xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยแยกขยะไม่ถูกวิธี ไร้ระบบเก็บขยะแบบคัดแยก เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยชี้คนไทยคัดแยกขยะไม่ถูกวิธี ขณะที่ระบบเก็บขยะไปกำจัดไม่มีการเก็บขยะแบบคัดแยกแล้ว สุดท้ายเทกองรวมกัน แล้วใช้คนแยกเพิ่มความเสี่ยงรับเชื้อโรค อันตรายต่อสุขภาพ แนะใช้เครื่องจักร

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขยะสามารถก่อโรคได้มหาศาลมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของขยะ เช่น ขยะมูลฝอยทั่วไป ขยะสิ่งปฏิกูล อุจจาระ ปัสสาวะ จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ก่อโรคทางด้านกระเพาะและสำไส้ และถ้าเป็นขยะติดเชื้อจะยิ่งอันตราย เพราะส่วนใหญ่จะกำจัดที่โรงพยาบาล แต่ปัจจุบันพบว่าในการเก็บขยะตามเทศบาล ชุมชนต่าง ๆ ยังพบขยะติดเชื้อรวมอยู่ด้วย ส่วนหนึ่งคนไข้นำเข็ม หรือไซริงก์ กลับไปที่บ้าน เช่น ผู้ป่วยไตวาย รวมถึงกลุ่มหมอเถื่อน ทำให้ติดเชื้อจากผู้ป่วยเอง นอกจากนี้ ยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีสารตะกั่ว สารเคมีที่เป็นพิษ หากการจัดการขยะไม่ดีจะส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพตามมา ดังนั้น การคัดแยกและทำลายขยะอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ยกตัวอย่างการจัดการขยะอย่างครบวงจรที่ต.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นต้น

นพ.วชิระ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยยังจัดการเรื่องนี้ไม่เป็นระบบ การรณรงค์ให้คัดแยกขยะยังไม่ถูกวิธี เดิมมี 3 วิธี คือ รีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ ปัจจุบันเหลือ 2 วิธี คือ ขยะรีไซเคิล ขยะติดเชื้อก็ยังทำได้ไม่ดี หรือถ้าตามครัวเรือนทำได้ดีแล้ว แต่ระหว่างที่รถมาเก็บขยะตามบ้านก็จะถูกนำมาเทรวมกันอยู่ดี ก่อนจะทำลายก็ต้องมาใช้คนทำการคัดแยกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไปเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคเช่นเดิม แต่จริง ๆ ถ้าเป็นกระบวนการที่ดีการคัดแยกตรงนี้ไม่ควรใช้คนเลย ใช้เครื่องจักรจะสามารถทำได้ดี หากมีการคัดแยกขยะที่ดีตั้งแต่ต้นทาง คือ ครัวเรือน ชุมชน ซึ่งยังขาดมาตรฐานจึงต้องรณรงค์ต่อไป ปัจจุบันกรมอนามัยร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษเรื่องนี้อยู่ โดยกรมควบคุมมลพิษจะดูแลเรื่องการคัดแยก และทำลายขยะ ส่วนกรมอนามัยจะดูแลเรื่องการป้องกันการติดเชื้อจากขยะเป็นหลัก

“วิธีการคือทำงานร่วมกันโดยการณรงค์ให้แยกขยะในครัวเรือน ท้องถิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้มีโรคภัยจากขยะมาสู่คน และนำขยะส่วนหนึ่งมาทำให้เกิดประโยชน์ แต่ประเด็นที่หลักที่อยากจะเน้นคือ การลดการใช้สิ่งของที่จะเพิ่มจำนวนขยะมากขึ้น ควรใช้ของที่ย่อยสลายง่าย เช่น ภาชนะชานอ้อยแทนกล่องโฟม ทั้งนี้ ถ้าเหลือตกค้างก็ขอให้คัดแยก และทำลายอย่างเป็นระบบ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น