รอยเตอร์ - รายงานภายในของรัฐบาลเวียดนามระบุว่า โรงงานถลุงเหล็กที่ดำเนินการโดยบริษัทฟอร์โมซา พลาสติก กรุ๊ป ของไต้หวัน ละเมิดข้อตกลงมากกว่า 50 รายการ รวมทั้งการเลือกใช้กระบวนการผลิตที่ก่อมลพิษมากกว่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ
รายงานฉบับเดือนก.ค. เป็นเอกสารทางการฉบับแรกที่ปรากฎต่อสาธารณะนับตั้งแต่เกิดเหตุในเดือนเม.ย. ที่สารพิษจากโรงงานรั่วไหลปนเปื้อนแนวชายฝั่งทะเลยาว 200 กิโลเมตร ทำให้ปลาตายไปมากกว่า 100 ตัน และประชาชนอีกหลายพันคนต้องสูญงาน
ผ่านไปหลายเดือนท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชนต่อทั้งรัฐบาลฮานอยและหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ บริษัทฟอร์โมซาตกลงในเดือนมิ.ย. ที่จะจ่ายเงินจำนวน 500 ล้านดอลลาร์เป็นการชดเชย
รายงานที่ลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมเวียดนามและเขียนขึ้นหลังการปรึกษาหารือกับคณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ระบุว่าบริษัทฟอร์โมซาไม่ดำเนินการตามแผนการผลิตที่ได้ตกลงไว้ตามการประเมินสิ่งแวดล้อมฉบับเดิมสำหรับโครงการมูลค่า 10,600 ล้านโครงการนี้
เจ้าหน้าที่ของบริษัทฟอร์โมซา ห่าติ๋ง สตีล ระบุว่า โรงงานที่เริ่มดำเนินการในปี 2551 ยังคงเดินเครื่องการผลิตมาจนถึงช่วงเวลาที่เกิดเหตุรั่วไหลและทำงานไม่ถึง 25% ของกำลังการผลิตรวม
แต่โรงงานแห่งนี้ไม่ได้ใช้ระบบการผลิตตามที่ตกลงไว้กับทางการฮานอย รายงานระบุ
ฟอร์โมซาใช้ระบบเปียกในการผลิต คือระบบที่ใช้น้ำเพื่อระบายความร้อน แต่ขณะเดียวกันก็ก่อมลพิษมาก ทั้งปล่อยไอเสียและน้ำเสียที่มีสารประกอบปนเปื้อน รวมทั้งไซยาไนด์
ส่วนกระบวนการผลิตแบบแห้งนั้น มักใช้งานกันอย่างกว้างขวางในโรงงานทันสมัย แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและไม่ต้องใช้น้ำ จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเมื่อไฟฟ้าดับ อุปกรณ์จัดการของเสียของโรงงานไม่สามารถใช้งานได้ จึงทำให้น้ำปนเปื้อนรั่วไหวลงสู่ทะเล รายงานระบุ
เจ้าหน้าที่ฟอร์โมซาระบุว่าบริษัทใช้กระบวนการผลิตที่ก่อมลพิษมากกว่า แต่บริษัทมีแผนที่จะใช้ระบบนี้จนถึงปี 2562 จึงจะเปลี่ยนไปเป็นกระบวนการผลิตที่สะอาดกว่า
"เราดำเนินการตามคำแนะนำของพวกเขาและพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะทำตามข้อกำหนดเหล่านั้น" รองกรรมการผู้จัดการบริษัทฟอร์โมซา ห่าติ๋ง สตีล (FHS) กล่าว
รองกรรมการผู้จัดการบริษัทฟอร์โมซา ห่าติ๋ง สตีล (FHS) ระบุว่า ฟอร์โมซาได้แก้ไขการละเมิดแล้ว 45 รายการ จากทั้งหมด 53 รายการ ตามที่อ้างในรายงานเดือนก.ค. รวมกับอีก 7 รายการที่จะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ และโรงงานมีกำหนดเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560
ประชาชนหลายพันคนจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถึงการจัดการภัยพิบัติและการจ่ายค่าชดเชย และกล่าวหาว่าตำรวจใช้มาตรการหนักในการสลายการชุมนุมเกี่ยวกับเหตุสารพิษรั่วไหล
และการวิพากษ์วิจารณ์ที่หาได้ยากจากสมาชิกรัฐสภาที่มาจากจังหวัดที่ได้รับผลกระทบระบุว่า ในเดือนนี้ทุกอย่างจำเป็นต้องได้รับการจัดการก่อนที่บริษัทฟอร์โมซา ห่าติ๋ง สตีล จะยกระดับการดำเนินการ
"ไม่มีใครจากรัฐบาลก้าวเข้ามารับผิดชอบต่อการปล่อยของเสียผิดกฎหมายของฟอร์โมซา หากปัญหานี้ไม่ได้รับการจัดการให้เรียบร้อยและการละเมิดไม่ได้รับการแก้ไข เราต้องไม่ปล่อยให้ฟอร์โมซาดำเนินการต่อ" เจิ่น กง ถวต ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพรรคจังหวัดกวางบิ่ง กล่าว
.
.
ฟอร์โมซาวางแผนที่จะขยายโรงงานถลุงเหล็กให้กลายเป็นโรงงานถลุงเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งท่าเรือน้ำลึกและโรงไฟฟ้าขนาด 1,500 เมกะวัตต์
นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุ้ก ได้ขู่ที่จะปิดโรงงานฟอร์โมซาหากเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำ
รายงานระบุว่า ความล้มเหลวของฟอร์โมซา ยังรวมถึงการละเลยการสร้างอ่างเก็บกักน้ำตามที่วางแผนไว้ ซึ่งเป็นมาตรการที่เป็นไปตามที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสามารถใช้เก็บกักน้ำปนเปื้อนไม่ให้ลงสู่ทะเล แม้แต่ในช่วงเวลาที่ไม่มีไฟฟ้า
ด้านเจ้าหน้าที่ของบริษัทฟอร์โมซาระบุว่าบริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างสถานที่สำหรับรวบรวมและกักเก็บน้ำเสีย
การขาดการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุเป็นส่วนที่ทำให้ประชาชนรวมตัวชุมนุมประท้วงกันมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศที่ควบคุมความเห็นต่าง ความไม่พอใจและความไม่ไว้วางใจขยายตัวสูงหลังรัฐบาลกล่าวในเบื้องต้นว่าเหตุปลาตายเป็นจำนวนมากนั้นอาจเป็นผลของปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือปรากฎการณ์สาหร่ายสะพรั่งและผลิตสารพิษ หรือการปล่อยสารเคมีโดยมนุษย์ แต่ไม่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทฟอร์โมซา
"จนถึงตอนนี้ฟอร์โมซาและรัฐบาลไม่เคยใช้เทคโนโลยีทันสมัยใดๆ ในการทำความสะอาดทะเลของเวียดนาม และไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่าทะเลภาคกลางจะสะอาดดังแต่ก่อน" บาทหลวงแกนนำชุมชนชาวคาทอลิกในหลายจังหวัดที่ต่อสู้เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม กล่าว
เมื่อสัปดาห์ก่อน สถานีโทรทัศน์ของรัฐได้ออกอากาศเกี่ยวกับวิธีการที่รัฐบาลชำระเงินให้กับกิจการอาหารทะเลและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของสารพิษ.