“ชัยวัฒน์ ศรีเทศ” คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสถาบันการเงินมากว่า 20 ปี มีโอกาสจะขึ้นถึงระดับผู้บริหารองค์กร แต่กลับเลือกจะกลับมาพัฒนาอาชีพหลักของบ้านเกิด จ.เพชรบูรณ์ ด้วยการปลุกปั้น “มะขามหวาน” ให้เป็นสินค้าเกรดพรีเมียม เพิ่มมูลค่าและขยายตลาด ภายใต้แบรนด์ ‘Nine Tamarind’
เขาเล่าแรงบันดาลใจที่ตัดสินใจหันหลังให้วงการการเงิน สาเหตุแรกมาจากอิ่มตัว เพราะทำมานาน อีกประการ เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ปลูก “มะขามหวาน” คือ ขาดการทำตลาด ชาวสวนแทบทั้งหมดจะขายเหมาฝักสด ทำให้ได้ราคาไม่สูงนัก ทั้งๆ ที่มะขามหวานเพชรบูรณ์เป็นผลไม้ที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการสูง
“ครอบครัวผมก็ทำสวนมะขามหวานอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ ทำให้รู้ปัญหาว่าถ้าจะขายฝักสดตลาดไปได้ไม่ไกล ในขณะเดียวกัน ถ้าจะให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์เองก็เป็นเรื่องยาก ผมเลยต้องการทำธุรกิจ “กลางน้ำ” นำวัตถุดิบมะขามหวานจากผู้ปลูกมาแปรรูปเพื่อจะส่งต่อไปสู่ผู้บริโภค” ชัยวัฒน์อธิบายแรงบันดาลใจที่กลับมาบุกเบิกธุรกิจบ้านเกิดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
หัวใจของการยกระดับมะขามหวานเพชรบูรณ์นั้น อดีตหนุ่มแบงก์แจกแจงว่า สิ่งสำคัญคัดเลือกเฉพาะมะขามหวานเพชรบูรณ์แท้ๆ พันธุ์ศรีชมพู ปลูกในท้องถิ่น โดยมีเครื่องหมาย GI (Geographical Indications : เครื่องหมายรับรองสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยกระทรวงพาณิชย์) เพื่อยืนยันว่าเป็นของแท้ พร้อมปรับรูปแบบ และบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมต่อลูกค้าตลาดบน
“มะขามหวานเพชรบูรณ์เป็นที่นิยมของตลาดอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาผู้บริโภคมักมีคำถามว่าเป็นมะขามหวานเพชรบูรณ์แท้หรือเปล่า ดังนั้นผมเลือกจะรับซื้อเฉพาะผลผลิตที่ปลูกในบ้านเกิด ได้เครื่องหมาย GI เท่านั้น การันตีว่าเป็นของแท้แน่นอน และปลูกได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า ส่วนการแปรรูป ผมศึกษาด้วยตัวเอง ใช้ประสบการณ์เดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้งนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เน้นสวยงาม และสะดวกแก่ผู้บริโภค” เขากล่าว
แบรนด์ ‘Nine Tamarind’ มีผลิตภัณฑ์มะขามหวานแปรรูปกว่า 30 ชนิด โดยสินค้าเด่นคือ มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด โดยนำมาแกะเปลือกและเมล็ดออก แล้วอบแห้งบรรจุในซอง ซึ่งจากวัตถุดิบมะขามหวานฝักสดเมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้วจะเหลือเนื้อน้ำหนักไม่ถึง 30% และแทบทุกกระบวนการทำด้วยมือคน
ด้วยวัตถุดิบที่เจาะจงเป็นมะขามหวานเพชรบูรณ์แท้ๆ มีมาตรฐานระดับสูงสุดครบถ้วน เช่น GMP HACCP โอทอป 5 ดาว GI เป็นต้น แบรนด์ ‘Nine Tamarind’ จึงวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นมะขามแปรรูปที่อยู่ระดับสูงสุดในท้องตลาด ผ่านช่องทางขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ สนามบิน และร้านตัวเอง
“การทำตลาดกับห้างฯ ของผมจะใช้วิธี “ขายขาด” เท่านั้น ไม่มีการ “ฝากขาย” และจะทำส่งเมื่อมีออเดอร์มาก่อนเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยง ไม่ต้องกังวลผลิตแล้วสินค้าไปจมอยู่บนชั้นวางจนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องตามมา สาเหตุที่เราทำวิธีนี้ได้เพราะมีมาตรฐาน และเป็นสินค้าหายาก ตลาดต้องการสูง ประกอบกับใช้ประสบการณ์เคยทำงานสถาบันการเงิน จึงต่อรองกับห้างฯ ให้ยอมรับเงื่อนไขของเรา ซึ่งจุดนี้ถ้าเป็นกลุ่มชาวบ้านจะไปเจรจากับห้างฯ เองคงเป็นเรื่องยาก”
สำหรับด้านการลงทุนในธุรกิจนี้ ชัยวัฒน์ระบุว่า เบื้องต้นใช้ทุนส่วนตัว เริ่มจากคนงานแค่ประมาณ 20 คน จากนั้นค่อยๆ ขยายเพิ่มตามลำดับจนปัจจุบันคนงานเกือบ 100 คน เช่นเดียวกับผลประกอบการที่มีอัตราเติบโต 10% ต่อเนื่องทุกปี
ทั้งนี้ กระบวนการผลิตจะรับซื้อมะขามหวานจากเกษตรกรในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งต้องเป็นไร่ที่ได้รับรองเครื่องหมาย GI เท่านั้น โดยซื้อในราคาเฉลี่ยที่ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม นับเป็นราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป 5-10 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อจูงใจให้ผู้ปลูกเน้นคุณภาพ มีปริมาณรับซื้อปีละกว่า 1-2 ล้านกิโลกรัม ดังนั้น จำเป็นต้องมีทุนสำรองไว้ซื้อมะขามหวานเพื่อเตรียมไว้แปรรูปปีละกว่า 120-140 ล้านบาท
เจ้าของธุรกิจเผยว่า ทุกวันนี้มะขามหวานเพชรบูรณ์เป็นที่นิยมของตลาดสูงมาก ถึงขั้นผลิตไม่เพียงพอความต้องการ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยากจะเข้าสู่ธุรกิจนี้ ในส่วนผู้ปลูกต้องพยายามเข้าสู่มาตรฐาน GI ให้ได้ ซึ่งจะช่วยการันตีได้ระดับหนึ่งว่ามีตลาดรับซื้อแน่นอน นอกจากนั้น ต้องคำนึงเสมอว่ามะขามหวานเป็นผลไม้ที่ดูแลยาก กว่าจะใช้ผลผลิตต้องปลูกกว่า 4 ปี และจะให้ผลผลิตปีละครั้งเท่านั้น ดังนั้น ผู้ปลูกต้องมีความชำนาญและดูแลใกล้ชิด ส่วนการทำผลิตภัณฑ์แปรรูป ต้องระวังเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ และแรงงานผลิต รวมถึงต้องใช้ทุนหมุนเวียนสูง
สำหรับแผนในอนาคตนั้น ปลายปีนี้ (2558) จะเปิดศูนย์การเรียนรู้มะขามหวานเพชรบูรณ์ครบวงจร อยู่ที่ถนนเลี่ยงเมืองเพชรบูรณ์ ใช้งบลงทุนสร้างกว่า 100 ล้านบาท ภายในประกอบด้วยการสาธิตกระบวนการปลูก และแปรรูปมะขามหวาน โชว์รูมแสดงสินค้าและรีสอร์ต วางเป้าให้ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมมะขามหวานเพชรบูรณ์ให้เพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้น
“เทียบระหว่างการเป็นพนักงานแบงก์ กับเป็นผู้ประกอบการเองแล้ว ความรับผิดชอบมันเทียบกันไม่ได้เลย ก่อนหน้านี้ผมก็หนีไปทำงานแบงก์เพราะรู้ว่าทำเกษตรมันเหนื่อยมาก แต่ที่ตัดสินใจกลับมาช่วยบ้านเกิด เพราะผมคิดว่า ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ ก่อนหน้านี้เคยช่วยองค์กรที่เราสังกัดทำกำไรมามากแล้ว ตอนนี้อยากจะทำให้บ้านเกิดบ้าง เพราะปัจจุบันมะขามหวานเพชรบูรณ์การแปรรูปยังน้อย และยังไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่วัตถุดิบได้รับความนิยมอยู่แล้ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็น่าเสียดาย” เขาทิ้งท้าย
โทร. 0-2816-6932, 08-9140-6643 หรือ www.nine-tamarind.com
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *