สถาบันอาหารเผยข้อมูลตลาดส่งออกอาหารของไทยในกลุ่มประเทศ CLMV อนาคตไกล ปี 2558 สัดส่วนพุ่งเป็นร้อยละ 53 ของตลาดอาเซียน มูลค่าส่งออก 122,947.5 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.92 คาดปี 59 อาหารแปรรูปหมวดเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม และน้ำผักผลไม้ยังคงมีแนวโน้มเติบโต แนะเอสเอ็มอีส่งออกมือใหม่ควรเริ่มเจาะตลาดตามแนวชายแดนไทยก่อนค่อยขยายสู่เมืองหลักเพื่อลดความเสี่ยง พร้อมเข้าร่วมงานแฟร์เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยตลาดข้อมูลส่งออกอาหารของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, พม่า,เวียดนาม) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 15.94 ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกอาหารไปอาเซียนเฉลี่ยมีอัตราขยายตัวเพียงร้อยละ 9.19 ต่อปี โดยปี 2558 ที่ผ่านมามูลค่าส่งออกอาหารไปตลาดอาเซียนเท่ากับ 231,433.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.65 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ส่วนมูลค่าส่งออกอาหารไป CLMV ในปี 2558 เท่ากับ 122,947.5 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 16.92
ทั้งนี้ พม่าเป็นประเทศที่ไทยส่งออกในสัดส่วนมากที่สุดราวร้อยละ 32 รองลงมาคือ เวียดนาม ร้อยละ 31.5 กัมพูชา ร้อยละ 20.5 และ สปป.ลาว ร้อยละ 16 โดยพบว่าสัดส่วนของมูลค่าส่งออกอาหารไปยัง CLMV มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับภาพรวมการส่งออกไปอาเซียน กล่าวคือ ปี 2554 มูลค่าส่งออกอาหารไป CLMV คิดเป็นร้อยละ 38 ของมูลค่าส่งออกอาหารไปอาเซียนทั้งหมด และในปี 2558 สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 53 แสดงให้เห็นว่า CLMV คือตลาดอาเซียนใหม่ที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับเอสเอ็มอีกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
“ในปี 2558 สินค้าอาหารแปรรูปในหมวดเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นมของไทยมีกลุ่มประเทศ CLMV เป็นตลาดส่งออกหลัก ส่วนน้ำผักผลไม้ก็เป็นสินค้าที่มีการขยายตัวได้ดี คาดว่าในปี 2559 จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ดีมีคุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าและการลงทุน”
นายยงวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของ IMF ที่ประเมินภาวะเศรษฐกิจของประเทศ CLMV พบว่าในปี 2559 นี้อัตราขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้นของทั้งกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศไทย โดยกัมพูชาและ สปป.ลาวเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 7.1 และ 7.9 ตามลำดับ ส่วนพม่าอัตราเติบโตของเศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูง คือร้อยละ 8.3 ขณะที่เวียดนามจะมีอัตราเติบโตร้อยละ 6.4 ส่วนไทยคาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 3.2 และเมื่อพิจารณากำลังซื้อของผู้บริโภคก็พบว่า ทั้ง CLMV ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจที่เติบโต ทำให้เกิดการจ้างงานและมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคกัมพูชามีอำนาจซื้อเฉลี่ยต่อคนต่ำที่สุด ขณะที่ผู้บริโภค สปป.ลาวและพม่ามีกำลังซื้อเฉลี่ยต่อคนใกล้เคียงกัน ส่วนเวียดนามมีอำนาจซื้อเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดใน 4 ประเทศ
สถาบันอาหารได้ทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคใน CLMV เกี่ยวกับการบริโภคอาหารแปรรูป พบว่า กัมพูชา ชาวกัมพูชามักจะทำอาหารด้วยตนเองเป็นประจำทุกวัน คิดเป็นร้อยละ 35.2 โดยในปัจจุบันพฤติกรรมการรับประทานอาหารสำเร็จรูปประเภทต่างๆ ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากนัก เช่นเดียวกับ สปป.ลาว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 97.0 มีพฤติกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน มีความถี่ในการรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็ง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนอาหารแปรรูปกระป๋องมีความถี่ในการรับประทาน 1-2 ครั้งต่อเดือนมากที่สุด ร้อยละ 90 เลือกบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูป ได้แก่ (1) เครื่องดื่มจำพวกน้ำผลไม้พร้อมดื่ม (2) เครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ น้ำปั่น (3) นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต โดยมีความถี่ในการบริโภค 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เท่ากันทุกชนิดมากที่สุด
สำหรับพม่า กลุ่มตัวอย่างบริโภคอาหารแปรรูป (1) ขนมขบเคี้ยวประเภทถั่วและธัญพืช คิดเป็นร้อยละ 87.0 ด้วยความถี่ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ (2) ขนมขบเคี้ยวประเภทขนมปังกรอบ เคยกินคิดเป็นร้อยละ 78.7 ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ (3) ขนมหวานจำพวกวุ้น เยลลี เคยกินคิดเป็นร้อยละ 62.0 ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ (4) หมูยอ กุนเชียง หมูหยอง แหนม เคยกินคิดเป็นร้อยละ 59.7 ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อเดือน (5) ผักผลไม้แปรรูป : ดอง แช่อิ่ม อบแห้ง เคยกินคิดเป็นร้อยละ 40.0 ด้วยความถี่ 1 ครั้งต่อเดือน (6) อาหารแปรรูปไขมันและแป้งน้อย เคยกินคิดเป็นร้อยละ 34.3 ด้วยความถี่ประมาณ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ (7) อาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็งนั้นผู้บริโภคชาวพม่าไม่เคยบริโภคมากถึงร้อยละ 95.0 และอาหารแปรรูปกระป๋องนั้น โดยรวมแล้วเคยรับประทานอยู่ที่ร้อยละ 74.0 มีความถี่ 1 ครั้งต่อเดือนมากที่สุด
ด้านเวียดนาม ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านมากถึงร้อยละ 98.0 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีความถี่ในการรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนอาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็งและอาหารแปรรูปกระป๋องมีความถี่ในการรับประทาน 1-2 ครั้งเดือนมากที่สุด โดยชาวโฮจิมินห์ส่วนใหญ่นิยมรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูป อาหารแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารกระป๋องมากกว่าชาวฮานอย กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 90 เลือกบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูป ได้แก่ (1) เครื่องดื่มจำพวกน้ำผลไม้พร้อมดื่ม (2) เครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ น้ำปั่น (3) นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต โดยมีความถี่ในการบริโภค 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์
นายยงวุฒิกล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา มีร้านค้าสมัยใหม่เกิดขึ้นมาก ศักยภาพของตลาดที่ขยายตัวเนื่องจากการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเมืองสำคัญ แนวโน้มตลาดอาหารแปรรูปยังมีโอกาสให้ขยายตัวได้อีกมาก ผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของอาหารไทยที่แข็งแรงด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยยังมีอนาคตสดใสในตลาด CLMV สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังไม่มีประสบการณ์ แต่มีความสนใจส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปเข้าสู่ตลาด CLMV ควรเจาะตลาดตามแนวชายแดนก่อน เมื่อมีแนวโน้มดีจึงค่อยรุกเข้าสู่ตลาดในเมืองหลักตามลำดับเพื่อลดความเสี่ยง หรืออาจเริ่มต้นจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้ากับหน่วยงานภาครัฐของไทย และรับคำแนะนำจากทูตพาณิชย์ของไทยประจำประเทศต่างๆ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *