Startup ที่ถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งวาระแห่งชาติ ภารกิจหลักของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Startup) หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้แจ้งเกิดจนเติบใหญ่ จนสามารถอยู่รอด และมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ บรรดาคนรุ่นใหม่ ที่เต็มไปด้วยไอเดีย และนวัตกรรม ซึ่งจะสามารถสร้างจุดเปลี่ยน และเกิดการพัฒนาใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
เป้าหมายดังกล่าว สะท้อนผ่านการจัดงาน Startup Thailand 2016 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2559 ซึ่งมีหน่วยงานจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันผลักดัน โดย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าไปช่วยขับเคลื่อนผ่านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการกลุ่มนี้
จากการมีโครงการค้ำประกันผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพของ บสย. ตั้งแต่ปี 2555-2558 ตลอด 4 ปี อุปสรรคที่ทำให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ไม่สามารถแจ้งเกิดได้อย่างเต็มที่ มีทั้งการขาดแหล่งเงินทุน การเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ การขาดความรู้ด้านการตลาด การเงิน และการบริหารจัดการที่ดี ฯลฯ
อีกประเด็นสำคัญคือ เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้มักเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น พันธมิตรทางธุรกิจ หรืออำนาจต่อรองต่างๆ มีจำกัด ทำให้เวลาเกิดปัญหา สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง สินค้าขายไม่ออก ธุรกิจก็ล้มลงได้อย่างง่ายๆ
หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคาร ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ที่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ คือ หนุ่มวิศวะปี 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วัย 20 ต้นๆ “วิศรุต ถ้ำสูงเนิน” ซึ่งได้เงินทุนจากธนาคารออมสินในวงเงิน 2 แสนบาทเมื่อปีที่แล้ว สามารถสร้างฝันให้เป็นจริงด้วยการเป็นเจ้าของร้านอาหาร “ขนมจีนหม้อปลาร้าซาดิส” ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมือง จ.นครราชสีมา
เริ่มต้นจากความชอบ “ขนมจีน” เป็นชีวิตจิตใจ มีการตระเวนชิมขนมจีนไปตามที่ต่างๆ แต่ยังไม่ถูกใจ จึงได้คิดค้นสูตรน้ำขนมจีนของตัวเองขึ้นมา ด้วยความเป็นคนที่ชอบทานรสจัดจ้าน จึงเป็นที่มาของสูตรขนมจีนหม้อปลาร้าซาดิส ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มเพื่อน และคนใกล้ชิด จึงใช้เครื่องมือด้านออนไลน์มาเป็นประโยชน์ โดยเริ่มต้นขายผ่านทางเฟสบุ๊ก ทางไลน์ ยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตนเอง อยู่ประมาณ 2 เดือน จนลูกค้าเพิ่มปริมาณมากขึ้น จึงตัดสินใจเช่าพื้นที่จากคนรู้จัก เปิดร้านของตัวเอง
แต่ด้วยการที่เขายังอยู่ในวัยเรียน ทำให้การหาหลักทรัพย์ หรือคนมาค้ำประกันจึงเป็นเรื่องยาก จึงได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่ทำงานด้านสินเชื่อธนาคาร ที่แนะนำให้รู้จักกับ บสย. จนทำให้เขาได้เงินทุนในการเปิดร้านในที่สุด ส่วนแผนในอนาคต หนุ่มว่าที่วิศวะรายนี้อยู่ระหว่างสร้างร้านใหม่ของตัวเอง โดยย้ายจากร้านที่เช่าอยู่ปัจจุบันไปที่โลเกชั่นใหม่ เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้นกว่าเดิม
บวกกับความเป็นคนรุ่นใหม่จึงมีการนำแนวคิดหลักการตลาด การขาย มาใช้ เริ่มตั้งแต่การคิดค้นสูตรอาหารของตัวเองที่แตกต่างไม่เหมือนใคร การเปิดช่องทางการขายใหม่ๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย และเดลิเวอรี่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
เรื่องราวของหนุ่มว่าที่วิศวะ จากนครราชสีมาคนนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจ และตัวอย่างที่สะท้อนว่า ผู้ประกอบการ “สตาร์ทอัพ” สามารถแจ้งเกิดได้ไม่ยากจนเกินไป
บทความโดย : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *