“แก่นตะวัน” เป็นพืชหัวใต้ดินคล้ายมันฝรั่ง ที่อยู่ในตระกูลเดียวกับทานตะวัน ในประเทศไทยมีการปลูกมากว่า 20 ปีแล้ว โดยผลงานวิจัยหลากหลายแห่งทั้งใน และต่างประเทศล้วนรับรองและยืนยันว่าพืชชนิดนี้ มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายนานัปการ
ในแง่ความนิยมรับประทานนั้น ในช่วง 1-2 ปีหลังที่ผ่านมาในหมู่ผู้รักสุขภาพให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนด้านการผลิต มีกลุ่มวิสาหกิจระดับชุมชนหลายรายหันมาปลูกแก่นตะวันเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือ “โกวิท ปัญญาวงศ์” หนุ่มวัย 33 ปี อดีตมนุษย์เงินเดือนที่กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิด จ.ชัยภูมิ บุกเบิกอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ปลูก “แก่นตะวัน” สำหรับนำผลผลิตไปแปรรูปเป็น “ชา” พร้อมดื่ม ภายใต้แบรนด์ “แคนนูลิน” (KANNULIN)
เขาเล่าว่า ทางบ้านประกอบอาชีพทำเกษตรกรรมปลูกมันสำปะหลัง อยู่ที่ ต.วังทอง อ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ จนเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วคุณพ่อประสบปัญหาสุขภาพเป็นโรคเบาหวานและเกาต์ จึงกลับมาอยู่บ้านเกิดเพื่อมีเวลาดูแลคุณพ่ออย่างใกล้ชิด พร้อมช่วยดูแลการทำเกษตรให้ที่บ้านด้วย
“ก่อนหน้านี้การรักษาของพ่อใช้ยาแพทย์ปัจจุบันมายาวนาน ทำให้ไตทำงานหนัก รวมถึงกระเพาะเป็นแผล เลยเปลี่ยนมารักษาด้วยสมุนไพรต่างๆ อาการก็ไม่ดีขึ้น จนผมได้พบข้อมูลจากงานวิจัยของมหาวิทยาขอนแก่นถึง “แก่นตะวัน” ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นช่วยลดเบาหวาน ผมเลยศึกษาข้อมูล แล้วลองนำมาให้พ่อกิน ปรากฏว่าอาการดีขึ้นชัดเจน” เขากล่าว
ด้วยเหตุว่า แก่นตะวันเป็นพืชที่มีสรรพคุณดีหลายด้าน มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศรองรับ เหมาะกับเทรนด์รักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ รวมถึงเห็นโอกาสของตลาดที่ปัจจุบันพืชชนิดนี้การแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่รับประทานง่ายยังน้อยมาก และส่วนใหญ่ขายเป็น “หัวสด” และมีทำเฉพาะกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งการผลิตยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร ทำให้ได้ไอเดียจะนำแก่นตะวันมาแปรรูปเป็นน้ำชาพร้อมดื่ม
โกวิทเล่าว่า เบื้องต้นได้ปรับสภาพพื้นที่ดินให้เหมาะสม จากนั้นหาซื้อต้นกล้าแก่นตะวันมาลงแปลง โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 200 ตารางวา ซึ่งการปลูกแก่นตะวันแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน วิธีการแปรรูป หลังจากขุดนำผลหัวแก่นตะวันขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเริ่มตั้งแต่ล้างทำความสะอาด นำเข้าตู้แช่ประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้หัวแก่นตะวันเกิดรสหวานขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามด้วยนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ แล้วตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำไปอบไล่ความชื้น ก่อนจะบดเป็นผงเพื่อบรรจุซองไว้สำหรับดื่ม
ในความเป็นจริงแล้ว หนุ่มคนนี้เรียนจบมาด้านเศรษฐศาสตร์ ทว่า ความรู้ต่างๆ ทั้งการปลูกและแปรรูปแก่นตะวันนั้น เขาเผยว่าค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต ควบคู่กับศึกษาจากงานวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก โดยการควบคุมคุณภาพนั้น ในส่วนของปลูก ดูแลไร่ด้วยตัวเอง ส่วนกระบวนการแปรรูปนั้นใช้วิธีนำวัตถุดิบหัวแก่นตะวันที่ปลูกได้ไปว่าจ้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้มาตรฐานสากล ทั้ง GMP และ HACCP เป็นผู้ผลิตให้ ดังนั้น ชาแก่นตะวันที่ผลิตขึ้นจึงมีมาตรฐานระดับส่งออก
เขาเผยด้วยว่า ใช้เงินลงทุนในอาชีพนี้ประมาณ 1 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าบำรุงรักษาในการเพาะปลูกแก่นตะวัน ใช้เวลาเตรียมพร้อม ตั้งแต่ลงมือปลูกก่อนเริ่มแปรรูปสู่ตลาดจริงประมาณ 1 ปี โดยปัจจุบันสามารถปลูกได้ผลผลิตประมาณ 30 ตันต่อปี ส่วนการแปรรูป นำไปทำ 2 ลักษณะ ได้แก่ ทำเป็นชาซองพร้อมดื่ม ขายเป็นกล่อง หนึ่งกล่องบรรจุ 30 ซอง ราคา 350 บาท และแบบเป็นแคปซูป ขวดละ 450 บาท
ในด้านการทำตลาดนั้น เบื้องต้นอาศัยขายผ่านทางออนไลน์ ควบคู่กับออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เช่น งานโอทอป และงานแสดงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารต่างๆ โดยเริ่มวางตลาดเมื่อประมาณต้นปี 2558 ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งผลตอบรับนั้น เจ้าของแบรนด์ “แคนนูลิน” เล่าให้ฟังว่า เติบโตเฉลี่ยประมาณ 30% ต่อเนื่องทุกเดือน จากเดือนแรกขายได้หลักหมื่นบาท กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2558 นี้ยอดขายกว่า 3 แสนบาทแล้ว
“สิ่งสำคัญที่ทำให้ยอดขายดีขึ้นโดยลำดับ มาจากเทรนด์รักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ และคนทั่วไปเริ่มรู้จักคุณสมบัติของ “แก่นตะวัน” มากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับรสของชาแก่นตะวันจะมีรสหวานอ่อนๆ และไม่เผ็ดอย่างน้ำขิง ทำให้ดื่มได้ง่ายกว่าด้วย” โกวิท ระบุ
ในด้านการแข่งขันนั้น เขาเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตชาแก่นตะวันอยู่บ้าง แต่ทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ผลิตระดับชุมชน ซึ่งการผลิตยังอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน ไม่เข้ามาตรฐานสากล ขณะที่แบรนด์ “แคนนูลิน” ผลิตภายใต้โรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสูงสุด ดังนั้น การแข่งขันจึงไม่สูง เพราะกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคนละตลาดกัน
อย่างไรก็ตาม แผนการตลาดในอนาคตอีก 3-4 เดือนข้างหน้านี้เตรียมลงทุนเพิ่มประมาณ 3 ล้านบาท โดยกำลังทำเรื่องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยอาศัยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยค้ำประกัน เพื่อเป็นทุนขยายการเพาะปลูกแก่นตะวันเพื่อจะนำผลผลิตมาทำเป็นสินค้าใหม่ คือ ขนมขบเคี้ยว หรือ “สแน็ก” จากแก่นตะวัน คล้ายกับมันฝรั่งทอดกรอบ แต่เปลี่ยนวัตถุดิบเป็นแก่นตะวันแทน ซึ่งจะตอบความต้องการของตลาดรักสุขภาพ และยังขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างยิ่งขึ้นด้วย
แนวคิดดังกล่าวของหนุ่มวัย 33 ปี คงจะส่งให้ “แก่นตะวัน” ขยายความนิยมเพิ่มขึ้นแน่นอน
รู้จักแก่นตะวัน |
"แก่นตะวัน" เรียกได้หลายชื่อ ทั้ง "ทานตะวันหัว" และ "แห้วบัวทอง" มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Jerusalem artichoke บ้างก็เรียกว่า sunchoke ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Helianthus tuberosus L. เป็นพืชดอกในตระกูลทานตะวัน ซึ่งมีต้นกำเนิดในตอนใต้ของประเทศแคนาดา และตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอากาศค่อนข้างหวานเย็น โดยแก่นตะวันมีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ สามารถปลูกได้ดีในเขตร้อน และเขตกึ่งหนาวอย่างทวีปยุโรป ทำให้ต้นแก่นตะวันเป็นที่รู้จักในหลายๆ ภูมิภาค ในหัวแก่นตะวันมีสารสำคัญ คือ "อินนูลิน" (Inulin) ซึ่งมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ -ลดน้ำตาลในเลือด (เบาหวาน) -ลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง -ลดความอ้วน -ลดไขมัน คอเลสเตอรอลในเส้นเลือด -ช่วยระบบขับถ่าย เป็นต้น |
ข้อมูลจาก http://www.kannulin.com/ |
อ่านข้อมูลประกอบ อาหารเป็นยา : แก่นตะวัน ต้านโรคอ้วน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *