ขนาดเล็กแค่ประมาณนิ้วก้อย แต่สามารถให้พลังงานความร้อนได้สูงและสม่ำเสมอ ที่สำคัญนำเศษเหลือทิ้งจากการเกษตรกลับมาใช้ประโยชนได้ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เหล่านี้คือคุณสมบัติของ “เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด” (Biomass Pellets) หรือที่อาจเรียกกันต่างๆ เช่น เชื้อเพลิงแท่งตะเกียบ หรือเชื้อเพลิงอัดเม็ด เป็นต้น
ด้วยเทรนด์โลกปัจจุบันที่ทุกฝ่ายใส่ใจเรื่องพลังงานเพื่ออนาคต “บริษัท เอส.วาย.เอส.เพลเลท มิลล์ จำกัด” กระโดดเข้าสู่วงการธุรกิจนี้ โดย “จาตุรงค์ ชาติสถาพร” กรรมการผู้จัดการ เผยว่า ครอบครัวทำธุรกิจโรงสีข้าว ในกระบวนการผลิตมีเศษ “แกลบ” เหลือทิ้งจำนวนมาก ก่อปัญหาทั้งเรื่องฝุ่นละออง และพื้นที่เก็บ ดังนั้น เพื่อจะหารายได้จากเศษแกลบ จึงเริ่มทำธุรกิจค้าขายวัสดุเศษทิ้งจากการเกษตร หรือชีวมวล (Biomass) เมื่อปี พ.ศ. 2555
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการค้าชีวมวล เช่น ขี้เลื่อย ฟาง แกลบ ชานอ้อย ฯลฯ คือคุมความชื้นได้ยากเมื่อนำไปทำเชื้อเพลิง ความร้อนจึงไม่สม่ำเสมอ แถมมีน้ำหนักเบาแต่ขนาดใหญ่ ทำให้สิ้นเปลืองค่าขนส่ง เมื่อกลางปีที่แล้ว (2558) ได้ตั้ง “บริษัท เอส.วาย.เอส.เพลเลท มิลล์ จำกัด” เพื่อปิดจุดอ่อน ด้วยการทำธุรกิจผลิตและขาย “เชื้อเพลิงอัดเม็ด”
จาตุรงค์อธิบายเสริมว่า กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ด คือนำเศษวัตถุดิบเหลือทิ้งการเกษตร ผ่านกระบวนการย่อยและลดความชื้น แล้วอัดเป็น “เม็ด” หรือ “แท่ง” ขนาดยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ซึ่งจะมีความหนาแน่นสูงมาก คุณสมบัติเด่น ความชื้นต่ำไม่เกิน 10% ในขณะที่พืชพลังงานทั่วไปความชื้นเฉลี่ยถึง 30-40% สามารถให้ความร้อนสม่ำเสมอ และค่าความร้อนสูงถึง 4 พันกิโลแคลอรี ขนาดเล็กขนส่งง่าย อีกทั้งมีควันและขี้เถ้าน้อยจึงช่วยลดมลพิษทางอากาศ ในปัจจุบันถือเป็นพลังงานทางเลือกที่มีคุณภาพดีสุด
“การทำเชื้อเพลิงอัดเม็ดในต่างประเทศมีมานานมากแล้ว เช่นเดียวกับทางภาคใต้ของไทย มีโรงงานผลิตหลายสิบแห่ง โดยจะเน้นเพื่อการส่งออก สาเหตุที่ผมสนใจมาทำธุรกิจนี้เพราะได้ต่อยอดธุรกิจครอบครัวที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ทั้งเรื่องวัตถุดิบ ทีมช่าง และมีรถบรรทุก 33 คันสามารถไปส่งสินค้าได้เอง ประกอบกับผมมองว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจของโลกอนาคต ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญต่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาครัฐก็ให้สนับสนุนธุรกิจประเภทนี้มาก” เจ้าของธุรกิจหนุ่มกล่าว
ในด้านการลงทุน เขาเผยว่า ในทุนส่วนตัวทั้งหมด แบ่งเป็นค่าก่อสร้างโรงงานกว่า 60 ล้านบาท และค่านำเข้าเครื่องจักรจากประเทศจีน ประมาณ 10 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ใน จ.สุพรรณบุรี ซึ่งโซนดังกล่าวมีโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราเปิดอยู่หลายแห่ง จึงสามารถหาวัตถุดิบ “ขี้เลื่อย” มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ดได้ง่าย
เบื้องต้นโรงงานใช้วัตถุดิบแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ด ได้แก่ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา แกลบ และขุยมะพร้าว โดยรับซื้อจากแหล่งต่างๆ อย่างขี้เลื่อยจากไม้ยางพาราจะรับซื้อในราคาตันละ 1,300-1,400 บาท เมื่อแปรรูปเป็น “เชื้อเพลิงไม้อัดเม็ด” (Wood Pellet) ขายได้ในราคาตันละ 2,700-3,000 บาท เมื่อหักต้นทุนวัตถุดิบและการผลิตทั้งหมดแล้ว เหลือเป็นกำไรสุทธิประมาณ 10-15%
จาตุรงค์เผยว่า ปัจจุบันมียอดผลิต ประมาณวันละ 50 ตัน ส่วนด้านการตลาดจะนำสินค้านี้ไปเสนอขายยังโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด ให้ความร้อนสม่ำเสมอ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนการใช้พลังงานอย่างน้ำมันเตา ถ่านหิน หรือก๊าซ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้า เช่น โรงงานสิ่งทอ โรงงานผลิตน้ำมันพืช และโรงงานผลิตอาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เขาได้สะท้อนปัญหาของธุรกิจ เวลานี้วัตถุดิบยังมีไม่ต่อเนื่อง และไม่เพียงพอต่อความต้องการ แถมต้องพึ่งขี้เลื้อยจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์เป็นหลักเท่านั้น เพราะเครื่องจักรยังไม่สามารถแปรรูปวัตถุดิบลักษณะอื่นๆ ได้ เช่น ไม้สับ หรือไม้ท่อน อีกทั้งกำลังผลิตน้อย กำไรต่ำ ทำให้ระยะเวลาคืนทุนนาน นอกจากนั้นยังถือเป็นหน้าใหม่ในวงการธุรกิจนี้ด้วย
“จากจุดอ่อนเหล่านี้ แนวทางแก้ไข ผมเข้าร่วมกลุ่มเครือข่าย SME (โครงการภาครัฐ โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ร่วมกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ เพิ่มคู่พันธมิตรทางการค้า และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน” จาตุรงค์เผย
นอกจากนั้น เตรียมเปิดโรงงานแห่งใหม่อยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ภายใต้งบลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ช่วยเพิ่มกำลังผลิตเป็น 100 ตันต่อวัน เสริมให้ธุรกิจมีศักยภาพในการหารายได้สูงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจหลักโรงสีข้าว ผลประกอบการปีที่ผ่านมา (2558) ประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ด คาดเมื่อครบ 1 ปีที่ดำเนินงานจะมีรายได้ประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งตามแผนธุรกิจจะคืนทุนในเวลา 4-5 ปี
เขากล่าวในตอนท้ายว่า เชื่อธุรกิจนี้มีแนวโน้มจะเติบโตในอนาคต เพราะเรื่องพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการหลายรายหันมาใช้เชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้น การส่งออกไปยังหลายประเทศมีข้อกำหนดว่า สินค้าต้องผลิตจากโรงงานที่ใช้พลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาครัฐให้ความสำคัญ เพราะก่อประโยชน์ต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อภาคเกษตร รวมถึงดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *