บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือปูนอินทรี ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมุ่งมั่นในการส่งเสริมจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงออกแบบนวัตกรรมการก่อสร้างที่มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
วรเทพ รางชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการผลิตสินค้าที่เป็นกรีน (Green) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทมี พาร์ตเนอร์ คือ โฮลซิม (Holcim) ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศแถบสแกนดิเนเวียน โดยในยุโรปตอนบนจะมีความตระหนักในเรื่องของ ‘กรีน’ มาก เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์
โดยบริษัทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงผ่าน 16 โครงการ ผ่านแนวคิด “กรีน” ในการขับเคลื่อนอาทิ Green School สร้างอาคารเรียนมอบให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในถิ่นทุรกันดาร Green Water Tank สร้างถังบรรจุน้ำให้แก่ชุมชน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง Green Seminar การจัดงานสัมมนาที่มุ่งจุดประกายความคิด และสร้างความเปลี่ยนแปลงในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Green Village หมู่บ้านต้นแบบสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
INSEE Check Dam การสร้างฝายชะลอน้ำในต่างจังหวัด Green Community ธนาคารขยะชุมชน Green Heart Label ฉลากหัวใจสีเขียวที่รับรองสินค้าและบริการตามระบบมาตรฐาน สิ่งแวดล้อม Green Network การสร้างเครือข่ายสีเขียวที่ได้รางวัลมาตรฐานสูงสุดระดับ 5 จากกระทรวงอุตสาหกรรม INSEE Logistic การพัฒนาระบบการขนส่ง Green Heart Club กิจกรรมจิตอาสาเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม Green Heart Bank รณรงค์การแยกขยะและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
Green Factory การสร้างโรงงานที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Earn Day INSEE Power Team การร่วมมือในการประหยัดพลังงานในระดับองค์กร INSEE Green Park สวนมิ่งมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา สวนสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“กรีน อินโนเวชั่น เป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ใช่กระแสของสังคม แต่เป็นเรื่องของความอยู่รอดสำหรับรุ่นลูกหลานในอนาคต และปูนอินทรีพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกคน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และหวังว่าจะนำกรีน อินโนเวชั่น เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลก” วรเทพ กล่าวย้ำ
ทางด้าน จันทนา สุขุมานนท์ ที่ปรึกษา บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง กล่าวว่า บริษัทมุ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในด้านต่างๆ ที่สร้างประโยชน์เพื่อส่วนรวมอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งเป็นการทำประโยชน์เพื่อสังคมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อมาพัฒนาเป็น SD (Sustainable Development) หรือการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืน และดำรงอยู่ได้ทั้งบริษัทและชุมชนโดยรอบ ปัจจุบันพัฒนาเป็น Social Enterprise เป็นกิจการเพื่อสังคม ที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของเท่านั้น แต่สร้างผลตอบแทนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการของธุรกิจและการทำประโยชน์แก่สังคมร่วมกัน
“โครงการ Social Enterprise มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกหญ้าช้างและกระถินณรงค์ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงจากธรรมชาติให้แก่โรงปูนอินทรี ซึ่งเป็นการร่วมกันสร้างงานให้ชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบโรงปูนอินทรีให้มีรายได้ ซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน
จันทนา กล่าวอีกว่า “การจะทำเรื่อง 'กรีน' ให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากหัวใจต้องเป็น “กรีน ฮาร์ท” แล้ว ปัจจัยที่สำคัญ คือ ผู้นำองค์กร ต้องเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงสามารถนำให้ทุกคนในองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และโลกจะน่าอยู่ด้วยหัวใจสีเขียวของทุกคน”
ด้าน ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันอาคารเขียวไทย ย้ำถึงปัจจัยสำคัญในการออกแบบบ้านและอาคารประหยัดพลังงาน ได้แก่ รูปทรงอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นฟอร์มที่ดี เพราะช่วยประหยัดพลังงาน เนื่องจากแสงแดดธรรมชาติสามารถเข้าถึงอาคารได้ ส่วนอาคารรูปตัวแอล (L) เน้นการระบายอากาศที่ดีเพราะมีช่องให้ลมผ่านเข้า-ออกได้ดีกว่า การบังแดด แม้จะสร้างบ้านให้มีกระจกรอบด้าน แต่หากออกแบบแผงบังแดดที่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องติดฉนวนกันร้อน และสามารถใช้แสงธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด การระบายอากาศที่ดี ช่วยให้บ้านหรืออาคารมีอากาศถ่ายเทสะดวก ไร้ปัญหาเรื่องความชื้น และวัสดุที่ใช้ ช่วยประหยัดพลังงาน และอาจมีการฉาบผิวพิเศษ เพื่อป้องกันแสงแดดและความชื้น เป็นต้น
anchalee@manager.co.th