“กรมทรัพย์สินทางปัญญา” เตรียมเชิญกูรูที่มีความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ติวเข้มผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาเปิดตัวสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดอาเซียนและจีน
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดงานสัมมนา เรื่อง “บุกตลาดอาเซียนและจีนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ประสบการณ์ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนและจีน มาให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ เข้าใจระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการแก้ไขปัญหาการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศให้แก่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการที่สนใจทำตลาดอาเซียนและจีน
ทั้งนี้ การมุ่งเจาะตลาดอาเซียนและจีน เนื่องจากในปลายปี 2558 นี้ อาเซียนจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีการเปิดเสรีด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุนเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสในการบุกเจาะตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทย ขณะที่ตลาดจีน ก็มีการเปิดเสรีกับไทย ทั้งในกรอบ FTA ไทย-จีน และอาเซียน-จีน และยังเป็นตลาดสำคัญอันดับ 2 ของไทยรองจากอาเซียน
สำหรับกำหนดการจัดงาน กำหนดไว้ 4 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ภาพรวมการคุ้มครองและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในอาเซียนและจีน วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงแรมดิ เอทัส ลุมพินี กรุงเทพฯ
ครั้งที่ 2 การคุ้มครองนวัตกรรมและการออกแบบ วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
ครั้งที่ 3 เครื่องหมายการค้ากับการสร้างแบรนด์ วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2558 ณ โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
ครั้งที่ 4 การพัฒนาระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศและความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2559 ณ โรงแรมพูลแมน สีลม
นางนันทวัลย์กล่าวว่า ปัจจุบันทรัพย์สินทางปัญญาได้เริ่มมีบทบาทกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องปัญหาและอุปสรรคในการนำเข้า ส่งออกสินค้า โดยกรมฯ ได้ให้ความรู้ในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการนำสินค้าไปบุกตลาดต่างประเทศ และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด เช่น การถูกลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า เนื่องจากไม่ได้นำเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนไว้ในประเทศที่ทำการค้า หรือถูกบุคคลอื่นนำเครื่องหมายการค้าของตนไปจดทะเบียนในต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยจึงควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศที่จะจำหน่ายสินค้า
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าจะเกิดกรณีมีข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ค้าชาวต่างชาติเกิดขึ้น ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะเข้าไปช่วยให้คำแนะนำถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไข และประสานขอความเห็นและความช่วยเหลือจากเครือข่ายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาไทยถูกละเมิดในต่างประเทศ
สำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยที่สนใจจะเข้าร่วมงานดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดการจัดสัมมนาสอบถามได้ที่เบอร์ติดต่อ 0-2547-4652 และทางเว็บไซต์ www.ipthailand.go.th