xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนนักธุรกิจวัย 37 ปี ปลดหนี้ 40 ล. เนรมิตคอมมูนิตีมอลล์ “City Park”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนพัต ปิติวราธนกุล
“ธนพัต ปิติวราธนกุล” วัย 37 ปี อีกหนึ่งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างตัวจากมนุษย์เงินเดือน ก่อนจะก้าวเป็นเถ้าแก่ธุรกิจร้อยล้าน และกำลังจะผุดโครงการ “City Park” คอมมูนิตีมอลล์แนวใหม่ งบลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท ย่านเมืองทองธานี

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมีวันนี้ เส้นทางธุรกิจมีทั้งหอมหวาน และขมขื่น โดยเฉพาะบทเรียนแห่งความผิดพลาดครั้งสำคัญ ถึงขั้นติดหนี้กว่า 40 ล้านบาท ก่อนจะลุกขึ้นมายืนได้อีกครั้ง นับเป็นประสบการณ์เตือนใจที่ผู้ประกอบการหนุ่มถ่ายทอดให้ฟัง

“แรงผลักดันสำคัญมาจากตัวผมมีภาระต้องดูแลครอบครัว และอยากให้สมาชิกทุกคนอยู่อย่างสุขสบาย และสามารถพึ่งพาตัวเองได้” ธนพัตระบุถึงความคิดเบื้องต้นที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ

เขาเสริมว่า เติบโตมาในครอบครัวฐานะปานกลาง หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาด มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เริ่มต้นอาชีพโดยเป็นพนักงานฝ่ายขาย ผลิตภัณฑ์หินแกรนิตสำหรับปูพื้นและผนังบ้านของบริษัทแห่งหนึ่ง

ที่นี่เอง จากการทำงานเซลส์แมนอยู่ 5-6 ปี ช่วยสะสมประสบการณ์ และข้อมูลในธุรกิจนี้รอบด้าน ทั้งแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ ประเภทหิน ฐานลูกค้า ฯลฯ ทำให้เชื่อว่าสามารถทำธุรกิจนี้เองได้ เลยตัดสินใจร่วมหุ้นกับเพื่อน ลงขันกันคนละประมาณ 5 แสนบาท เป็นตัวแทนซื้อขายหินแกรนิตด้วยเงินสด จนเริ่มมีกำไร ขยายตั้งโรงงานนำเข้าหินแกรนิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน เพื่อเก็บสต๊อกขายในเมืองไทย

“กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโครงการบ้านจัดสรรกับบริษัทผู้รับเช่าก่อสร้าง จากที่เราเคยเป็นเซลส์แมนมาก่อนทำให้ได้คอนเนกชันอัตโนมัติ เมื่อมาทำเองลูกค้าก็ให้ความมั่นใจ เพราะตอนที่เราเป็นเซลส์แมน เวลาลูกค้ามีปัญหาอะไรเราแก้ให้เขาได้ทั้งหมด เมื่อมาเป็นเจ้าของกิจการเอง ความใส่ใจยิ่งมากขึ้น เลยได้รับความไว้วางใจ ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ก็ยังเหนียวแน่นถึงปัจจุบัน”

ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นขาขึ้นของหนุ่มรายนี้ สามารถแตกไลน์ขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยอาศัยพื้นฐานเดิม จากขายหินแกรนิตสู่รับเหมาก่อสร้าง ตามด้วยรับจ้างออกแบบและตกแต่งภายใน รวมถึงพัฒนาที่ดิน จนในวัยเพียง 30 ต้นๆ มีรายได้กว่าร้อยล้านบาทต่อปี

ทว่า กราฟชีวิตที่กำลังพุ่งขึ้นอย่างแรงกลับเจอวิกฤตครั้งสำคัญ เพราะความประมาท นำเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ ที่ตัวเองไม่คุ้นเคย และที่สำคัญไม่ได้ดูแลเอง จนเกิดขาดทุน และส่งผลกระทบฉุดธุรกิจตัวเองให้ย่ำแย่ไปด้วย

“เราหาเงินมาได้เร็ว ทำอะไรก็สำเร็จไปหมด ผมเลยเริ่มเอาเงินที่ได้ไปกระจายลงทุนกับธุรกิจของเพื่อนๆ รายละ 5 ล้านบาทบ้าง 10 ล้านบาทบ้าง ใครมาชวนอะไรบอกทำแล้วกำไรดีทำหมด แต่ล้วนเป็นธุรกิจที่เราเองไม่มีความรู้เลย และไม่ได้มีส่วนร่วมเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ปรากฏว่าทุกธุรกิจที่นำเงินไปร่วมหุ้นล้วนประสบปัญหาหมด บริหารล้มเหลวบ้าง โดนหุ้นส่วนคดโกงบ้าง กลายเป็นว่าเงินที่เราต้องการนำไปต่อยอดกลับมาเป็นภาระดึงเงินในระบบธุรกิจของเราออกไป และทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในช่วงแค่ 6 เดือนจนผมหมุนเงินไม่ทัน เกือบล้มละลายเพราะติดหนี้กว่า 40 ล้านบาท” เขาเผย และเล่าว่า

“ตอนนั้นธุรกิจหลักจะมีรายได้กว่า 100 ล้านบาทต่อปี เมื่อหักแล้วเหลือกำไร 25% เมื่อมีหนี้กว่า 40 ล้านบาทมันเลยหมุนเงินไม่ทัน เพราะธุรกิจอสังหาฯ ต้องการสภาพคล่องสูงมาก เวลาไปวางบิล กว่าจะเก็บเงินได้จริงคือ 45 วัน แต่เงินที่เราต้องใช้จ่ายประจำต่างๆ เช่น ค่าแรงพนักงาน ค่าวัสดุบางตัว ฯลฯ ต้องจ่ายทันที ดังนั้น เมื่อเราหมุนเงินไม่ทัน งานต่างๆ เลยสะดุดทันที และพอส่งงานไม่ได้ก็เสียเครดิต ในที่สุดก็เสียลูกค้ารายสำคัญๆ ไป” เขาเล่าให้ฟังถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น

ทางฝ่าวิกฤตในตอนนั้น ธนพัตยอมรับว่าอาศัยหยิบยืมเงินจากผู้ใหญ่หลายๆ ท่านมาพยุงให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ด้วยพื้นฐานธุรกิจหลักที่ดีอยู่ เพียงแต่ที่ผ่านมาพลาดนำเงินไปใช้ผิดประเภท เมื่อมีเงินใหม่มาต่อสายป่วน ช่วยให้ธุรกิจหลักกลับมาเดินใหม่ได้อีกครั้งในเวลา 6 เดือน และเมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 กลับมาฟื้นตัว และจัดการหนี้ทั้งหมดได้

บทเรียนดังกล่าวให้ข้อเตือนใจว่า จะทำเฉพาะธุรกิจที่ตัวเองถนัด และต้องลงมือเองทั้งหมด อย่างธุรกิจหลังฝ่าวิกฤตมาได้จะเกี่ยวข้องกับพื้นฐานธุรกิจเดิมทั้งหมด อย่างล่าสุดการพัฒนาโครงการคอมมูนิตีมอลล์ “City Park” เป็นการสานต่อจากธุรกิจที่ปรึกษาพัฒนาที่ดินก้าวเป็นเจ้าของโครงการด้วยตัวเอง

“เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมเริ่มทำธุรกิจที่ปรึกษาพัฒนาที่ดิน เพราะเห็นการเติบโตของตลาดนี้ สวนกระแสกับธุรกิจอสังหาฯ อื่นๆ ที่ซบเซา โดยผลงานที่ผ่านมา เช่น พัฒนาโครงการศูนย์การค้าสาทร ซิตี้ พลาซ่า และย่านประตูน้ำ เป็นต้น” เขาเผย

ทั้งนี้ “City Park” นับเป็นโครงการแรกที่เข้ามาบริหารเองทั้งหมด เนื่องจากเห็นศักยภาพของ “ทำเล” ในเมืองทองธานี ซึ่งมีผู้พักอาศัยประจำกว่า 70,000 คน พนักงานบริษัทต่างๆ อีกกว่า 15,000 คน นอกจากนั้น ยังมีนักศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และผู้เข้าทำกิจกรรมต่างๆ ในเมืองทองอีกหลายหมื่นคนต่อเดือน

“จากประสบการณ์เป็นที่ปรึกษามาก่อน ทำให้เราเห็นศักยภาพของทำเลนี้อย่างมาก ตลอดจนนำจุดอ่อนของคอมมูนิตีมอลล์แห่งอื่นๆ มาปรับปรุง โดยให้ City Park เป็นคอมมูนิตีมอลล์แนวใหม่ที่จะรวมแหล่งร้านค้าส่ง และค้าปลีกกว่า 450 ร้านไว้ด้วยกัน นอกจากนั้น ยังมีโซนซูเปอร์มาร์เกต สวนสนุก และตลาดนัดอินดี้ ทั้งหมดจะช่วยให้ตอบความต้องการของผู้เข้ามา City Park ได้ครบถ้วน ทำให้มีลูกค้าเข้ามามากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น รวมถึงจับจ่ายมากขึ้น และถี่ขึ้น” เจ้าของธุรกิจกล่าว

โครงการ City Park ตั้งอยู่ในเมืองทองธานี พื้นที่กว่า 17 ไร่ สิ่งก่อสร้างดีไซน์เหมือนมหานครนิวยอร์ก เช่น ไทม์สแควร์ ฟิฟท์ อะเวนิว และเซ็นทรัล ปาร์ก ใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าพื้นที่ระยะยาวอายุ 30 ปี มูลค่า 300 ล้านบาท และค่าก่อสร้างต่างๆ อีก 700 ล้านบาท ส่วนแหล่งที่มาของเงินลงทุนนั้น เป็นทุนส่วนตัว 100 ล้านบาท สถาบันการเงิน 350 ล้านบาท และที่เหลือเกิดจากการหารายได้จากค่าเซ้งร้าน และค่าเช่าพื้นที่ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2560 และตั้งเป้าจะคืนทุนโครงการในเวลา 4-5 ปี

“หัวใจแห่งความสำเร็จของธุรกิจคอมมูนิตีมอลล์ ผมมองว่าต้องประกอบด้วยทำเลที่ตั้ง ดีไซน์ของสถาปัตยกรรม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุน แม้ตอนนี้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ผมเชื่อว่าสำหรับธุรกิจคอมมูนิตีมอลล์ยังมีทิศทางที่เติบโตไปได้อีกมาก ดูได้จากการเกิดจำนวนมาก สวนทางกับอสังหาฯ อื่นๆ นอกจากนั้น โครงการ City Park จะเริ่มในปี 60 ถึงตอนนั้นผมเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่สถานการณ์ภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเมืองอาจรุนแรง หรือเกิดความไม่สงบต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจหรือลดจับจ่าย” เขาเผย

ในฐานะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ธนพัตทิ้งท้ายถึงหลักคิดการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือ ความใส่ใจ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องเอาตัวเองลงไปคลุกคลีเอง และทำอย่างจริงจัง

“ทุกวันนี้ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรผมจะลงมือทำเอง อย่าคิดว่าจะใช้เงินทำงาน ซึ่งในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเอาเงินไปฝากไว้ในมือคนอื่น ซึ่งคนมันเปลี่ยนได้ ดังนั้นต้องแยกเพื่อนกับงานออกจากกันเด็ดขาด ส่วนธุรกิจที่เราทำ ต้องลุยเอง ทำเอง ลงตลาดเอง ฯลฯ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เต็มที่กับมันจริงๆ” เจ้าของธุรกิจหนุ่มทิ้งท้าย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


ตัวอย่างในโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ “City Park”



แผนที่โครงการ เสร็จในปี 2560



กำลังโหลดความคิดเห็น