xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ โมดีทุ่มงบหมื่นล้านฟื้นฟู “คงคา” แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของแดนภารตะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - หลังคว้าชัยในศึกการเลือกตั้งได้เพียง 1 วัน นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ได้ให้คำมั่นว่าจะลงมือทำในสิ่งที่รัฐบาลหลายชุดยังไม่สามารถทำได้ ขณะยืนริมตลิ่งแม่น้ำคงคา ซึ่งก็คือการทำให้แม่น้ำสุดสกปรก ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูในอินเดียสายนี้กลับมาสะอาดอีกครั้ง
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย
นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นที่โจษจันว่า มีความทะเยอทะยานสูง ได้ออกมาให้สัญญาอย่างห้าวหาญ แต่ก็ผ่านการไตร่ตรองมาก่อนว่า จะฟื้นฟูสุขภาพของแม่น้ำที่ผู้นำเคร่งศาสนาคนนี้ระบุว่าเป็น “แม่” ของเขา

หากแผนการนี้สำเร็จก็ก่อให้เกิดผลลัพธ์ยิ่งใหญ่ คือทำให้ผู้สนับสนุนชาวฮินดูรักใคร่เทิดทูนเขายิ่งขึ้นไปอีก และการปรับปรุงแม่น้ำที่ถูกปล่อยปละละเลยมาเนิ่นนาน จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของผู้นำ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานว่ามีชั้นเชิงในการบริหาร

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ท้าทายที่สุดของแผนการนี้อยู่ที่เมืองกันปุระ ทางตอนเหนือของแดนภารตะ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงไปราว 500 กิโลเมตร และเป็นที่รู้จักในฐานะที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องหนัง

แม่น้ำสายนี้ซึ่งเชื่อกันว่า สามารถชำระบาปได้นั้นถูกใช้เป็นที่ระบายสิ่งปฏิกูลของชาวบ้าน 5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ผ่านการบำบัด และของเสียจากอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนสารเคมีปริมาตรหลายล้านลิตร จากโรงกำจัดขยะแห่งหนึ่ง

บรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของอินเดียระบุว่า ผู้จาริกแสวงบุญที่มีศรัทธาแรงกล้าบางส่วนยังแช่ตัวลงในแม่น้ำสายนี้ ทั้งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นอันตราย เนื่องจากมีค่าแบคทีเรียโคลิฟอร์มจากอุจจาระเกินขีดจำกัดถึง 200 เท่า

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งของเสียเหล่านี้ถูกกำจัดออกไปมากแล้ว แต่วิจัย นิชัด คนขับเรือในท้องถิ่นซึ่งนำส่งเหล่าผู้แสวงบุญข้ามผ่านแม่น้ำสายนี้มานานกว่า 15 ปีแล้วก็กล่าวว่า กิจการของเขากำลังได้รับผลกระทบ

เขากล่าวกับเอเอฟพีขณะพายเรือว่า “เมื่อเช้ามีคนราว 100 ถึง 200 คนเดินทางมาอาบน้ำ แต่พวกเขาก็กลับไปโดยที่ยังไม่ได้ลงมาไปในแม่น้ำ เพราะเห็นปลาตาย และได้กลิ่นเหม็นโสโครก”

นิชัดจุ่มมือของตนเองลงในน้ำสีโคลน และช้อนปลาตัวเล็กๆ ที่ลอยตายขึ้นมา

*** ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ***

แม่น้ำคงคาที่ทอดตัวยาวทางตอนเหนือของอินเดีย โดยเริ่มต้นจากเทือกเขาหิมาลัยไปจรดอ่าวเบงกอล เป็นระยะทาง 2,500 กิโลเมตร ยังพาดผ่านแอ่งกระทะ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของประชาชน 400 ล้านคน โดยคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรชาวอินเดียทั้งประเทศ

กันปุระเป็น 1 ใน 4 จุดที่มีมลภาวะสะสมในระดับอันตรายที่สุด ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง เมืองพาราณสีอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่โมดีวัย 63 ปีคว้าชัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินเดียครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม

ราเกช เค. ไจสวาล ผู้ก่อตั้ง “อีโค-เฟรนด์ส” กลุ่มรณรงค์หาเสียงที่มีฐานในเมืองกันประ กล่าวกับเอเอฟพีในเมือง ซึ่งผลิตน้ำเสียปริมาตร 500 ล้านลิตรต่อวัน และมีศักยภาพในการบำบัดราว 160 ล้านลิตรเท่านั้น

กระทรวงสิ่งแวดล้อมอินเดียประมาณการในหนังสือที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ว่า โรงบำบัดน้ำเสีย ของเมืองใหญ่ที่สุดริมแม่น้ำ 50 แห่งมีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสียเพียง 1.2 พันล้านลิตรต่อวันเท่านั้น ขณะที่มนุษย์สามารถผลิตได้ทั้งสิ้น 2.7 พันล้านลิตร

ไจสวาล แสดงท่าทียินดีกับแผนการของโมดีและ อุมา ภารตี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำ และการคืนความสะอาดให้แม่น้ำคงคาคนใหม่ แต่เขายังอดสงสัยไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จะสำเร็จภายในวาระ 5 ปีจริงหรือ

ครั้งแรกที่มีความพยายามขุดลอกแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสายนี้จนเป็นข่าวครึกโครมคือเมื่อปี 1986 ในเวลาที่มีการออกแผนปฏิบัติการคงคา (Ganga Action Plan)

เหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประมาณการว่า ภารกิจคืนความสะอาดให้แม่น้ำสายนี้จะต้องอาศัยงบประมาณหลายพันล้านรูปี และใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 ทศวรรษ หากได้ผล

รัฐบาลโมดีได้ประกาศทุ่มงบอีก 2.04 หมื่นล้านรูปี (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) ให้ “ภารกิจคงคา” ครั้งใหม่ ในการแถลงงบประมาณครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว

รัฐมนตรีภารตีกล่าวในที่ประชุมว่าด้วยแม่น้ำคงคา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมว่า “เป็นครั้งแรกที่ดิฉันเห็นว่าปัญหาหนึ่งสามารถดึงให้คนทุกภาคส่วนมารวมตัวกันได้ และทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำงานด้วยความกระตือรือร้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อโครงการนี้”
ชายชาวอินเดียล้างหนังควาย ก่อนจะนำไปส่งให้โรงงานเครื่องหนังแห่งหนึ่งในเมืองกันปุระ
กำลังโหลดความคิดเห็น