xs
xsm
sm
md
lg

‘ฟาร์มฝัน’โมเดลใหม่เกษตรอินทรีย์ ปลูกเงินครบวงจรจากสมองคนไอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การทำเกษตรอินทรีย์กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลายมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ โดยสมองของสตาร์ทอัพที่ใช้ไอทีมาเติมเต็มความฝันคนเมือง ให้สามารถเรียนรู้และเป็นเจ้าของฟาร์มเกษตรอินทรีย์ได้จริงๆ รวมถึง ต่อยอดสร้างรายได้ครบวงจรทั้งขายผลผลิต ลิขสิทธิ์ และเชื่อมการท่องเที่ยว นับเป็นโมเดลใหม่ที่น่าติดตาม ภายใต้โครงการ“ฟาร์มฝัน”

เจ้าของโครงการดังกล่าว เป็นกลุ่มเพื่อนที่อยู่ในแวดวงไอที พื้นฐานเปิด บริษัท เอสดับเบิ้ล ยูพีซี จำกัด ทำธุรกิจพัฒนาระดับซอฟต์แวร์ให้แก่องค์กรประกันภัยและค้าปลีก ผลประกอบการปี 2558 ที่ผ่านมานับสิบล้านบาท
“สรธรรม เกตตะพันธุ์” (ซ้าย) และ “ชิชาวัฒน์ วชิรสุวรรณ”
“สรธรรม เกตตะพันธุ์” (สร) วัย 37 ปีและ “ชิชาวัฒน์ วชิรสุวรรณ” (โก้) วัย 36 ปี แกนนำธุรกิจ “ฟาร์มฝัน” เล่าว่า แม้จะทำงานด้านไอทีมาตลอด แต่ลึกๆ แล้ว ทีมงานทุกคนฝันอยากจะได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าเป็นความฝันของคนเมืองอีกจำนวนมากเช่นกัน จึงกลายมาเป็นไอเดียจะนำไอทีมาเชื่อมโยงกับทำเกษตรอินทรีย์ ให้เกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่ทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และดีต่อสภาพแวดล้อม

สร เผยที่มาของ “ฟาร์มฝัน” ว่า เริ่มจากไปเรียนรู้วิชาการทำเกษตรอินทรีย์สมัยใหม่จากสถาบันการศึกษา รวมถึงอบรมความรู้จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในหลักสูตรการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อเข้าสู่แหล่งทุน (Fund for Success) และต่อยอดสู่โครงการ Pitching Day เฟ้นหาเอสเอ็มอีเข้าสู่การร่วมลงทุน ควบคู่ ศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อนำมาประกอบกันพัฒนาเป็น “องค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์แนวใหม่เฉพาะตัว”

เขาเล่าต่อว่า เริ่มต้น “ฟาร์มฝัน” ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท เฟรสโกลบอล จำกัด นำที่ดินของญาติ กว่า 50 ไร่ อยู่ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่เดิมจะปลูกพืชระยะสั้น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นต้น โดยใช้ยาฆ่าแมลงมาตลอด มาปรับเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการฟื้นฟูสภาพดิน นอกจากนั้น วางโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ควบคุมและวางแผนการปลูกพืชจากส่วนกลาง ช่วยให้ประหยัดต้นทุนด้านค่าแรง ใช้คนงานดูแลในพื้นที่แค่ 7 คนเท่านั้น

ทั้งนี้ ความพิเศษของโมเดลฟาร์มฝันที่แตกต่างจากการทำเกษตรอินทรีย์ทั่วไป คือ จะเปิดให้ผู้มีความฝันอยากจะทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะคนเมือง มาซื้อ “แพคเกจ” เช่าพื้นที่เป็นเจ้าของแปลงทำเกษตร ที่จะมีให้เลือกตั้งแต่ขนาด 25 ตารางเมตร 100 ตารางเมตร และมากกว่า 400 ตารางเมตรขึ้นไป

ในการซื้อแพคเกจดังกล่าว สามารถจะเลือกได้ว่าต้องการปลูกพืชชนิดใด โดยทางฟาร์มฯ จะใช้เกษตรกรในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นคนดูแลแทนอย่างใกล้ชิด และรายงานความคืบหน้าต่อเจ้าของพื้นที่ทุกวัน ผ่านช่องทางสื่อสารสมัยใหม่ โดยปัจจุบันใช้โปรแกรม “ไลน์” และในอนาคตจะกำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้สามารถเฝ้าดูการเติบโตของพืชที่ปลูกได้ 24 ชั่วโมง ผ่านกล้องวงจรปิด นอกจากนั้น เจ้าของพื้นที่เช่า สามารถมาเที่ยวชมฟาร์มของตัวเองได้ตลอดเวลา

“คนเมืองส่วนใหญ่ที่ฝันอยากมีฟาร์มออแกนิกเป็นตัวเอง ก็จะติดปัญหาไม่มีพื้นที่ ไม่มีความรู้ และไม่มีเวลา ฟาร์มฝันเลยคิดโมเดลนี้ขึ้นมาเพื่อให้เขาสามารถเป็นเจ้าของฟาร์มได้ทันที ซึ่งเขาจะได้เรียนรู้วิธีทำเกษตรอินทรีย์ทุกขั้นตอนผ่านหน้าจอมือถือหรืออยากจะลงมือทำเอง ก็มาที่ฟาร์มได้เลย เป็นการเติมความฝันให้ได้เป็นเกษตรกรจริงๆ หรือบางคนที่วางอนาคตจะไปทำเกษตรกรเต็มตัว ก็ใช้โปรแกรมนี้เป็นการเรียนรู้และฝึกฝนให้พร้อมเสียก่อนสรธรรม อธิบาย
ผลผลิตจากฟาร์มนำมาออกบูทขาย
แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน
สำหรับการหาผู้มาเช่าพื้นที่นั้น ชิชาวัฒน์ ระบุว่า สื่อสารผ่าน “เฟซบุ๊ก” ที่ปัจจุบันมียอดติดตามกว่า 80,000 ราย โดยมีผู้มาเช่าพื้นทำเกษตรแล้วประมาณ 20 กว่าราย เกือบทั้งหมดเช่าเพื่อเติมความสุขให้ตัวเอง แต่มีบางกลุ่มเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อลงทุนปลูกพืช เพื่อหวังผลผลิตไปขายในอนาคต ส่วนการคิดค่าบริการจะแตกต่างกันไปตามแพคเกจ ขนาดพื้นที่ และบริการเสริมต่างๆ เริ่มต้นที่หลักพันบาทถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ในเนื้อที่ 50 ไร่ของฟาร์มแห่งนี้ แบ่งเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ 1. “Farm Value” พื้นที่สำหรับปลูกพืชหลัก โดยอาจเป็นไม้ยืนต้น ใช้เวลาปลูกนาน แต่มูลค่าสูง 2.“Farm Sufficient” เป็นพืชรอง สามารถปลูกได้ง่ายๆ เก็บผลผลิตทำเงินได้เร็วและสม่ำเสมอ 3. “Farm Travel” พื้นที่จัดกิจกรรมเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตร และ4.“Farm for Rent” ให้เช่าปลูกพืชที่ชอบ เพื่อตอบสนองความฝันเฉพาะตัว เปิดให้เช่าสำหรับคนอยากทำฟาร์มในฝัน โดยทั้ง 4 โซนจัดวางระบบให้เกิดความสมดุล และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตามหลักนิเวศ
เปิดให้คนเมืองมาเช่าทำเกษตรอินทรีย์
โมเดลธุรกิจของฟาร์มฝัน ปูพรมสร้างรายได้ไว้ครบวงจร ตั้งแต่ภายในพื้นที่ของตัวเอง แบ่งเป็น 1.ขายผลผลิตที่ปลูกขึ้นเอง เน้นผักสลัดปลอดสารเคมี ซึ่งมีช่องทางขาย เช่น ออกงานแสดงสินค้า ขายออนไลน์ และส่งศูนย์การค้า ปัจจุบันรายได้ส่วนนี้ คิดเป็น 40-50% ของรายได้รวม 2.รายได้จากการขายแพคเกจให้เช่าพื้นที่ให้ทำเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันรายได้ส่วนนี้ คิดเป็น 20% ซึ่งในอนาคตหวังว่ารายได้ส่วนนี้จะเป็นรายได้หลักของทางฟาร์ม และ 3.เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้คนทั่วไปเข้าศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้ อีกประมาณ 30-40%

นอกจากนั้น แผนสร้างรายได้ในอนาคต มาจากการรับเป็นที่ปรึกษาและขายลิขสิทธิ์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์แนวใหม่ รวมถึง จับคู่ร่วมทุนกับผู้มีที่ดินขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ นำโมเดลของฟาร์มฝันไปใช้บ้าง ซึ่งเร็วๆ นี้จะเกิดที่ อ.ควนเนียง จ.สงขลา ตามด้วยพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยต่อยอดสร้างที่พักไว้บริการลูกค้า หรือประสานกับโรงแรมที่พักในท้องถิ่น เป็นต้น
โมเดลหารายได้จากพื้นที่ต่างๆ ในฟาร์มฝัน
โมเดลการหารายได้ของฟาร์มฝัน
ชิชาวัฒน์ เผยด้วยว่า ธุรกิจฟาร์มฝัน ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นในการปรับพื้นที่ และสร้างแหล่งน้ำ ประมาณ 4-5 แสนบาท ส่วนค่าวางระบบไอทีต่างๆ ภายในฟาร์ม เนื่องจากทำได้เองทุกขั้นตอน จึงไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากให้ประเมิน ไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท ส่วนรายได้หลังเปิดดำเนินธุรกิจมาได้ประมาณ 1 ปี เฉลี่ยอยู่ที่หลักแสนบาทต่อเดือน และวางเป้าในปีหน้า(2560) ต้องเพิ่มเป็นหลักล้านบาทต่อเดือน และในปี 2561 ต้องการให้ถึงหลักสิบล้านต่อเดือน

“โมเดลของเราคือทำเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว แต่สามารถต่อยอดหารายได้จากหลายทาง ซึ่งคนเมืองที่อยากจะทำเกษตรก็สามารถเติมฝันของตัวเองได้ ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักลงทุน ซึ่งมีที่ดินเก็บจำนวนมาก ก็มีช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ ผมอยากจะให้กระจายโมเดลนี้ออกไปมากๆ เพราะจะดีต่อสภาพแวดล้อม ที่เกิดพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากขึ้นเรื่อยๆ” ชิชาวัฒน์ กล่าว

จากสมองของคนรุ่นใหม่ ที่นำเทคโนโลยีพร้อมกระบวนการความคิดเป็นลำดับขั้นตอน มาจับธุรกิจทำเกษตรอินทรีย์ วันนี้ จาก “ความฝัน” จึงกลายเป็น “ฟาร์มฝัน” ที่เกิดขึ้นจริงแล้ว


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น