xs
xsm
sm
md
lg

ดันไทยสู่อุตฯ สิ่งทอเทคนิค ช่วยผู้ประกอบการฟื้นตลาดส่งออกอีกครั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยเตรียมผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย เข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิค แก้ปัญหาส่งออกสิ่งทอไทยหดตัว จากต้นทุนสูงขึ้น-ค่าแรงขั้นต่ำ ชี้ความต้องการสิ่งทอเทคนิคตลาดโลกสูง มูลค่า 141.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนไทยส่งออก 12 สาขา มูลค่า 1 แสนล้านบาท

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยได้รับผลกระทบ จากปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียนได้ ดังนั้น เพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว ผู้ประกอบการจึงต้องหาหนทางใหม่ แนวทางหนึ่งที่จะเป็นทางเลือกและโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ คือ ก้าวไปสู่ “อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิค”
ภาพของสิ่งทอในอุตฯต่่างๆ
“สิ่งทอเทคนิค (Technical Textile)” คือ วัสดุสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตขึ้นให้มีคุณสมบัติและรูปแบบเฉพาะตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน มากกว่าการใช้งานด้านความสวยงามหรือเพื่อการตกแต่ง โดยปัจจุบันตลาดสิ่งทอเทคนิคของโลกมีมูลค่าประมาณ 141.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีปริมาณความต้องการใช้สูงถึง 27.87 ล้านตันต่อปี ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดประมาณร้อยละ 53 ของมูลค่าการค้าสิ่งทอเทคนิคของโลก สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมของไทยในปี 2557 ที่ผ่านมาที่มีมูลค่าการส่งออก 7,459.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสิ่งทอเทคนิคสำหรับเครื่องนุ่งห่ม (Clothtech) อยู่ ประมาณ 434.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยทั่วไปจำแนกสิ่งทอเทคนิคเป็น 12 สาขา ได้แก่ 1. ยานยนต์ (Mobitech) เช่น ถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัย ผ้าหุ้มเบาะ 2. การแพทย์ (Meditech) เช่น ชุดปลอดเชื้อสำหรับแพทย์และผู้ป่วย ผ้าม่าน ผ้าบังเตียงในห้องผ่าตัด ผ้าปูที่นอน 3. ป้องกัน ถุงมือกันบาด เสื้อเกราะกันกระสุน ชุดทหาร 4. ทางการเกษตร (Agrotech) เช่น ผ้าคลุมสำหรับกักเก็บความชุ่มชื้นในดิน ผ้าคลุมป้องกันวัชพืช

5. ครัวเรือน (Hometech) เช่น ผ้าม่านและพรมที่มีคุณสมบัติกันไฟ 6. การก่อสร้าง (Buildtech) เช่น ผ้าใบสำหรับงานโครงสร้างรับแรงดึง ตาข่ายกันตก กันฝุ่น กันลม เชือก Safety เชือกงานก่อสร้าง 7. สำหรับเครื่องนุ่งห่ม (Clothtech) เช่น เสื้อกันหนาวแบบระบายอากาศ เสื้อเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิ 8. ทางธรณี (Geotech) เช่น ผ้าสำหรับเสริมแรงดัน ผ้ากันซึม 9. สิ่งแวดล้อม (Oekotech) เช่น สิ่งทอประหยัดพลังงาน 10. ทางอุตสาหกรรม (Industech) เช่น ผ้ากรอง สายพานลำเลียง 11. บรรจุภัณฑ์ (Packtech) เช่น big bag ถุงไปรษณีย์ 12. ทางกีฬา (Sporttech) เช่น ใบเรือ ร่มชูชีพ
สิ่งทอในอุตสาหกรรม 12 สาขา
ทั้งนี้ จากการศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค (Technical Textile) เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 12 สาขาในอนาคต พบว่า ประเทศไทยมีผู้ผลิตสิ่งทอที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอเทคนิคต้นน้ำที่สำคัญ 15 ราย กลางน้ำ 132 ราย และสิ่งทอเทคนิคปลายน้ำทั้ง 12 สาขา จำนวน 553 ราย โดยมีมูลค่าตลาดโดยรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท

สำหรับแนวทางในการพัฒนาผู้ผลิตสิ่งทอเทคนิค ได้มีกำหนดแนวทางไว้ดังนี้ 1. เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน เช่น ร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตสิ่งทอเทคนิค พร้อมมาตรการส่งเสริมทางการเงินประสานศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคเฉพาะทางระดับโลก จัดตั้งศูนย์ทดสอบสิ่งทอเทคนิคที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ 2. ส่งเสริมตลาดสิ่งทอเทคนิคภายในประเทศ

3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านสิ่งทอเทคนิค โดยเปิดหลักสูตรเฉพาะทางในลักษณะของหลักสูตรการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท 4. สร้างฐานความร่วมมือทางการผลิตและการค้า กับ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศในกลุ่มยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรหรือสมาคมทางสิ่งทอเทคนิคระดับโลก 5. ยกระดับผู้ประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคโลก

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น