- ขณะนี้ความเคลื่อนไหวของ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆในประเทศไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้พัฒนาไปในหลายๆมิติ อย่างมีพัฒนาการที่น่ายินดีครับ
- ที่มีนัยสำคัญมากก็คือ การเกิดชุดนโยบายส่งเสริม “กิจการเพื่อสังคม” หรือ SE (Social Enterprise) อย่างเป็นกระบวนการในประเทศไทย
นี่จะเป็นนิติบุคคลประเภทใหม่ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการโดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
เรียกว่าดำเนินกิจการอย่างมีแผนและกลยุทธ์มุ่งประสิทธิภาพแบบธุรกิจ แต่มีเป้าหมายเพื่อสังคมเป็นหลัก จึงไม่ใช่การสร้างกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของ เป็นสำคัญเหมือนธุรกิจทั่วไป
แต่กำไรส่วนใหญ่จะนำมาลงทุนต่อและขยายผลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม
ประเทศอังกฤษมักถูกอ้างอิงความเป็นต้นแบบของการมีกิจการเพื่อสังคมที่หลากหลายประเภทมีจำนวนกว่า 60,000 กิจการ และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจระดับ 2.7 ล้านปอนด์มาแล้ว รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการเป็นกลไกช่วยแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางสังคม สิ่งแวดล้อม จนถูกจัดเป็นภาคส่วนที่ 3 (Third Section) หรือภาคประชาสังคม ขณะที่อีก 2 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ และภาคเอกชน
สำหรับประเทศไทยในเร็วๆ นี้ รัฐบาลก็น่าจะผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมออกมาบังคับใช้ได้ ก็จะช่วยให้การสนับสนุนกิจการ SE เป็นไปอย่างครบเครื่อง และช่วยเสริมพลังการขับเคลื่อนของ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ(สกส.)ให้เกิดผลยิ่งขึ้นที่จะได้เห็นกันอย่างน้อยก็คือ
1.ระบบการรับรองคุณสมบัติ กิจการเพื่อสังคม(SE) ที่ดำเนินการโดย สกส. ต่อไปเราน่าจะได้เห็นการบ่งบอกสถานภาพท้ายชื่อกิจการว่า... (กิจการเพื่อสังคม)
2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกิจการเพื่อสังคม ที่จะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ดังเช่นธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ระดมเงินจากการออกสลากพิเศษรวม 2000 ล้านบาทมาเตรียมสนับสนุน SE
3.การยกระดับขององค์กรสาธารณะประโยชน์ และองค์กรพัฒนาเอกชน ให้สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมได้มีประสิทธิผลมากขึ้นด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจแต่เกิดผลลัพธ์ทางสังคม
4.เป็นช่องทางให้ภาคเอกชน ซึ่งมีงบกิจกรรม CSR ปีละนับ 10,000 ล้านบาท ได้ร่วมช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืนผ่านการลงทุนจัดตั้งSE ในเครือบริษัท หรือสนับสนุนSE ที่ดำเนินการอยู่แล้ว
5.กิจการเพื่อสังคมจะสร้างความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือ แก่กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ผ่านการต้องขังและชนกลุ่มน้อยที่จะได้รับการจ้างงานที่เหมาะกับศักยภาพ
6.เป็นโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างสรรค์ธุรกิจและออกแบบกิจการ อาชีพที่สนองความฝันตัวเองในการสร้างคุณค่าต่อสังคมได้ดังใจกว่าการทำงานสนองความฝันของเจ้าของกิจการธุรกิจในระบบเดิม
ข้อคิด...
ขอยกตัวอย่างที่คนรุ่นใหม่ ได้ริเริ่มดำเนินการอย่างโดดเด่น 2 ราย จนเมื่อเร็วๆ นี้ได้รับรางวัล SVN Award ประเภทผู้เริ่มประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur Start Up Award) จากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ SVN Asia (Thailand)
Ma:D Club for Change ปรีห์กมล จันทรนิจกร ได้สร้างพื้นที่ให้คนต่างที่สนใจประเด็นทางสังคมเหมือนๆกันได้มาเจอกันโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเชื่อว่า ความหลากหลายของผู้คน ประสบการณ์ ความถนัด ทรัพยากรที่มี จะนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างสิ่งที่ดีดีในสังคมร่วมกัน
กิจการเพื่อสังคมแห่งนี้ สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง โดยไม่ได้พึ่งพิงเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว ด้วยส่วนที่เป็นห้องประชุมให้เช่า ออฟฟิศให้เช่า พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม รวมถึง การจัดการกระบวนการบ่มเพาะผู้ประกอบการทางสังคม ให้แก่องค์กรต่างๆภายนอก
บริษัทกล่องดินสอ จำกัด โดย ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ตั้งเป้าหมายหลักในการช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ให้มีคุณภาพชีวิตชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเน้นการมีส่วนร่วม และ การสร้างความเข้าใจ ของทั้งผู้พิการทางสายตา คนในครอบครัว และ คนในสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้พิการทางสายตาอย่างยั่งยืน
ผลงาน และ กิจกรรมมากมายที่จัดขึ้นเพื่อผู้พิการทางตา เช่น การพาไปวิ่ง การสอนทำอาหาร การไปเที่ยวทะเล การสร้างอุปกรณ์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางตา นิทานภาพนูน รวมถึงการพัฒนาความสามารถ และ จัดหาอาชีพให้แก่ผู้พิการทางตา
หนึ่งในผลงานที่โดดเด่น คือ อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาหลายคน ได้มีโอกาสสัมผัสถึงประสบการณ์ในการวาดรูปเป็นครั้งแรกในชีวิต ด้วยอุปกรณ์ที่ชื่อว่า “เล่นเส้น” หรือ ปากกาวาดรูปสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่ใช้เส้นเชือกแทนน้ำหมึก ทำให้ผู้พิการทางตา สามารถใช้มือสัมผัสถึงลายเส้นที่ตนเองเป็นคนวาดสินค้าดังกล่าว เป็นที่ยอมรับ และค่อยๆขายได้ในวงกว้างมากขึ้น
น่ายินดีที่ได้เห็นผู้มีความคิดก้าวหน้าและมีจิตอาสาได้แปรความคิดสร้างสรรค์เป็นรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคม ในหลากหลายลักษณะที่องค์กรต่างๆซึ่งมี CSR เป็นรากแก้วสามารถสนับสนุนหรือร่วมมือเพื่อส่งเสริมสังคมได้ครับ
suwatmgr@gmail.com