หลายคนอาจจะรู้จัก “ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล” ในบทบาทของดารา นักแสดง ที่มีผลงานผ่านหน้าจอโทรทัศน์อย่างสม่ำเสมอ
แต่อีกบทบาทหนึ่งที่เชื่อว่ายังมีหลายคนไม่รู้ คือ บทบาทของการเป็นผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์ A Piece (s) of Paper กระดาษห่อของขวัญในคอนเซ็ปต์รักษ์โลก ที่เปิดตัวมาได้เกือบ 2 ปีแล้ว และก็ได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
จุดเด่นอย่างแรกของกระดาษห่อของขวัญแบรนด์ A Piece (s) of Paper คือ แผ่นกระดาษจะมีรอยปรุ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถฉีกกระดาษตามรอยปรุเท่ากับขนาดที่ต้องการใช้ ส่วนที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้งานในครั้งต่อไปได้
ส่วนผู้ที่ได้รับของขวัญก็สามารถนำกระดาษห่อของขวัญที่มีรอยปรุเหล่านี้ไปใช้ในการตกแต่งอุปกรณ์ต่างๆ ตามความชอบได้อีกด้วย
ที่มาของไอเดีย ธนะเวทย์เองก็มีความใฝ่ฝันเหมือนกับเพื่อนๆ ที่เรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอยากจะสร้างแบรนด์สินค้าดีไซน์ของตนเอง
“ด้วยสาขาที่เรียนมาเป็นเรื่องของการออกแบบหมดเลย เราก็ถนัดงานทางด้านนี้เป็นพิเศษ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานประจำมาก่อน เคยเป็นทั้งกราฟิก ดีไซเนอร์ครีเอทีฟ และก๊อบปี้ไรเตอร์
แต่ความฝันของเราจริงๆ ก็คือการสร้างแบรนด์สินค้าดีไซน์ของตัวเอง ซึ่งผมเชื่อว่าคนที่เรียนมาทางด้านนี้ลึกๆ แล้วทุกคนอยากสร้างแบรนด์ของตัวเองหมด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีความพร้อมมากกว่ากัน
พอทำงานมาสักพักหนึ่งเราก็มีความพร้อมมากขึ้น จึงเริ่มต้นที่จะสร้างแบรนด์ขึ้นมา สำหรับตัวโปรดักต์แน่นอนว่าต้องเป็นสินค้าเน้นดีไซน์ ซึ่งเป็นงานในแนวที่เราถนัด และต้องใส่ความเป็นครีเอทีฟในตัวงานเข้าไปด้วย
เมื่อมาดูถึงความต้องการของตลาด ก็พบว่าสินค้าในยุคนี้ควรที่จะใส่ความเป็นอีโคดีไซน์ หรือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลงไปด้วย อีกเรื่องคือการทำ Social Enterprise ซึ่งก็คือการทำธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
แต่เราเป็นเพียงผู้ประกอบการรายเล็กๆ คงไม่สามารถลงไปโฟกัสที่เรื่องใหญ่ระดับสังคมขนาดนั้นได้ จึงเลือกที่จะทำโปรดักต์ดีไซน์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
โจทย์ที่ได้มาในตอนนั้นก็คือ จะต้องเป็นสินค้าดีไซน์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อโฟกัสลงมาที่ตัวโปรดักต์ ก็พบว่ากระดาษห่อของขวัญในปัจจุบันนี้ยังไม่มีแบรนด์ไหนที่เป็นเจ้าตลาดอย่างแท้จริง และลองไปเดินสำรวจตลาดดูก็ไม่เจอแบรนด์ไหนที่มีความโดดเด่น ที่รู้สึกว่ามันสวยหรือน่ารัก โดยมากก็จะเป็นลายคล้ายๆ กันไปหมด ทำให้หลายๆ คนเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อลายไหนดี เลยพานไม่ซื้อไปเลยก็มี
ตรงนี้กลายเป็นช่องว่างทางการตลาดที่เรามองเห็น ว่าสามารถสร้างโปรดักต์ดีไซน์โดนๆ และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกลายเป็นแบรนด์กระดาษห่อของขวัญ Top of Mind ได้ในอนาคต”
ที่จริงแล้วกระดาษห่อของขวัญในคอนเซ็ปต์อีโคดีไซน์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย ความยากจึงอยู่ที่การสร้างความแตกต่าง รวมถึงสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้ผู้บริโภคสามารถจดจำได้ ในฐานะแบรนด์น้องใหม่
“ตอนแรกที่คิดว่าจะทำกระดาษห่อของขวัญ ก็เริ่มดูว่าในท้องตลาดมันมีอะไรอยู่แล้วบ้าง ในคอนเซ็ปต์ที่เป็นอีโคดีไซน์ สิ่งที่เจอเยอะมากจะเป็นเรื่องของกระดาษรีไซเคิล และการใช้หมึกพิมพ์ถั่วเหลือง ถ้าเราทำได้แค่นี้มันก็น้อยเกินไป ก็เริ่มตั้งคำถามว่า จะสามารถทำอะไรได้มากไปกว่าเรื่องของตัววัตถุดิบหรือไม่
สุดท้ายก็พบว่า สิ่งสำคัญในการออกแบบสินค้าที่เป็นอีโคดีไซน์นั้นจะต้องมองไปถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเชิงสถาปนิก อย่างการสร้างบ้าน สร้างอาคารในเชิงโปรดักต์ดีไซน์ อย่างการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ถ้าเรามองลึกลงไปถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ ก็จะทำให้เราได้โจทย์อะไรบางอย่างที่มันพิเศษขึ้นมา
ต่อมาจะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่ใช้กระดาษห่อของขวัญได้ ผมมองว่าการเลือกใช้กระดาษรีไซเคิลกับหมึกพิมพ์ถั่วเหลืองมันก็เป็นแค่เชิงวัสดุ หมายถึงว่าทางผู้ผลิตเป็นคนทำเพียงฝ่ายเดียว เมื่อไปถึงผู้ใช้เขาก็ไม่ได้ทำอะไรในเชิงอีโคแล้ว
และพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่เราสังเกตเห็น คือ เวลาคนให้ของขวัญกัน โดยมากผู้รับก็จะรีบฉีกกระดาษห่อของขวัญทิ้ง ทำให้อายุการใช้งานของกระดาษห่อของขวัญมันสั้นมาก คนที่เก็บกระดาษห่อของขวัญเอาไว้เพื่อนำไปใช้ห่อซ้ำก็คงมีอยู่บ้าง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จะทำอย่างไรถึงจะยืดอายุการใช้งานให้มันนานกว่านี้
คิดไปคิดมาก็เกิดไอเดียยืดอายุการใช้งานให้กับกระดาษห่อของขวัญ ด้วยการสร้างรอยปรุเอาไว้บนกระดาษทั่วทั้งแผ่น ถ้าคลี่กระดาษออกมาก็จะเห็นรอยปรุเป็นตาราง ขนาด 8 คูณ 8 เซนติเมตร ทำให้เราสามารถฉีกกระดาษตามรอยปรุจากแผ่นใหญ่ออกมาเป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ ได้หลายแผ่น
จากรอยปรุตรงนี้ สามารถนำไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง
หนึ่ง - เวลาห่อของขวัญไม่ต้องใช้คัตเตอร์หรือกรรไกรในการตัดกระดาษอีกต่อไป เพียงแค่ใช้เทปกาวแปะตามปกติ ทำให้การห่อของขวัญสนุกขึ้น และไม่ยุ่งยากอีกต่อไป
สอง - เมื่อผู้รับได้รับของขวัญแล้ว แทนที่จะฉีกกระดาษห่อของขวัญทิ้ง ก็สามารถฉีกกระดาษตามรอยปรุเพื่อนำมาใช้ต่อได้ ด้วยไซส์ของรอยปรุขนาด 8 คูณ 8 เซนติเมตร ซึ่งพอดีกับกระดาษโน้ต 1 แผ่น สามารถนำไปทำเป็นกระดาษจดโน้ต กระดาษทดเลขได้เลย
และด้วยลวดลายที่สวยงามของกระดาษ ยังสามารถนำไปดัดแปลงอย่างอื่นได้อีกมากมาย เช่น เอาไปใส่เคส iPhone แบบใสเพื่อโชว์ลวดลายของกระดาษ เอาไปสอดลงในสมุดปกใส ที่จะมีช่องสำหรับใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ลงไปได้ หรืออย่างแก้วทัมเบลอร์ของสตาร์บัคส์ ซึ่งมีพื้นที่เป็นช่องว่างใสๆ อยู่ด้านนอก ก็สามารถนำกระดาษสอดเข้าไปได้เช่นกัน
