จากรายงานของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ประจำปี 2557 ระบุว่าโครงสร้างอายุประชากรไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประชากรที่ปรากฏชื่อในทะเบียนราษฎรกว่า 65 ล้าน มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากถึง 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่าประเทศไทยได้ก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น ไม่เพียงส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อปัญหาด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะสุขภาพของผู้สูงอายุ “โจทย์” ท้าทายที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมืออย่างเหมาะสม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตระหนักถึงสภาวการณ์ดังกล่าว จึงจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผลิตเครื่องเรือนสำหรับผู้สูงอายุ สำหรับกลุ่มหัตถกรรมชุมชนบ้านโนนม่วง ระหว่างวันที่ 18 มกราคม 2558 - 31 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้ความรู้แก่ผู้ร่วมเข้าอบรมในการผลิตเครื่องเรือนสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนให้เหมาะกับการใช้งานสอดคล้องกับสภาพร่างกายโดยเลือกใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น
ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผลิตเครื่องเรือนสำหรับผู้สูงอายุ ได้บูรณาการระหว่างรายวิชา การออกแบบเครื่องเรือนชนิดลอยตัว และรายวิชาการออกแบบเครื่องเรือนชนิดติดตาย ในการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการออกแบบอุตสหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ที่ต้องเผชิญความเสื่อมของร่างกายในการดำเนินกิจวัตรประจำวันต่างๆ ภายในบ้าน โดยส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่จริง ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์ที่ปรึกษา เชื่อมโยงความรู้วิชาการสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดัดแปลงเครื่องเรือนภายในบ้านให้ใช้งานได้ตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อให้พวกเขาพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
ทั้งนี้ เครื่องเรือนผู้สูงอายุเกิดจากการสังเกตพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ โดยออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ อาทิ ซิงก์ล้างจาน และซักผ้า ที่ใช้โครงไม้ประดู่ที่มีความแข็งแรงปรับระดับสูงขึ้น โดยผู้สูงอายุสามารถยืนทำภารกิจประจำวันได้ ลดปัญหาปวดข้อ เข่า หลัง ที่เกิดจากการซักผ้ากับพื้นแบบเดิม
“แต่เดิมโครงทำจากไม้ไผ่ ซึ่งเปราะบาง จึงเปลี่ยนเป็นไม้ประดู่ มีความแข็งแรงทนทาน หาได้ง่ายในท้องถิ่นและวางระดับกะละมังให้เอียงไปด้านหลังเล็กน้อย ระบบต่อท่อใช้อุปกรณ์ง่ายๆ ที่อยู่ในท้องตลาด รวมต้นทุนวัสดุอุปกรณ์ และค่าแรง ซิงค์ล้างจานราว 3-4 พันบาท” ผศ.ดร.สุรกานต์กล่าว
นอกจากนี้ยังมีเครื่องเรือนสำหรับผู้สูงอายุมากมาย อาทิ เครื่องออกกำลังกาย มีแป้นเหยียบซ้ายขวาสลับกัน ใช้บริหาร ขา ข้อ เข่า เพื่อชะลอการเกิดโรคตามช่วงวัย โดยพัฒนาจากเก้าอี้เดิมที่ผู้สูงอายุคุ้นชิน เป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายง่ายๆ ใช้วัสดุราคาถูก ซึ่งบุตรหลานหรือคนในชุมชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะก้าวจาก สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) เป็น สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในเวลาเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น โดยในปี 2573 ประเทศไทยมีแนวโน้มประชากรอายุเกิน 60 ปี ถึงร้อยละ 25 ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดการในระยะต้น ลดภาวะพึ่งพึง โดยสร้างสภาพแวดล้อมและดัดแปลงเครื่องเรือนภายในบ้าน ให้เอื้อต่อวิถีชีวิตลักษณะทางกายภาพของผู้สูงอายุ ตลอดจนส่งเสริมการออกกำลังกายที่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแบ่งเบาภาระในระดับครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นเตือนสังคมให้เตรียมพร้อมอย่างเข้มแข็งและมีคุณภาพ เพื่อก้าวสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์อย่างสง่างามในอนาคต
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *