xs
xsm
sm
md
lg

SMEs Boost-Up:หนุนรายย่อย! ลุยแก้ พ.ร.บ. บสย. ค้ำเงินกู้ “Non-Bank”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความเคลื่อนไหวในวงการ SME ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 เห็นชอบให้แก้ไข พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พ.ศ.2534 เพิ่มบทบาทให้ บสย. สามารถค้ำประกันสินเชื่อจากแหล่งอื่นๆ ที่นอกเหลือจากสถาบันการเงินประเภทธนาคาร หรือที่เรียกว่า “น็อนแบงก์” (Non-Bank) อาทิ สินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงิน (ลิสซิ่ง) สินเชื่อเช่าซื้อ (ไฮ-เพอร์เชส) แฟคตอริ่ง ตลอดจนนาโนไฟแนนซ์ เป็นต้น

พูดง่ายๆ ก็คือ เปิดช่องให้ บสย. มีขอบข่ายการทำงานที่กว้างขึ้น สามารถค้ำประกันสินเชื่อ ทั้งจากไฟแนนซ์ หรือเงินกู้อื่นๆ เช่น สัญญาเช่าซื้อของ SMEs ทำให้การทำงานของ บสย. ในการช่วย SMEs มีความครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น ประโยชน์ที่จะเกิดอย่างเป็นรูปธรรมหากกฎหมายนี้มีการแก้ไข และบังคับใช้ในอนาคต คือ บสย. สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยได้มากยิ่งขึ้น

เนื่องจากสัดส่วนการกู้เงินของผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่ มักใช้บริการของลิสซิ่ง, ไฮ-เพอร์เชส ฯลฯ เพื่อออกรถบรรทุก หรือรถกระบะใช้ขนส่งในธุรกิจ การที่มี บสย. เข้าไปช่วยค้ำประกัน ก็จะทำให้ผู้ประกอบกลุ่มนี้ได้เงินมากขึ้น และเร็วขึ้น ยังไม่นับรวม “นาโนไฟแนนซ์” ซึ่งเป็นสินเชื่อประเภทที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หาก บสย. สามารถเข้าไปช่วยค้ำประกันในส่วนนี้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จากปัจจุบันที่การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เริ่มชะงักงันเพราะหนี้ NPL ที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 1 ปี กว่าที่จะมีการแก้ไขกฎหมายจนถึงการบังคับใช้ได้จริง ระหว่างนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อม และการดำเนินงานต่างๆ เพื่อรองรับการขยายขอบเขตงานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะช่วย “ปลดล็อก” การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ทำให้ SMEs มีแหล่งเงินทุน และประเภทสินเชื่อที่หลากหลายมากกว่าเดิม ไม่เพียงสินเชื่อจากธนาคาร ที่ต้องยอมรับว่านโยบายของธนาคารหลายแห่งในบางช่วงเวลาอาจมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเกิดหนี้เสีย หรือ NPL การเพิ่มแหล่งเงินอื่นๆ ที่จะช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

อย่างน้อยก็จะช่วยบรรเทาปัญหา “หนี้นอกระบบ” ไปได้เปราะหนึ่ง

เมื่อพูดถึงเรื่องหนี้ ล่าสุดนายธนาคารใหญ่ กูรูด้านเศรษฐกิจท่านหนึ่ง ออกมาฉายภาพเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ว่า กำลังเกิดภาวะหนี้ท่วมโดยเฉพาะผู้บริโภครายย่อย จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงลิ่ว ไม่แปลกที่จะเห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ฝืดเคือง แม้จะมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศออกมามากมาย ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

สถานการณ์เช่นนี้ ภาค SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก และสายป่านน้อย จึงต้องระมัดระวัง ประคองตัว และเน้นการลดต้นทุน ประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ พร้อมใส่ไอเดีย และนวัตกรรมในตัวสินค้าและบริการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจมากยิ่งขึ้น สิ่งหนึ่งต้องไม่ลืมคือ การขับเคลื่อนของภาครัฐ และเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านมาตรการต่างๆ ที่ยังคงเข้มข้น

ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือ การตั้งคณะทำงานด้านการส่งเสริม SMEs Start-up & Social Enterprises ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ความมือกับระหว่างหน่วยงานภาครัฐ - เอกชน กว่า 60 องค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริม SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุน โดย บสย. ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ก็ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานดังกล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าในการแก้ไข พ.ร.บ. บสย. ที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม และผลักดันต่อไป

บทความโดย : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น