บางคนที่ชอบเรื่องของ DIY เขาก็จะเอาไปพับเป็นดาว เอาไปพับเป็นหัวใจ และกระดาษห่อของขวัญในบางแบบเราทำรอยปรุให้เป็นรูป 3 เหลี่ยม ก็จะมีคนเอากระดาษไปติดเรียงกันเป็นแถวเพื่อตกแต่งร้านในงานปาร์ตี้ต่างๆ กลายเป็นกระดาษห่อของขวัญที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่มากกว่ากระดาษห่อของขวัญทั่วไป ขึ้นอยู่กับไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ของผู้ใช้”
จากคอนเซ็ปต์ดังกล่าว กลายเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ A Piece(s) of Paper ถ้ามองเผินๆ อาจดูเหมือนเขียนผิดหลักไวยากรณ์ เพราะคำว่า a piece ไม่จำเป็นต้องมี s
ทั้งนี้เป็นความจงใจของธนเวทย์ที่ต้องการสื่อความหมายไปยังผู้บริโภคว่า กระดาษห่อของขวัญของแบรนด์นี้มีค่ามากกว่ากระดาษ 1 แผ่น เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกมากมายนั่นเอง
สีสัน และลวดลายบนพื้นกระดาษจะเน้นไปที่รูปแบบเรียบๆ คลาสสิก เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ ว่าน่าจะเป็นผู้หญิงในวัยมหาวิทยาลัย และวัยทำงานตอนต้น
“สำหรับเรื่องของงาน ผมจะออกแบบเองทั้งหมด โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ในกลุ่มแรกจะเน้นรูปแบบที่เรียบง่าย คลาสสิก เช่น ลายเรขาคณิต ลายจุดแบบ Pokka Dot ลายเส้นที่เรียบง่าย ไม่ต้องหวือหวา เน้นเรียบง่ายแต่ดูดี และสามารถใช้ได้ในทุกโอกาส
อีกกลุ่มหนึ่ง จะเป็นลวดลายที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ เพราะเป็นลวดลายที่วาดขึ้นมาเอง จากเทคนิคการใช้สีน้ำและสีไม้ เป็นลวดลายแบบง่ายๆ เช่น ลายดอกไม้ ลายสัตว์ ลายหน้าคนหรือตัวการ์ตูน โดยโทนสีก็จะเป็นสีซอฟต์ๆ หวานๆ อย่างพวกโทนสีพาสเทลเป็นหลัก เราอยากให้อารมณ์ออกมาเหมือนพวกงานศิลปะของญี่ปุ่น”
โดยราคาขายจะอยู่ที่แผ่นละ 80 บาท ส่วนขนาดนั้นจะเท่ากับกระดาษห่อของขวัญทั่วไป คือมีขนาด 72 คูณ 48 เซนติเมตร บรรจุอยู่ในซองพลาสติกใสแบบซิปล็อก ช่วยประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง และยังสามารถนำซองพลาสติกไปใช้ต่อได้อีกด้วย
A Piece (s) of Paper เริ่มวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ในระหว่างนี้เถ้าแก่มือใหม่อย่างธนเวทย์ก็ยอมรับว่าบางครั้งก็ต้องลองผิดมาก่อน ถึงจะรู้ว่าที่ถูกนั้นควรจะต้องเป็นอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลวดลายบนกระดาษห่อของขวัญ ไปจนถึงรูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อาจไม่ตรงกับที่คาดเดาเอาไว้ทั้งหมด ทำให้ต้องพัฒนาสินค้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ได้มากที่สุด
“เรื่องของกลุ่มเป้าหมาย ตอนแรกที่มองไว้ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักน่าจะเป็นผู้หญิงในวัยเรียนมหาวิทยาลัย ไปจนถึงวัยทำงานตอนต้น ส่วนกลุ่มเป้าหมายรองลงมาก็จะเป็นกลุ่มคนที่ชอบงาน DIY รวมถึงคนที่ชื่นชอบในสินค้าอีโคดีไซน์
แต่เอาเข้าจริงแล้วกลายเป็นว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเรามันลดอายุลงไปเรื่อยๆ จนตอนนี้กลายเป็นกลุ่มเด็กมัธยมไปแล้ว มีลงไปยังเด็กประถมด้วย ในระยะหลังเลยพยายามเพิ่มในส่วนของลวดลายให้มีความเด็กลงมาอีก
ทั้งยังมีการขยายไลน์สินค้าออกไปอีก หลักๆ ก็จะมีสมุดโน้ต ที่ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 3-4 แบบ ราคาจะอยู่ที่ 80 กับ 120 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก ทำให้ฐานลูกค้ากว้างขึ้น ตั้งแต่เด็กประถม ไปจนถึงมหาวิทยาลัยเลย เพราะทุกคนต้องใช้สมุดโน้ตในการจดการบ้าน จดเลกเชอร์ต่างๆ อยู่แล้ว
สินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ กล่องของขวัญสำเร็จรูป โดยจะเลือกใช้รูปทรงที่แปลกตาหน่อย อย่างสามเหลี่ยม หรือหกเหลี่ยม แต่ถ้าเป็นกล่องที่ขนาดเล็กลงมาก็จะเป็นรูปทรงอื่นอย่างทรงหมอน หรือแบบถุง มีให้เลือกหลายแพตเทิร์น เพื่อให้เข้ากับของขวัญในรูปแบบต่างๆ
ที่มาของไอเดียนี้ก็คือ หลังทำธุรกิจไปสักพักเราก็พบว่านิสัยคนไทยส่วนใหญ่จะไม่ชอบห่อของขวัญเอง เพราะรู้สึกว่าเสียเวลา สุดท้ายแล้วก็ชอบความสะดวก ความรวดเร็วเป็นหลัก กล่องของขวัญสำเร็จรูปน่าจะเหมาะกับคนไทยมากกว่า ซึ่งกลายเป็นว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ อย่างปีใหม่ ที่อาจจะมีการให้ของขวัญหลายชิ้น ตรงนี้จะช่วยให้มีความสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องมานั่งห่อเอง
อีกทั้งการเพิ่มไลน์สินค้าเข้ามา ทั้งในส่วนของสมุดโน้ต และกล่องของขวัญสำเร็จรูป ยังช่วยให้ของขายได้เร็วขึ้น เพราะดูแล้วมันมีความหลายหลาย ส่งผลให้ยอดขายดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ตอนนี้เลยเริ่มแตกไลน์สินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนของสติกเกอร์ที่ใช้ในการตกแต่งของขวัญ มีทั้งสติกเกอร์ที่เป็นตัวอักษร และรูปภาพต่างๆ รวมไปถึงแอ็กเซสซอรีต่างๆ ที่ใช้ในการห่อของขวัญ ไม่ว่าจะเป็นริบบิ้น หรือแถบห้อยสวยๆ และในอนาคตก็อาจจะขยายไลน์สินค้าไปในส่วนของสเตชันเนอรีมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อเจาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะ”
ช่องทางการขายของ A Piece (s) of Paper เป็นการฝากขายในเซ็นทรัลสาขาต่างๆ เซ็นทรัลเวิลด์ สีลมคอมเพล็กซ์ ร้านขายสินค้าดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็น Be Trend, Loft, B2S, Propaganda, Room Concept Store,Spoonful และร้านขายเครื่องเขียนที่เชียงใหม่
เป้าหมายจากนี้ไป ธนเวทย์คงมุ่งไปที่เรื่องของการพัฒนาสินค้าเป็นหลัก ให้ครอบคลุม และตอบโจทย์ของกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น
จากนั้นคงเป็นเรื่องการขยายช่องทางการขายไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบประเทศเอเชียอย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง ที่เจ้าตัวมองว่าน่าจะถูกจริตกับสินค้าในแนว DIY มากกว่าคนไทย ซึ่งในขณะนี้ก็เริ่มมีสินค้าวางจำหน่ายอยู่ในประเทศสิงคโปร์บ้างแล้ว
A Piece (s) of Paper คือกระดาษห่อของขวัญรักษ์โลก ที่สามารถนำกลับไปใช้ซ้ำได้หลายโอกาส ทั้งยังสอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจโลก ในเรื่องของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นอีกธุรกิจที่น่าจับตา
@@@ ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs PLUS @@@
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *