สถาบันอาหาร เผยปี 2558 มูลค่าส่งออกอาหารของไทยไปประเทศพม่า เติบโตสูงถึงร้อยละ 23.90 ขึ้นแท่นตลาดส่งออกอันดับ 4 และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน มูลค่า 39,229.82 ล้านบาท คาดปี 2559 แนวโน้มขยายตัวดี ร้อยละ 8.39 แนะผู้ประกอบการอาหารไทยแปรรูป คว้าโอกาส
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า ในปี 2558 การส่งออกอาหารของไทยไปสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) มีมูลค่า 39,229.82 ล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 23.90 ปัจจุบันพม่าเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 4 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.35 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดรองจากญี่ปุ่น ร้อยละ 13.5 สหรัฐอเมริการ้อยละ 11.4 และจีนร้อยละ 8.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ พม่ายังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 16.95 จากมูลค่าส่งออกตลาดอาเซียนทั้งหมด 231,433.17 ล้านบาท สินค้าส่งออกอันดับ 1 คือ น้ำตาลทราย คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 21 รองลงมาคือเครื่องดื่มให้พลังงาน, เบียร์, วิสกี้, ครีมเทียม, อาหารทางการแพทย์, กาแฟสำเร็จรูป, น้ำมันปาล์ม และขนมปังกรอบ
นายยงวุฒิกล่าวต่อว่า จากข้อมูลของ IMF พบว่าในปี 2559 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูง คือ ร้อยละ 8.397 ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ผู้ประกอบการของไทยควรให้ความสนใจ ถือเป็นโอกาสในการเข้าไปรุกตลาดพม่า โดย Euro monitor ประเมินว่าอัตราขยายตัวเฉลี่ยของมูลค่าตลาดอาหารแปรรูปในพม่าในช่วงปี 2557-2561จะมีอัตราถึงร้อยละ 15 ต่อปี ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วงเดียวกันนี้ถึงร้อยละ 23 ต่อปี
จากการเติบโตของตลาดส่งออกอาหารในพม่าดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันอาหารได้นำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยจำนวน 20ราย เข้าร่วมงาน Myanmar International Franchise & SME Expo 2016 ณ เมืองย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) นำผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปไปจัดแสดงและเจรจาธุรกิจ เช่น ไข่มดแดงกระป๋อง, เห็ดเผาะกระป๋อง, ซาลาเปาลาวา, หมี่โคราชกึ่งสำเร็จรูป, ชาสมุนไพร, เครื่องดื่มเม็ดแมงลักกลิ่นผลไม้, เครื่องดื่มน้ำส้มแขก และกล้วยน้ำว้าอบแห้ง เป็นต้น เพื่อเปิดตลาดพม่า
ทั้งนี้ จากการทำแบบสอบถามกับผู้เข้าร่วมงานจำนวน 100 คน ทำให้ทราบว่าชาวพม่ารู้จักอาหารไทยเป็นอย่างดี เนื่องจากคุ้นเคยกับรสชาติอาหาร เพราะมีอาหารไทยหลายอย่างที่มีรสชาติใกล้เคียงกับของพม่าโดยนิยมบริโภคอาหารประเภทเส้น ชอบวิธีการผัดมากกว่าการต้ม ไม่ติดหวาน เน้นรสเค็ม และไม่นิยมใช้กะทิในการประกอบอาหาร
สำหรับงานแสดงสินค้าครั้งนี้มีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วมงานรวม 80 บริษัท เป็นบริษัทภายในประเทศพม่า 48 บริษัท หรือร้อยละ 60 จากต่างประเทศ 32 บริษัท หรือร้อยละ 40 ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ อินเดีย ฮ่องกง และอินโดนีเซีย ประเภทสินค้าที่จัดแสดงและสินค้าที่มีศักยภาพได้แก่ อาหารสำเร็จรูป, น้ำปรุงรส, ผลไม้แปรรูป, แฟรนไชส์ขนาดเล็ก, เครื่องสำอาง และสินค้าเพื่อสุขภาพ มีจำนวนผู้เข้าชมงาน 3,758 คน ประเมินว่าจากการเจรจาธุรกิจในภาพรวมของงาน คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการซื้อขายภายใน 1 ปี รวม 16 ล้านเหรียญสหรัฐ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *