ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ตุลาคม 2558 หดตัวร้อยละ 4.2 แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.52 เผยคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2558 ขยายตัวร้อยละ (-0.5) -(0.5) และปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2-3
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2558 หดตัวร้อยละ 4.2 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยภาพการผลิตของประเทศในเอเชียในช่วงปี 2557 และ 2558 ที่ผ่านมายังมีทิศทางเปราะบางโดยประเทศที่ยังขยายตัวได้อย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวในระดับต่ำ ขณะที่ในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน มี MPI ติดลบในบางช่วงเวลา สอดคล้องกับภาคการผลิตของไทย
สำหรับภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 165,381 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.52 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 67,908 คัน ลดลง ร้อยละ 4.15 การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 111,229 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.07 โดยการส่งออกรถยนต์นั่งมี จำนวน 37,216 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.89 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย ส่วนการส่งออกรถกระบะ 1 ตัน มีจำนวน 66,737 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.16 เป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย รวมทั้งอเมริกากลางและใต้
ส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.41 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD, Other IC และ Semiconductor ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.33 ร้อยละ 15.34 และ 7.01 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง
ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 5.62 กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์ กระติกน้ำร้อน และเตาอบไมโครเวฟ ปรับตัวลดลงร้อยละ 85.68 ร้อยละ 36.02 และ ร้อยละ 23.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลงจึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย
สำหรับ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยตุลาคม ปี 2558 มีปริมาณ 1.44 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 12.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.46 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 11.54 การส่งออกมีมูลค่า 49 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 19.08 การนำเข้า 570 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 28.55 เนื่องจากภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่จึงทำให้กำลังซื้อลดลง
ในส่วนของ อุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้ที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีทิศทางการผลิตที่ชะลอตัวเนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีสถานการณ์ที่ชะลอตัวลง โดยโครงการก่อสร้างของภาคเอกชน เช่น คอนโดมิเนียมประสบปัญหาล้นตลาดแต่ในส่วนของอุตสาหกรรมเหล็กก่อสร้างนั้น ถึงแม้การผลิตจะขยายตัว แต่เหล็กที่ใช้ในการผลิตเป็นเหล็กที่นำเข้าไม่ใช่เหล็กที่ผลิตในประเทศ
ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น การผลิตเส้นใยสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.69 และ 0.56 ตามลำดับ เป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี สำหรับการผลิตผ้าผืนจะชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการผลิตลงตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน
สำหรับการส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ร้อยละ 14.93 จากความต้องการในตลาดคู่ค้าลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย และปากีสถาน ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 6.17 ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม และ สปป.ลาว สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 4.64 จากคำสั่งซื้อในตลาดหลักลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ส่วน อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.1 เนื่องจากสินค้าประมงที่ปรับตัวลดลงมาก จากการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงการผลิตสินค้าหลักอื่นๆ มีทิศทางลดลง เช่น สินค้าผลิตภัณฑ์นม สินค้ากลุ่มธัญพืชและแป้ง อาหารสัตว์ และน้ำตาล อย่างไรก็ตามสินค้ากลุ่ม ปศุสัตว์ คือ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้วยราคาที่ลดลง และจากคำสั่งซื้อไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปของประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงเติบโตส่วนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.5 จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP ของสหภาพยุโรป และปัญหาภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ซบเซาขยายตัวไปยังเศรษฐกิจประเทศอื่น รวมถึงการเติบโตในอัตราที่ลดลงของเศรษฐกิจจีน ส่วนภาวะการใช้จ่ายในประเทศยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง
สำหรับอุตสาหกรรมภาพรวมนั้น ในส่วนของการคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2558 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ (-0.5) -(0.5) (ประเมิน ณ เดือนพฤศจิกายน 2558) และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปี 2559 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2-3 (ประเมิน ณ เดือนพฤศจิกายน 2558)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *