ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจความคิดเห็นถึงทิศทางเศรษฐกิจปีหน้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1 ใน 3 เชื่อเริ่มฟื้นไข้ อานิสงส์มาตรการกระตุ้นภาครัฐเริ่มผลิดอก และปรับตัวแกร่งขึ้น ด้านปัจจัยเสี่ยงส่งออกอ่อนแอ ภัยก่อการร้ายคุกคามทั่วโลก และขาดแคลนบุคลากรฝีมือ คาดGDP SME โต 2.84% แนะจับตาธุรกิจดาวรุ่ง-ร่วงแห่งปีมุ่งสู่ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ขณะที่เอสเอ็มอีไทยแค่ 11% ระบุพร้อมลุย AEC
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 580 รายจากทั่วประเทศ เกี่ยวกับผู้ประกอบการในปี 2558 และการคาดการณ์ผลประกอบการในปีหน้า (2559)
จากการสอบถามว่าผลประกอบการในปี 2558 เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับที่คาดหวังไว้ จำนวน 63.2% บอกต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ 22.4% ใกล้เคียงกับที่คาดหวังไว้ และ14.4% ระบุดีกว่าที่คาดหวังไว้ สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่ำกว่าที่ผู้ประกอบการคาดหวังไว้เหมือนช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในปี 2559 ผู้ประกอบการ 34.6% ระบุว่าดีขึ้น ส่วน 52.5% ใกล้เคียงกับปี 2558 และอีก 12.9% แย่ลง บ่งบอกว่า 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวรับสภาพเศรษฐกิจได้แล้ว และเชื่อว่าปีหน้าผลประกอบการของตัวเองจะดีขึ้น หรืออย่างน้อยสามารถประคองตัวให้ใกล้เคียงกับปีนี้ได้
ดร.เกียรติอนันต์เผยต่อว่า สำหรับคาดการณ์อัตราเติบโต GDP ประเทศในปี 2559 ผลสำรวจระบุเติบโตประมาณ 3.14% อานิสงส์หลักมาจากการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ส่วน GDP SME ปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 2.84% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มผลิดอกออกผล และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้นแล้ว ทว่าการเติบโตของ GDP SME ยังต่ำกว่า GDP ประเทศ เหตุผลเพราะการฟื้นตัวของผู้ประกอบการระดับกลางและเล็กมักจะช้ากว่ารายใหญ่ ทำให้จะเห็นการฟื้นตัวจริงๆ ของเอสเอ็มอีในช่วงไตรมาส 3/2559 หรือเลยไปถึงไตรมาส 1/2560
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ การส่งออกยังอ่อนแอ ซึ่งผู้ประกอบการควรปรับตัวด้วยการหาตลาดใหม่ เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา เป็นต้น นอกจากนั้น ภัยก่อการร้ายที่จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนกำลังซื้อในประเทศยังต่ำ หนี้ครัวเรือนสูงกระทบการจับจ่ายของประชาชน ส่วนความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล หากเงินจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ลงไปถึงมือประชาชนช้าเกินไปย่อมกระทบการใช้จ่ายและความเชื่อมั่น นอกจากนั้น เอสเอ็มอียังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องต่อเนื่อง และที่สำคัญ ผู้ประกอบการไทยมักขาดแคลนแรงงานฝีมือตามที่คาดหวัง
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจเอสเอ็มอีในปี 2559 ด้วยการให้คะแนน 1-5 คะแนน (เสี่ยงน้อย-เสี่ยงมาก) ได้ผลดังนี้ กำลังซื้อในประเทศ ได้ 4.8 คะแนน สภาพคล่องทางการเงิน ได้ 4.3 คะแนน ภาวะเศรษฐกิจโลก ได้ 4.2 คะแนน การขาดแคลนแรงงานที่ตรงต่อความต้องการ ได้ 4.1 คะแนน ต้นทุนการผลิตและการแข่งขันกับธุรกิจจากต่างประเทศ ได้ 3.8 คะแนนเท่ากัน การก่อการร้าย ได้ 3.7 คะแนน และสาเหตุอื่นๆ เช่น การเมือง ภัยธรรมชาติ และการขาดแคลนวัตถุดิบ ได้ 2.6 คะแนน
“จากการสอบถามเรื่องปัจจัยเสี่ยง คำตอบชี้ว่า ปัญหาสำคัญจริงๆ ของเอสเอ็มอีไทย คือ กำลังซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึง ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาก่อการร้ายเกิดขึ้นทั่วโลก สร้างความไม่เชื่อมั่นในการจับจ่ายและท่องเที่ยว นอกจากนั้น การขาดแคลนแรงงานฝีมือ หรือบุคลากรเก่งๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีในปี 2559 ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหาขาดแรงงานฝีมือรุนแรงกว่าประเทศเพื่อนบ้านถึง 3 เท่า นักศึกษาจบใหม่ที่ออกมาจากภาคการศึกษาไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน เห็นได้จากภาษาอังกฤษที่ประเทศไทยด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์” ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กล่าว
ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการเพื่อให้ประเมินว่าธุรกิจที่เป็นดาวรุ่ง 10 อันดับแรกเป็นธุรกิจใดบ้าง ได้ผลดังนี้ 1. อาหารเพื่อสุขภาพ 2. บูติกโฮเต็ล/โฮมสเตย์/โรงแรมราคาประหยัด 3. สายการบินต้นทุนต่ำ 4. ร้านขายอุปกรณ์กีฬาออนไลน์ 5. การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 6. การสอนภาษาอังกฤษ 7. จักรยานและอุปกรณ์ 8. การดูแลสุขภาพ 9. แอปพลิเคชันบนมือถือ และ 10. การขนส่งระยะสั้น/BTS/MRT
โดยจุดรวมของธุรกิจดาวรุ่งในปีหน้า ตรงกันที่เป็นธุรกิจตอบไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบาย และดีต่อสุขภาพ รวมถึงต้องการความคุ้มค่าในสินค้าหรือบริการ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น การทำตลาดผ่านออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเปิดใช้ 4G จะช่วยให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตง่ายยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จะตามมาด้วยการแข่งขันในโลกออนไลน์สูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการควรทำตลาดควบคู่กันทั้งออนไลน์ และลงพื้นที่จริง เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าให้เกิดความใกล้ชิด
สำหรับธุรกิจที่เป็นดาวร่วง 10 อันดับ ได้แก่ 1. รถทัวร์/รถไฟ 2. ร้านกาแฟสด 3. ร้านบุฟเฟต์ราคาถูก (เช่น หมูกระทะ) 4. ร้านอินเทอร์เน็ต 5. เสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก 6. ร้านโชวห่วย 7. อาหารทะเลแปรรูป 8. สายการบินทั่วไป 9. ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ และ 10. ร้านขายโทรศัพท์มือถือมือสอง
โดยข้อสังเกตของธุรกิจที่เป็นดาวร่วงนั้น จะเป็นธุรกิจที่ไม่ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้แล้ว รวมถึงเป็นธุรกิจที่ตลาดใกล้เต็ม เช่นร้านกาแฟที่เปิดจำนวนมาก นอกจากนั้น เป็นธุรกิจที่จับลูกค้าระดับกลางทั่วไปไร้ความโดดเด่น ซึ่งนับวันตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ เพราะการทำตลาดเพื่อผู้บริโภคปัจจุบันควรมุ่งสู่ตลาดบนไฮเอนด์ไปเลย หรือไม่ก็ต้องจับตลาดล่างราคาถูกๆ ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า
ดร.เกียรติอนันต์เผยต่อว่า ในส่วนผลสำรวจความพร้อมของเอสเอ็มอีไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2559 พบว่ามีผู้ประกอบการเพียง 11.4% เท่านั้นที่ระบุว่าพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผู้ที่ยังไม่พร้อมคิดเป็น 75.2% และอีก 13.4% ไม่สนใจจะเตรียมความพร้อม
และเมื่อสอบถามผู้ที่ระบุว่ายังไม่พร้อมว่าต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกนานแค่ไหน 14.7% ระบุว่าไม่เกิน 1 ปี 54.2% ระบุว่าประมาณ 2 ถึง 3 ปี และอีก 6.3% ระบุว่า มากกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ระบุว่าไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่าสาเหตุสำคัญ ได้แก่ 1) การขาดความรู้เกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดของอาเซียน มีผู้ตอบข้อนี้คิดเป็น 53.4%2) ความสามารถของบุคลากร 50.1%3) ขาดพันธมิตร 43.2% 4) ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ 41.4% 5) มาตรฐานของสินค้าและบริการ 40.5% 6) ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร 34.6% 7) ขาดเงินทุน 31.6% 8) ไม่ทราบขั้นตอนในการค้าระหว่างประเทศ 30.2% 9) กำลังการผลิตไม่เพียงพอ 27.8% และ 10) ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอื่น 19.50%
“หากวิเคราะห์สาเหตุที่เอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมเข้าสู่ AEC นั้น ปัจจัยหลัก คือ ขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ AEC ไม่รู้ว่าจะแสวงหาประโยชน์หรือโอกาสได้อย่างไร ตามด้วยไม่มีบุคลากรที่มีความสามารถเพียงพอจะแข่งขันในตลาดอาเซียนได้ ซึ่งประเด็นเรื่องบุคลากรคุณภาพเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนไปถึงภาคการศึกษาของไทยไม่สามารถสร้างแรงงานให้ออกมาตอบสนองภาคธุรกิจได้ดีพอ” ดร.เกียรติอนันต์กล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *