xs
xsm
sm
md
lg

พม. ชูโมเดลใหม่ SE พลิกฟื้น 5 กลุ่มผู้ด้อยโอกาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์
-นับว่าเป็นมิติใหม่ของการพัฒนา “โมเดลวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE)” ให้เป็นกลไกธุรกิจสร้าง “ภาระ สู่ พลัง”
-โดยเล็งเป้าฟื้น 5 กลุ่มผู้ด้อยโอกาสกลับเข้าสู่หุ้นส่วนสังคมไทย
เนื่องจากสังคมไทยยังพบเห็นความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ และการถูกตีตราหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหากพูดถึงกลุ่มคนเหล่านี้ในสังคม เรามักจะให้คำนิยามคนกลุ่มนี้ว่า “ผู้ด้อยโอกาส” ซึ่งตามที่สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส แบ่งผู้ด้อยโอกาสออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ คนยากจน คนเร่ร่อน/คนไร้ที่อยู่ คนไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร ผู้ติดเชื้อเอชไอวี / ผู้ป่วยเอดส์ / ผู้ได้รับผลกระทบ และผู้พ้นโทษ
เช่นกรณีคนยากจน ความยากจนตามสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กำหนดเส้นความยากจนที่ 2,422 บาท/เดือน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 15.6 ล้านคน หรือร้อยละ 23.5 ของประชากรทั้งประเทศ
โจทย์สำคัญของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงเป็นการมองหาช่องทางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตใน 5 กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ และพึ่งพาตนเอง

ทางเลือกใหม่ SE เพื่อผู้ด้อยโอกาส
พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. กล่าวว่าการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสดังกล่าวสามารถพึ่งพาตนเองได้ คือ มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ ถือเป็นภารกิจขั้นสูงสุดที่ทุกหน่วยงานควรให้การส่งเสริมเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส จึงมอบหมายนโยบายนี้ให้กับ กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคมที่มี คุณขนิษฐา กมลวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการไปส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยอาศัยกลไกกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งมีแบบอย่างที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และอังกฤษ เป็นต้น
“กิจการเพื่อสังคมดังกล่าว คือ กิจการหรือธุรกิจที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสภาพแวดล้อมเป็นหลัก โดยนำรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรเชิงธุรกิจมาใช้ในการแก้ปัญหาทางสังคมและสร้างรายได้ให้กับกิจการ ซึ่งผลกำไรที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนเพื่อขยายผลการดำเนินงานต่อไป หรือนำกลับเข้าสู่ชุมชนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาของสังคม”
ดังนั้น การส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมเปรียบเสมือนเครื่องมือในการแก้ปัญหาสังคมให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายที่ทำงานด้านผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเพิ่มมากขึ้น

3 เป้าหมาย หนุนผู้ด้อยโอกาสคืนสู่สังคม
ด้วยจุดเด่นของกลไกกิจการเพื่อสังคมเพื่อผู้ด้อยโอกาส (Social Enterprise) ที่สามารถสร้างผลกระทบด้านบวกต่อสังคม และขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งพาตนเองอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม จึงเล็งเห็นถึงความเหมาะสมที่จะนำกลไกกิจการเพื่อสังคมเข้ามาหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยมีเป้าประสงค์หลัก คือ
1.เพื่อฟื้นฟูสร้างความมั่นใจตนเองและกล้าเผชิญต่อสังคม (Self-esteem)
2.สร้างอาชีพ สร้างรายได้ หลุดพ้นความด้อยโอกาส (Empowerment)
3.เสริมสร้างการยอมรับและไว้วางใจจากสังคม (Inclusive Society)
ทั้งนี้ กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้เริ่มนำแนวคิดเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2556 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคมในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยเชิญเครือข่ายภาคสังคมทั่วประเทศ ปูพรมสร้างความตระหนัก เข้าใจกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)
ต่อมาในปีที่ผ่านมาโครงการทิศทางการส่งเสริมเครือข่ายกิจการเพื่อสังคมร่วมพัฒนาศักยภาพผู้ด้อยโอกาสเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สร้างความเข้าใจกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในระดับนโยบาย บริหาร และปฏิบัติ ตลอดจนค้นหา SE เพื่อผู้ด้อยโอกาส และสร้างความพร้อมในการส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการผ่านหลักสูตรการอบรม Social Entrepreneurship ให้แก่เครือข่ายภาคสังคม 30 องค์กร จากทุกประเภทของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผลลัพธ์สำคัญของโครงการ ทิศทางของกองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคมในการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาศักยภาพผู้ด้อยโอกาสด้วยกลไกกิจการเพื่อสังคม และเครือข่ายภาคสังคมให้มีความเข้าใจและต้องการพัฒนาองค์กรในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม กว่า 30 องค์กร
จนมาถึงปีนี้ กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม ก็ได้มีทิศทางการทำงานเชิงลึกเพื่อพัฒนาองค์กรนำร่องกิจการเพื่อสังคมเพื่อผู้ด้อยโอกาส โดยสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน-สังคม เพื่อสร้างความตระหนักสู่สังคมในโครงการแนวทางการขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้ด้อยโอกาสในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่น


5 องค์กรภาคสังคม นำร่องพลิกฟื้นผู้ด้อยโอกาส
นำเสนอสินค้าบริการเพื่อสังคม
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้คัดเลือกกกลุ่มองค์กรนำร่องที่ทำงานเกี่ยวกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ 5 องค์กร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และส่งเสริมสู่การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อผู้ด้อยโอกาส โดยวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมสนับสนุนในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งองค์กรที่ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่อง ได้แก่

1.มูลนิธิอิสรชน
มูลนิธิอิสรชน ผู้ก่อตั้งคือคุณนที สรวารี ดำเนินงานเกี่ยวกับกลุ่มคนเร่ร่อน ไร้ที่อยู่อาศัย และกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ (Sex Worker) ในพื้นที่สนามหลวง เขตพระนคร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1,800 คน เป็นเวลาเกือบ 20 ปี โดยกิจกรรมขององค์กรนั้นจะมุ่งเน้นการให้บริการแก่ผู้ด้อยโอกาส เช่น การดูแลความเป็นอยู่ สุขภาพ ชีวอนามัย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ รวมถึงการพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการประกอบอาชีพให้แก่คนเร่ร่อน นอกจากนี้มูลนิธิได้เข้าไปมีบทบาทในการผลักดันกฎหมายระดับนโยบาย เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเป็นต้น
มูลนิธิมีความคาดหวังว่ากลไกหรือการดำเนินการในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (SE) นั้นจะช่วยหนุนเสริมให้มูลนิธิสามารถบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถหนุนเสริมแผนการจัดตั้งบ้านส่งเสริมการเรียนรู้ “บ้านสอนเอง” ให้สำเร็จโดยใช้กลไกกิจการเพื่อสังคม (SE) เข้ามาช่วย เพื่อเป็นสถานที่ดำเนินงานของมูลนิธิในการให้บริการแก่คนเร่ร่อน และเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้า หรือบริการที่เป็นผลผลิตจากกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น ผ้าทอจากกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือสินค้าอื่นๆที่ได้รับบริจาคและผ่านกระบวนการพัฒนาคุณภาพแล้ว

2.มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน
มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งโดยศาสนาจารย์สุนทร สุนทรธาราวงศ์ เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่มีเป้าประสงค์การดำเนินงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ ตั้งแต่การฟื้นฟูสภาพจิตใจโดยการนำคำสอนทางศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอบรม ตลอดจนให้การศึกษา ฝึกอาชีพ และสนับสนุนทุนให้ผู้พ้นโทษ นอกจากนี้มูลนิธิยังรับเลี้ยง ดูแล ลูกของผู้ต้องขัง ที่ไร้ญาติหรือไม่มีคนเลี้ยงดู ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 20 คน ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิ
มูลนิธิหวังว่ากลไกกิจการเพื่อสังคม (SE) จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้องค์กรและผู้พ้นโทษได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับแนวทาง SE ที่เป็นไปได้ขององค์กรคือ การทำธุรกิจที่เกี่ยวกับขอบเขตงานขององค์กร เช่น การจัดทำหลักสูตรพิเศษสำหรับผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ ด้วยประสบการเกือบ 40 ปีในการดำเนินงานด้านนี้ของมูลนิธิจะเป็นการสร้างคุณค่าในการบริการด้านการฝึกอบรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี และความสนใจในทำธุรกิจสบู่จากฝีมือผู้พ้นโทษ

3.ชมรมปากลัดอินทรสีห์
ชมรมปากลัดอินทรสีห์มีประธานชมรมคือ คุณพลาชิต สุจิตโกศล เป็นองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมหลักในพื้นที่ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของชมรมค่อนข้างหลากหลาย เช่น คนยากจน คนเร่ร่อน คนไร้สัญชาติ ผู้ป่วยเอดส์และผู้พ้นโทษ
ปัจจุบันชมรมมีแหล่งรายได้หลักจากการสนับสนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรปราการ และเงินบริจาค การที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นหนึ่งในกลุ่มองค์กรนำร่องเพื่อการพัฒนาสู่การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) นั้นชมรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะก่อให้เกิดแหล่งรายได้ที่มั่นคงเพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆของชมรม สำหรับ SE ที่เป็นไปได้นั้นนั้น เบื้องต้นควรเน้นไปที่ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มคนยากจนและคนเร่ร่อนที่เข้ามาประกอบอาชีพขับสามล้อรับจ้างในตลาดเมืองสมุทรปราการ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพและการท่องเที่ยวในท้องถิ่น

4.บริษัท จันทบุรี บุญคุ้มครอง สโตน แฟคตอรี่ กรุ๊ป จำกัด
บริษัท จันทบุรี บุญคุ้มครอง สโตน แฟคตอรี่ กรุ๊ป จำกัด เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่มีเจตนารมณ์ในการสร้างอนาคตใหม่ให้กับผู้พ้นโทษ คุณไพบูลย์ พิมพ์ลา นักธุรกิจค้าพลอยเมืองจัน ได้เล็งเห็นถึงความสามารถและศักยภาพกลุ่มผู้ต้องขัง จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ในการเข้าไปฝึกทักษะวิชาชีพการเจียระไนพลอยในเรือนจำเป็นเวลามากกว่า 2 ปี โดยผลงานที่ได้จากฝีมือผู้ต้องขัง จะเห็นได้ว่าเป็นชิ้นงานที่ประณีต และละเอียด ซึ่งเป็นการฝึกจิตใจของผู้ต้องขัง และเป็นการสร้างคุณค่าผ่านการสร้างงานเช่นกัน
คุณไพบูลย์ ซึ่งเตรียมเกษียณตัวเองทางธุรกิจในอีก 2 ปีข้างหน้าต้องการใช้กลไกกิจการเพื่อสังคม (SE) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาในสังคมและต้องการให้การดำเนินกิจกรรมของบริษัทเป็นต้นแบบหนึ่งของ SE ในประเทศไทย แนวทางการเดินหน้าด้วย SE ของบริษัทคือ พัฒนาโรงงานพลอยในเรือนจำให้มีระบบ ระเบียบได้มาตรฐาน และจัดตั้งโรงงานกลาง (นอกเรือนจำ) เพื่อเป็นศูนย์กลางการติดต่อธุรกิจและเป็นศูนย์กระจายสินค้า

5.เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON)
เครือข่ายสุขภาพและโอกาส ก่อตั้งโดยคุณทฤษฏี สว่างยิ่ง นักพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เรื่อง HIV โรคเอดส์ รวมถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งกิจกรรมขององค์กรก็จะเข้าเยี่ยมผู้ป่วยในพื้นที่ รวมถึงการเปิดสถานบริการสุขภาพในชุมชนพัทยา เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีการรักษาที่ถูกวิธีแก่ผู้ป่วย โดยในปัจจุบันเครือข่ายก็ได้มีการดำเนินธุรกิจหน่วยเล็กๆ เพื่อที่จะเป็นช่องทางในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในองค์กร แต่เนื่องด้วยจำนวนบุคลากรที่จำกัด จึงทำให้ธุรกิจเกิดการหยุดชะงัก
องค์กรหวังว่าการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนำร่องกิจการเพื่อสังคม (SE) จะสามารถส่งเสริมให้องค์กรสามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่เป็นกลุ่มเป้าหมายขององค์กรได้ดีขึ้น และจะเป็นแนวทางการระดมทุนที่ยั่งยืนขององค์กร สำหรับแนวทาง SE ขององค์กรนั้น ควรทำกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวกับขอบเขตงานขององค์กร เช่น การฝึกอบรมด้านเพศศึกษาและการป้องกันโรค และอีกทางหนึ่งคือ การทำกิจกรรมทางธุรกิจที่ต่อยอดจากเดิม เช่น กิจการร้านเสริมสวย การผลิตน้ำดื่ม HON ออกวางจำหน่ายในตัวเมืองพัทยา และเปิดร้านกาแฟ
ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ
NISE - เชื่อมโยง 3 ประสาน กลไกบ่มเพาะธุรกิจเพื่อสังคม
•องค์กรตัวกลางจึงมีบทบาทความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างความเข้าใจ เชื่อมโยงและเตรียมความพร้อมของทั้ง 3 ภาคส่วนสู่การ “สร้างตลาดเพื่อสังคม” ร่วมกัน ในภาษากลางที่แต่ละองค์กรจะเข้าใจและดำเนินงานร่วมกันได้อย่างสมดุลในที่สุด
•ตลอดจนเพื่อขยายความกว้างของการดำเนินงานในทุก Sector เพราะตัวกลางมีความจำเป็นต้องรู้สนามรบ Know who ไม่เพียงแต่รู้ Know How ดังนั้น ภาครัฐ กระทรวงต่างๆ จึงควรเสริมนโยบายพัฒนาเวทีให้องค์กรตัวกลาง ที่เปลี่ยนมุมมองจาก แค่ “คนกลาง” มาสู่ “พี่เลี้ยง” จึงจะทำให้ระบบนิเวศการพัฒนา SE ของประเทศไทย

ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ ประธานกิจการเพื่อสังคมไนส์คอร์ป กล่าวว่าหัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการ คือการเตรียมความพร้อมและขีดความสามารถขององค์กรผู้ด้อยโอกาสในทักษะ“ความเป็นผู้ประกอบการ” หรือ “Entrepreneurship” พื้นฐานในการสร้างกิจการพัฒนาทีมงานและระบบการบริหารจัดการที่ดีขององค์กร (Enterprising) พัฒนากลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจ (Social Business Strategy) การพัฒนาสินค้า/บริการ (Products & Services Development) ศักยภาพในการเข้าถึงตลาด และการเชื่อมโยงห่วงโซ่ทางธุรกิจ (Market Access & Business Supply Chain) ทั้งหมดล้วนแต่เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการส่งเสริมให้กิจการเพื่อสังคมเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสเติบโต อยู่รอด และมีความยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น