xs
xsm
sm
md
lg

กรอ.สำรวจเปรียบเทียบกฎระเบียบ 4 ด้านตั้ง รง.อาเซียน รองรับแข่งขัน AEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
“กรมโรงงานอุตสาหกรรม” เดินหน้าเร่งศึกษาข้อมูลการจัดตั้งโรงงานในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 โดยทำการสำรวจ 4 ด้าน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในการทำงาน วัตถุอันตราย สารเคมี และกฎระเบียบข้อบังคับการลงทุน

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในเร็วนี้ ว่า ทางกรมฯได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดตั้งโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศอาเซียน จึงได้จัดทำโครงการ “โครงการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ กฎ ระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย วัตถุอันตรายและสารเคมี ที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

โดยปัจจุบันได้ทำการศึกษาแล้วเสร็จ 5 ประเทศ คือ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า จนได้ผลการเปรียบเทียบกฎระเบียบข้อบังคับ 4 ด้านสำคัญ ดังนี้
1.ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ทุกประเทศที่ศึกษามีกระทรวงสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบสูงสุด นอกจากนี้ยังพบว่าบางประเทศมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยหน่วยงานท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายของตนเองได้ เช่น อินโดนีเซีย ท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายท้องถิ่นบังคับใช้ได้เอง สปป.ลาว มีการมอบอำนาจให้ท้องถิ่นอนุมัติและอนุญาต โครงการด้านสิ่งแวดล้อมบางประเภทได้ เวียดนาม คณะกรรมการสภาประชาชน จังหวัด สามารถอนุมัติโครงการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดของตนได้

2. ด้านความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อนำกฎหมายแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน พบว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คน ต้องจัดให้มีบุคลากรด้านความปลอดภัยประจำที่โรงงาน และเวียดนามได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คน ต้องจัดให้มีบุคลากรด้านความปลอดภัยประจำที่โรงงาน

3. ด้านวัตถุอันตรายและสารเคมี พบว่าแต่ละประเทศมีระบบบริหารจัดการด้านนี้คล้ายคลึงกัน โดยพิจารณาจากปริมาณการผลิต การใช้และนำเข้าสารเคมี รวมถึงความเป็นอันตรายของสารนั้นๆ ซึ่งสารเคมีชนิดเดียวกันอาจมีการควบคุมไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ เช่น ปัจจุบัน กัมพูชาและพม่ามีเพียงกฎหมายควบคุมสารเคมีสำหรับเกษตรกรรม แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ส่วน สปป.ลาวอยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายวัตถุอัตรายและสารเคมี สำหรับไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายและสารเคมีด้วยระบบ GHS หรือ Globally Harmonized System of Classification and Labeling of Chemicals คือระบบสากลการจัดกลุ่มความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก

4. กฎระเบียบข้อบังคับด้านการลงทุน เมื่อพิจารณาการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับการประกอบกิจการของชาวต่างชาติในประเทศที่ได้ทำการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่นักลงทุนชาวต่างชาติไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ แต่สามารถเช่าระยะยาวได้ ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและมิใช่ภาษีอากร ตลอดจนหลักประกันและความคุ้มครองมีรูปแบบคล้ายกัน คือ ต้องยื่นขอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง

จากการเปรียบเทียบกฎระเบียบข้อบังคับทั้ง 4 ด้านดังกล่าว กรอ.แนะนำว่า ผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในแต่ละประเทศที่มีการปรับปรุงอยู่เสมอ ส่วนในการลงทุนจริงผู้ประกอบการอาจใช้บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายช่วยดำเนินการในรายละเอียด เนื่องจากแต่ละประเทศมีขั้นตอนและการตีความบังคับใช้กฎหมายแตกต่างกัน และในปีงบประมาณ 2559 กรมโรงานอุตสาหกรรมจะทำการศึกษาเพิ่มเติมอีก 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน รวมทั้งจีน ณี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยในการลงทุนและแข่งขันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้อยู่ในระดับเดียวกัน เกิดการแข่งขันและพัฒนาอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของอุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างยั่งยืน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0-2202-4108 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น