กรมพัฒนาธุรกิจการค้าปฏิวัติบริการตรงใจผู้ประกอบธุรกิจ จัดเต็ม ‘การจดทะเบียนธุรกิจ’ เสร็จสิ้นใน 1 วัน พร้อม ‘การเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียน’ แสนง่าย มีทางเลือก ‘ปรับปรุงกฎหมาย’ ให้ทันสมัย และนำ ‘เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการให้บริการ’ ส่งงบการเงิน ตรวจค้นข้อมูล
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมฯ ได้พัฒนาการให้บริการจดทะเบียนธุรกิจและข้อมูลธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอบริการที่สะดวก รวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจ ดังนั้น กรมฯ จึงได้ทบทวนและพิจารณาแนวทางการให้บริการอยู่เป็นระยะ ประกอบกับเปิดรับฟังเสียงจากผู้ประกอบธุรกิจภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป เพื่อนำมาปรับปรุงบริการให้สอดคล้องกับความต้องการ
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ปรับรูปแบบการจดทะเบียนธุรกิจให้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจมือใหม่ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น จากการติดต่อรับบริการและชำระค่าธรรมเนียมเพียงจุดเดียว และยังสามารถเชื่อมโยงบริการ ณ จุดเดียว (Single Point) กับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของกรมสรรพากร การขึ้นทะเบียนนายจ้างของสำนักงานประกันสังคม และการยื่นสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีมีลูกจ้างมากกว่า 10 คนขึ้นไปของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฯ จะมีผลบังคับทันทีนับแต่นายจ้างจัดทำและประกาศใช้
สำหรับการบูรณาการกับ 3 หน่วยงานครั้งนี้เรียกได้ว่าจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจในการเป็นศูนย์กลางการยื่นเอกสารแค่เพียงครั้งเดียวแต่ได้ครบทุกกระบวนการ และไม่ว่าธุรกิจจะจัดตั้งอยู่ที่ใดก็สามารถใช้บริการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขตจังหวัดได้ทั่วประเทศ สำหรับงานบริการด้าน ‘การเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียน’ กรมฯ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การยื่นคำขอจดเพิ่มหรือยกเลิกสำนักงานสาขาให้แจ้งเฉพาะสาขาที่จะทำการเพิ่มเติมเท่านั้น (จากเดิมต้องแจ้งข้อมูลสาขาทั้งหมด) ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาการเตรียมเอกสาร และลดปริมาณการใช้กระดาษได้อย่างมาก รวมไปถึงยังเพิ่มเติมกลุ่มบุคคลที่สามารถลงลายมือชื่อรับรองเอกสารได้จากเดิมมีจำนวน 139,399 ราย เป็น 196,923 ราย ส่งผลให้การจดทะเบียนมีความคล่องตัว และเกิดทางเลือกในการหาบุคคลที่จะมารับรองลายมือชื่อมากขึ้น
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ ‘ปรับปรุงกฎหมาย’ ที่กำกับดูแลให้ทันสมัยและเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ อาทิ การเพิ่มช่องทางประชุมกรรมการโดยสามารถสื่อสารผ่านเทคโนโลยีได้ จากเดิมที่ต้องมาประชุม ณ สถานที่นัดประชุมวิธีเดียว การทบทวนบัญชีท้ายตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ทุกปี โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาได้ปรับปรุงให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจสำนักงานผู้แทนธนาคาร ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัยไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอีกต่อไป การเพิ่มเติมให้ธุรกิจบริการต้องมาจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อครอบคลุมธุรกิจมากยิ่งขึ้น การให้บริการข้อมูลธุรกิจออนไลน์โดยเชื่อมต่อข้อมูลนิติบุคคลระหว่างหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 42 หน่วยงาน และในอนาคตอันใกล้จะมีกฎหมายจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลคนเดียว โดยขณะนี้กำลังทำการศึกษา รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทางกรมฯ จะเชื่อมโยง ‘เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการให้บริการ’ มาปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ พัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ ขณะนี้กรมฯ ได้เปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ซึ่งกรมฯ ได้กรอกข้อมูลงบการเงินประจำปี 2557 ให้นิติบุคคลไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อช่วยลดระยะการดำเนินการ และระบบนี้ยังสามารถนำข้อมูลทางการเงินมาวิเคราะห์เศรษฐกิจของไทยได้อย่างเที่ยงตรง และบริการข้อมูลได้ทันต่อสถานการณ์ด้วย รวมไปถึงการให้บริการข้อมูลนิติบุคคลผ่านทางแอปพลิเคชัน DBD e-Service ที่ปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ถึงงบการเงินด้านต่างๆ และร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับนวัตกรรมที่พร้อมจะให้บริการในปี 2560 คือ บริการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (e-Registration) ลดระยะเวลา ขั้นตอนการยื่นเอกสาร การใช้กระดาษ ซึ่งจะผลักดันไปสู่การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐแบบ Paperless อย่างสมบูรณ์
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *