้ามารับประทานไอศกรีมในร้านต้องแชะและแชร์ จนเกิดการบอกต่อในเวลาอันรวดเร็ว บางรายถึงขั้นทำรีวิวร้านให้ก็มี
ดังนั้นเมื่อกระแสตอบรับดีเกินคาด ก็คิดขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ตามร้านทานไอติมไปติดๆ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีไม่แพ้กัน เพราะเพียงเดือนเดียวมีผู้ให้ความสนใจกว่า 300 ราย แต่ตั้งเป้าในปีนี้ (2559) เพียง 5 รายในกรุงเทพฯ เท่านั้นเพื่อการดูแลแฟรนไชซีอย่างทั่วถึง
“ผมไม่ได้ซีเรียสเรื่องปริมาณจำนวนสาขา แต่ผมค่อนข้างให้ความสำคัญต่อคุณภาพมาตรฐานของแต่ละสาขาที่จะเกิดขึ้นมากกว่า”
สำหรับในส่วนที่เป็นแบรนด์ “Bucket Berg” จะเน้นคุณภาพของไอศกรีมที่อยู่ในระดับพรีเมียม ผลิตจากวัตถุดิบชั้นดี เน้นการใช้วัตถุดิบจริง คุณภาพสดใหม่ โดยไอศกรีม 1 รสชาติจะขายหมดภายใน 3-4 วันเท่านั้น เพราะไอศกรีมที่อร่อยและมีคุณภาพดีนั้นต้องเป็นไอศกรีมที่ผลิตสดใหม่ ดังนั้นไอศกรีม Bucket Berg กว่า 100 รสชาติจะหมุนเวียนตลอด เพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อและกลับมารับประทานได้บ่อยครั้ง
ในส่วนของการลงทุนแฟรนไชส์มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. Bucket Berg Shop ใช้เงินลงทุนประมาณ 200,000 บาท (ระยะเวลาแฟรนไชส์ 3 ปี) โดยลูกค้าจะได้รับเซตอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับเปิดร้าน, ตู้โชว์ไอศกรีมอย่างดีนำเข้าจากอิตาลี พร้อมไอศกรีมสำหรับเปิดร้านล็อตแรกประมาณ 50 กิโลกรัม และ 2. Bucket Berg Kiosk ใช้เงินลงทุนประมาณ 85,000 (ระยะเวลาแฟรนไชส์ 3 ปี) โดยลูกค้าจะได้รับคีออสก์พร้อมตกแต่ง, เซตอุปกรณ์เปิดร้านเบื้องต้น, ตู้โชว์ไอศกรีม พร้อมไอศกรีมสำหรับเปิดร้านล็อตแรกประมาณ 20 กิโลกรัม
โดยแฟรนไชส์ทั้ง 2 รูปแบบนี้ทาง Bucket Berg จะคอยเป็นที่ปรึกษาให้ในทุกๆ เรื่องตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำเล การทำการตลาด การบริหารจัดการ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมก่อนเปิดร้านจริง เช่น การสอนเทคนิคการตักไอศกรีม การดูแลและเก็บรักษาไอศกรีม การจัดเซตรูปแบบไอศกรีมกับเมนูต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และคอยดูแลเป็นที่ปรึกษาให้ตลอดอายุสัญญาแฟรนไชส์ โดยทาง Bucket Berg มีการอัปเดตรสชาติไอศกรีมและเมนูใหม่ๆ ให้แก่ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์อยู่เสมอ
แม้ในปีนี้ทาง Bucket Berg จะตั้งเป้าขยายเพียง 5 สาขาในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ในต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่คาดว่าในปี 2560 จะขยายสาขาออกไปได้ ขณะที่ในปี 2562 มีแผนจะขยายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยอยู่ในช่วงเก็บข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้านก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าจาก สปป.ลาวติดต่อเข้ามาเพื่อให้ไปเปิดที่เวียงจันทน์เซ็นเตอร์เช่นกัน
หากคิดอะไรที่แตกต่าง แม้สินค้านั้นผู้บริโภคจะคุ้นชินอยู่แล้วก็สามารถแจ้งเกิดในวงการได้ อย่าง “Bucket Berg” ที่สร้างปรากฏการณ์แชะแล้วแชร์ จนเกิดการบอกต่อที่ไม่สิ้นสุด
***สนใจติดต่อ 09-4494-1523 หรือที่ www.facebook.com/bucketbergicecream***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *