“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ร่วมกับ สสว. ทำโครงการแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก ประจำปี 2559 เพื่อเปิดโอกาสให้แฟรนไชส์ไทยได้ร่วมเจรจาธุรกิจในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ มุ่งเป้า 5 ประเทศ อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม สปป.ลาว และจีน ประเดิมคัดแฟรนไชส์คุณภาพ 80 ราย ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้แฟรนไชส์ไทยมีขนาดเล็กเกินไปไม่คุ้มการลงทุน ตั้งเป้า 5 ปีมีสาขาแฟรนไชส์ต่างประเทศ 16,500 สาขา
นางผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดทำโครงการแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลก ประจำปี 2559 โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ไทยได้มีโอกาสไปร่วมงานเจรจาธุรกิจ หรืองานแสดงสินค้าธุรกิจแฟรนไชส์ในต่างประเทศ สร้างโอกาสการขยายเครือข่ายธุรกิจแฟรนไชส์ไทยไปยังต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังต่อไปนี้ 1. Training&Coaching เตรียมพร้อมการเจรจาและการแสดงธุรกิจในต่างประเทศ 2. การฝึกปฏิบัติจริงในสถานการณ์จำลอง 3. การจัดทำแผนกลยุทธ์ 4. การทบทวน พัฒนาคู่มือปฏิบัติการและสัญญาแฟรนไชส์ 5. การให้คำปรึกษาแนะนำการพัฒนาแผนการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ระยะ 3 ปี 6. จัดทำสื่อการนำเสนอและการเจรจาธุรกิจ 3 ภาษา และ 7. เดินทางร่วมงานเจรจุรกิจและงานแสดงธุรกิจแฟรนไชส์
สำหรับประเทศกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม สปป.ลาว และจีน และที่เลือกทั้ง 5 ประเทศเพราะเป็นประเทศที่นิยมสินค้าและบริการของประเทศไทย ประกอบกับมีความมั่นใจในคุณภาพสินค้าไทยว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี โดยทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ สสว.ได้ร่วมทำการคัดเลือกแฟรนไชส์ไทยที่มีความพร้อมเพื่อไปเปิดตลาดในต่างประเทศครั้งนี้จำนวน 80 ราย โดยที่ผ่านมา กรมฯ ได้ส่งเสริมและพัฒนาแฟรนไชส์ไทยจนสามารถขยายเครือข่ายไปต่างประเทศสำเร็จแล้วกว่า 25 กิจการ และขยายตลาดได้ถึง 29 ประเทศ
ด้าน ดร.พีระพงศ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ประธานที่ปรึกษาบริษัท บิสิเนสโค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายของแฟรนไชส์ไทยว่า ไทยได้ตั้งเป้ามีส่วนแบ่งตลาดให้ได้ 3-5% ของตลาดรวมทั้งระบบ และสามารถขยายสาขาในแต่ละธุรกิจได้ไม่ต่ำกว่า 50 สาขา จากข้อตกลงจำนวนแฟรนไชส์ 330 ราย ดังนั้น คาดการณ์ว่าในปี 2020 แฟรนไชส์ไทยมีสาขาต่างประเทศมากถึง 16,500 สาขา มูลค่ายอดขายรวม 198,000 ล้านบาทต่อปี เท่ากับ 2.4% ของมูลค่าตลาดรวม
สำหรับโอกาสของแฟรนไชส์ไทยในตลาด AEC นั้นมีค่อนข้างมาก เพราะประเทศไทยถูกเชื่อมโยงด้านสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง และการเชื่อมโยงการสื่อสาร และที่ผ่านมาไทยยังได้เป็นศูนย์กลางการจัดการระบบแฟรนไชส์ต่างๆ และการที่ไทยได้เป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการ สุขภาพ ยังส่งให้ระบบแฟรนไชส์ขยายตัวได้มากขึ้น และจากการรวมตัวของ AEC ยังทำให้ขนาดตลาดใหญ่ เป็นโอกาสของแฟรนไชส์ไทย
ส่วนปัญหาของธุรกิจแฟรนไชส์ไทย คือ อัตราการเติบโตของธุรกิจช้ามากเกินไป ภาพรวมธุรกิจมีความแตกต่างกันมากเกินไป ธุรกิจที่สามารถเติบโตได้มีน้อย เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ขนาดเล็กเกินไป ขาดความเหมาะสมในการคุ้มทุน ขาดประสิทธิภาพ และศักยภาพในการขยายตัว รูปแบบการลงทุนขาดระบบการสนับสนุน เช่น การกำกับดูแล การจัดหาแหล่งเงินทุน และความเข้าใจของผู้ประกอบการ
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่โทร. 0-2547-5953 สายด่วน 1570
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *