•“กิจการเพื่อสังคม” ได้พลังหนุนทางการเงินจากนโยบายรัฐบาล
•12 สิงหาคมนี้ จะเป็นวันแรกที่ ธ.ก.ส. และ ออมสิน เปิดขาย“สลากเพื่อสังคม” หรือ Social Lottery ซึ่งจะเป็นจิ๊กซอร์สู่วงเงินสินเชื่อพิเศษ 2,000 ล้านบาท ให้กับกิจการเพื่อสังคม(SE) ที่จะเริ่มปล่อยวงเงินกู้ประมาณเดือนกันยายน
สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) เผยสลากเพื่อสังคม ตอบโจทย์ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วม ชู 4 ประเภทกิจการเพื่อสังคม มี 170 กิจการเข้าข่ายเกณฑ์คุณสมบัติที่ได้รับการรับรอง
การออกสลากเพื่อสังคม เป็นความร่วมมือของสองธนาคารของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมกับสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) นับว่าเป็นครั้งแรกที่เข้าไปวางรากฐานรูปแบบการลงทุนทางสังคม และระบบสินเชื่อพิเศษสำหรับกิจการเพื่อสังคมที่มีความพร้อมต่อการลงทุน (Investment Readiness) เพื่อรองรับกิจการเพื่อสังคมคุณภาพที่ยั่งยืน
เนื่องจากกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE) ซึ่งเป็นนิติบุคคลรูปแบบหนึ่งซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ แต่กิจการจำนวนไม่น้อยกลับมีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้ยาก ทำให้กิจการที่ดีมีอัตราการอยู่รอดและเติบโตในอัตราต่ำ
สลากเพื่อสังคม ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วม
ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) กล่าวว่าการออกสลากเพื่อสังคม หรือ Social Lottery จะเป็นมาตรการทางการเงินเข้าไปช่วยตอบโจทย์ทางการเงินให้กับกิจการเพื่อสังคมที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งวงล้อของการปล่อยสินเชื่อลักษณะพิเศษนี้สามารถทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วม
หมายความว่า ธนาคารออมสิน และ ธกส.ซึ่งเป็นธนาคารผู้ให้สินเชื่อ สามารถใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อโดยดูผลตอบแทนทางสังคมควบคู่ไปกับผลตอบแทนทางการเงิน โดยมีอัตราทรัพย์สินค้ำประกันต่อวงเงินกู้ต่ำ และมีระยะเวลาในการผ่อนชำระยาวขึ้น ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราลูกค้าชั้นดี เพราะมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกัน ซึ่งจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปกติร้อยละ 9-10 ก็เหลือประมาณร้อยละ 5-6 ในระยะเวลา 5-7 ปี
ขณะเดียวกันทั้งสองธนาคารก็จะออกสลากพิเศษ หรือที่เรียกว่า สลากเพื่อสังคม ออกจำหน่ายเพื่อระดมทุนมาพัฒนาระบบสินเชื่อแบบเฉพาะได้โดยการชักชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม ซึ่งเป็นอีกแนวทางในการทำประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ส่วนประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นลูกค้าที่เข้ามาซื้อสลากนี้ก็มั่นใจได้ว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี และยังถือว่าเป็นการทำให้ตนเองได้มีส่วนร่วมช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็เป็นการช่วยสังคม แต่ที่ดีกว่าการบริจาคก็คือเงินบริจาคไม่หายไป เพราะมูลค่าของสลากยังคงวงเงินต้นพร้อมผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย
4 ประเภท 170 กิจการเข้าข่าย
ปัจจุบันมีรายชื่อกิจการเพื่อสังคมที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลทั้งสิ้นจำนวน 480 กิจการ ในจำนวนดังกล่าวภายหลังจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามี 170 กิจการที่เข้าข่ายจะผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่ได้รับการรับรอง โดยที่ สกส. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คัดกรอง และออกใบรับรองคุณสมบัติให้กับกิจการที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเพื่อรับการสนับสนุนทางการเงิน
ในจำนวนดังกล่าวมีการแบ่งออกเป็นชนิดขององค์กร ดังนี้
-ผู้ประกอบการรายย่อย หรือกลุ่มผู้ประกอบการ จำนวน 25 กิจการ หรือ ร้อยละ 14.5
-บริษัทจำกัด จำนวน 62 กิจการ หรือ ร้อยละ 37
-มูลนิธิ/ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร/ องค์กรสาธารณะประโยชน์ จำนวน 27 กิจการ หรือ ร้อยละ 16
-องค์กรชุมชน/ วิสำหกิจชุมชน/ สหกรณ์ จำนวน 55 กิจกำร หรือ ร้อยละ 32.5
ข้อมูลข้างต้นนี้ คือข้อมูล ณ เดือน เมษายน 2558 โดยมีกลุ่มองค์กรชุมชนที่มีอยู่ระบบฐานข้อมูลอีกประมาณ 770 แห่ง (จังหวัดละ 10 แห่ง) ที่ยังต้องรอการลงตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ประเภทของกลุ่มกิจการที่ได้รับการรับรองคุณสมบัติจาก สกส. ได้แก่ 1) เกษตรอินทรีย์ การผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ระบบตลาดอินทรีย์ที่เป็นธรรม 2) พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด 3)การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรม 4)ระบบบริการสาธารณะของท้องถิ่น
“ผมคาดว่าเมื่อประกาศรายชื่อแล้วจะกระตุ้นให้กิจการเพื่อสังคมเข้ามารับรองมากขึ้น ตามกำหนดระยะเวลาของการเปิดขายสลากเพื่อสังคม ระหว่างวันที่ 12-31 สิงหาคม 2558 และคาดว่าเมื่อได้ครบวงเงิน 2,000 ล้านบาท ก็จะนำไปพัฒนาเป็นโปรแกรมสินเชื่อเพื่อกิจการเพื่อสังคม (SE Lending Scheme) ที่คาดว่าจะปล่อยให้กับกิจการเพื่อสังคมได้ประมาณเดือนกันยายน 2558”
ทั้งนี้ กิจการเพื่อสังคม 2 กลุ่ม ที่จะได้รับสินเชื่อจากการจำหน่ายสลากเพื่อสังคม ได้แก่
1)กิจการเพื่อสังคมระยะเริ่มต้นที่มีศักยภาพสูงจำนวน 100 กิจการ
2)วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม (ที่ยกระดับจากวิสาหกิจชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรการเงินชุมชน และ สหกรณ์) จานวน 1,000 กิจการ
ณัฐพงษ์ ย้ำว่าอยากพิสูจน์ให้เห็นว่ากิจการเพื่อสังคม มีกิจการที่ดีหากสนับสนุนให้เขามีความพร้อมทางการเงิน และถ้าหากว่ากิจการเหล่านี้สามารถชำระหนี้ และมีเอ็นพีแอลต่ำ ทราบมาว่าภายใน 1 ปีหลังปล่อยกู้ ทางธนาคารก็ยินดีให้ส่วนลดอัตราดอกเบี้ย (Rebate) ลงอีก รวมถึงการเปิดขายสลากเพื่อสังคมเพิ่ม ส่วนการยกระดับบทบาทให้เป็นธนาคารเพื่อสังคม เราก็คาดหวังว่าจะเป็นแนวทางพัฒนาต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
1.กิจการเพื่อสังคมระยะเริ่มต้นที่มีศักยภาพสูงจำนวน 100 กิจการ ที่มียอดรายรับต่อปี 1,000 ล้านบาท ครอบคลุมเครือข่ายชุมชนผู้ได้รับประโยชน์ 10,000 คน (ผ่านระบบห่วงโซ่อุปทาน บริโภคสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ) การจ้างงานคนด้อยโอกาส 500 คน
2.วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม (ที่ยกระดับจากวิสาหกิจชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรการเงินชุมชน และ สหกรณ์) จำนวน 1,000 กิจการ ที่มียอดรายรับต่อปี 5,000 ล้านบาท ครอบคลุมเครือข่ายชุมชนผู้ได้รับประโยชน์ 50,000 ครัวเรือน (ผ่านระบบห่วงโซ่อุปทาน บริโภคสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ) การจ้างงานคนด้อยโอกาส 10,000 คน
หมายเหตุ: คำนวนจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลเดิมและการวิเคราะห์เป้าหมายที่เป็นไปได้ที่
1 กิจการเพื่อสังคม: รายรับ 10 ล้านบาท: ผู้ได้รับประโยชน์ 100 คน: การจ้างงานผู้ด้อยโอกาส 5 คน
2 วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม: รายรับ 5 ล้านบาท: ผู้ได้รับประโยชน์ 50 ครัวเรือน: การจ้างงานผู้ด้อยโอกาส 10 คน
SE เครื่องมือคัญในการปฏิรูปองค์กรในสังคม
กิจการเพื่อสังคม ถือเป็นแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายทางสังคมได้อย่างมีนวัตกรรม เท่าทันกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
1.ยกระดับองค์กรสาธารณะประโยชน์และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีปริมาณกว่า 10,000 แห่ง และมีเงินทุนสะสมกว่า 70,000 ล้านบาท ให้เข้ามามีบทบำทสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล ดังเช่น กรณีของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง (ดอยตุง) และ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ที่สามารถเกิดกิจการสร้างรายได้จากฐานงานพัฒนาของตนเองจนทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน และ สร้างผลกระทบทางสังคมได้ในปริมาณสูง
2.เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสนับสนุนของภาคเอกชน ที่มีเงินทุน CSR กว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีให้สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนในรูปแบบกิจการเพื่อสังคมแทนที่การจัดทำกิจกรรมแบบครั้งคราว
3สร้างทางเลือกของรูปแบบบริหารจัดการของ องค์กรทางวิชาการ และ องค์กรภาครัฐ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งในส่วนของเงินทุนวิจัยที่มีกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีที่มีงานวิจัยคุณภาพที่สามารถนำมาต่อยอดบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้อย่างมาก และ เงินในระบบบริการสาธารณะทั้งเรื่อง สุขภาพ การศึกษา การจัดการสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่อย่างมากมาย เพื่อทำให้เกิดทางเลือกที่สามระหว่างการจัดการโดยภาครัฐเองที่อาจขาดความพร้อมและประสิทธิภาพ และ ภาคเอกชน (ผ่านระบบสัมปทาน) ที่อาจไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นความสำคัญสูงสุด