กรมอนามัยชี้คนไทยคัดแยกขยะไม่ถูกวิธี ขณะที่ระบบเก็บขยะไปกำจัดไม่มีการเก็บขยะแบบคัดแยกแล้ว สุดท้ายเทกองรวมกัน แล้วใช้คนแยกเพิ่มความเสี่ยงรับเชื้อโรค อันตรายต่อสุขภาพ แนะใช้เครื่องจักร
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขยะสามารถก่อโรคได้มหาศาลมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของขยะ เช่น ขยะมูลฝอยทั่วไป ขยะสิ่งปฏิกูล อุจจาระ ปัสสาวะ จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ก่อโรคทางด้านกระเพาะและสำไส้ และถ้าเป็นขยะติดเชื้อจะยิ่งอันตราย เพราะส่วนใหญ่จะกำจัดที่โรงพยาบาล แต่ปัจจุบันพบว่าในการเก็บขยะตามเทศบาล ชุมชนต่างๆ ยังพบขยะติดเชื้อรวมอยู่ด้วย ส่วนหนึ่งคนไข้นำเข็มหรือไซริงค์กลับไปที่บ้าน เช่น ผู้ป่วยไตวาย รวมถึงกลุ่มหมอเถื่อน ทำให้ติดเชื้อจากผู้ป่วยเอง นอกจากนี้ ยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีสารตะกั่ว สารเคมีที่เป็นพิษ หากการจัดการขยะไม่ดีจะส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพตามมา ดังนั้นการคัดแยกและทำลายขยะอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ยกตัวอย่างการจัดการขยะอย่างครบวงจรที่ต.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นต้น
นพ.วชิระ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยยังจัดการเรื่องนี้ไม่เป็นระบบ การรณรงค์ให้คัดแยกขยะยังไม่ถูกวิธี เดิมมี 3 วิธี คือ รีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ ปัจจุบันเหลือ 2 วิธีคือขยะรีไซเคิล ขยะติดเชื้อก็ยังทำได้ไม่ดี หรือถ้าตามครัวเรือนทำได้ดีแล้ว แต่ระหว่างที่รถมาเก็บขยะตามบ้านก็จะถูกนำมาเทรวมกันอยู่ดี ก่อนจะทำลายก็ต้องมาใช้คนทำการคัดแยกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไปเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคเช่นเดิม แต่จริงๆ ถ้าเป็นกระบวนการที่ดีการคัดแยกตรงนี้ไม่ควรใช้คนเลย ใช้เครื่องจักรจะสามารถทำได้ดี หากมีการคัดแยกขยะที่ดีตั้งแต่ต้นทาง คือครัวเรือน ชุมชน ซึ่งยังขาดมาตรฐานจึงต้องรณรงค์ต่อไป ปัจจุบันกรมอนามัยร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษเรื่องนี้อยู่ โดยกรมควบคุมมลพิษจะดูแลเรื่องการคัดแยก และทำลายขยะ ส่วนกรมอนามัยจะดูแลเรื่องการป้องกันการติดเชื้อจากขยะเป็นหลัก
“วิธีการคือทำงานร่วมกันโดยการณรงค์ให้แยกขยะในครัวเรือน ท้องถิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้มีโรคภัยจากขยะมาสู่คน และนำขยะส่วนหนึ่งมาทำให้เกิดประโยชน์ แต่ประเด็นที่หลักที่อยากจะเน้นคือ การลดการใช้สิ่งของที่จะเพิ่มจำนวนขยะมากขึ้น ควรใช้ของที่ย่อยสลายง่าย เช่นภาชนะชานอ้อยแทนกล่องโฟม ทั้งนี้ถ้าเหลือตกค้างก็ขอให้คัดแยก และทำลายอย่างเป็นระบบ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว