xs
xsm
sm
md
lg

เจาะอาวุธลับ ‘ไดเมท (สยาม)’ แผนพลิก “ขาดทุน” สู่ “กำไร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรพล รุจิกาญจนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด(มหาชน)
ส่องแผนธุรกิจของ “สุรพล รุจิกาญจนา” หัวเรือใหญ่แห่ง “ไดเมท (สยาม)” ภารกิจนำทัพองค์กร ปรับกลยุทธ์เสริมแกร่งการตลาด สร้างเขี้ยวเล็บพากิจการก้าวไปสู่เวทีโลก

นายสุรพล รุจิกาญจนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงประวัติการก่อตั้งธุรกิจที่มีอายุยาวนานมากกว่า 30 ปีว่า บริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด(มหาชน) ถือเป็นองค์กรที่มีอายุมากกว่า 33 ปีแล้ว ได้จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีป้องกันสนิมคุณภาพสูง โดยใช้เทคโนโลยีและลิขสิทธิ์จากบริษัท
อเมรอน (Ameron) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีลูกค้าหลักได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้า แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทย เป็นต้น จากนั้นบริษัท วัททิล ออสเตรเลีย พีทีวาย จำกัด ได้เข้ามาซื้อกิจการในปี 2528 และบริษัทวัททิล ได้นำเทคโนโลยีสีเคลือบไม้ สีทาเฟอร์นิเจอร์ และสีทาอาคาร ภายใต้ลิขสิทธิ์ วัททิล มาผลิตสีและจำหน่ายในประเทศ

ต่อมาในปี 2545 ได้ซื้อกิจการมาจากบริษัท วัททิล ออสเตรเลีย และได้เปลี่ยนสถานะจากบริษัทข้ามชาติเป็นบริษัทของคนไทย ในปี 2550-2551 พร้อมได้นำบริษัทฯ จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน และเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท จวบปัจจุบัน บริษัทฯได้เพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้ว เป็นเงิน 128,199,149.50 บาท

นายสุรพล กล่าวว่า บริษัทได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงของธุรกิจ ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการผลิตและจัดจำหน่ายสีภายใต้การใช้ลิขสิทธ์ของต่างประเทศ โดยในปี 2552 จึงดำเนินการพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ของบริษัทเองภายใต้ชื่อแบรนด์ไดเมท โดยมุ่งเน้นตลาดสีทาอาคาร โดยผ่านตัวแทนจำหน่ายทั่วไป และ Modern Trade แต่กระนั้น บริษัทฯก็ยังคงขาดความเข้าใจในการมุ่งเน้น (Focus) กลุ่มลูกค้า จึงไม่สามารถพัฒนากลยุทธ์แผนการตลาด ผลิตภัณฑ์ และ การส่งเสริมการขาย ให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ จึงทำให้ บริษัทประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปี

เพื่อให้ธุรกิจมีทางออก และเพื่อหยุดภาวะขาดทุนของบริษัทฯ จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษา เพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการ การตลาดและการบริการ (Consultancy Fund:CF) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยขอแนวทางด้านการจัดการด้านการตลาดเพื่อให้ขายสินค้าได้ และลดการขาดทุน ทำให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมีแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการบริหารของบริษัทฯอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนมีหลักการคิดวิเคราะห์ด้านการตลาด เพื่อวางกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง

“ผลความสำเร็จภายหลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรม CF บริษัทฯได้รับประโยชน์อย่างมากจากกิจกรรม CF ที่เข้ามาเติมเต็มช่วยอุดรอยรั่วให้กับธุรกิจ โดยมีการปรับขบวนการทำงาน และลดจำนวนพนักงานให้สอดคล้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมวิเคราะห์ต้นทุนขาย (Trading Terms) ของธุรกิจ Modern Trade เพื่อกำหนดทิศทางกลยุทธ์การตลาดว่าควรทำต่อหรือไม่ (go-no go) มีการปรับรวบและลดรายการสินค้า เพื่อลดต้นทุนการจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานลดลง ตัวอย่างเช่น การบริหารงานคลังสินค้า Production Economy of Scale และลดรายการวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต คลังสินค้า และเงินทุนหมุน อาทิสีทาอาคาร จากเดิมมีจำนวน 5,877 รายการ เหลือ 1,090 รายการ และ สีเคลือบไม้ จากเดิม 2,800 รายการ เหลือ 300 รายการ เป็นต้น ” นายสุรพล กล่าวในที่สุด
หน้าโรงงาน
ภายในโรงงาน
ผลิตภัณฑ์ของบริษัท
กำลังโหลดความคิดเห็น