xs
xsm
sm
md
lg

พณ.หนุนผู้ปลูก “มะขามหวานเพชรบูรณ์” ยกระดับสู่ ‘GI’ การันตีของแท้ต้นตำรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จ.เพชรบูรณ์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์
จ.เพชรบูรณ์จับมือ ก.พาณิชย์ เดินหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์ หนุนผู้ปลูกยกระดับขึ้นทะเบียนได้เครื่องหมาย GI การันตีคุณภาพของแท้จากท้องถิ่น เผยปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับเครื่องหมายแล้วกว่า 30 ราย ด้านเกษตรกรยืนยันช่วยหนุนยอดขายโตจากเดิม 2 เท่าตัว
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์  (พณ.) กล่าวเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์ ว่า มะขามหวานเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยรสชาติหวานโดดเด่นด้วยคุณสมบัติพิเศษของพื้นดินที่อุดมด้วยแร่ธาตุและสภาพอากาศเหมาะสม จนเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการปลูกมะขามหวานในหลายๆ จังหวัด เช่น เลย หนองคาย อุดรดิตถ์ และพิษณุโลก เป็นต้น ทำให้มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก และรสชาติไม่เหมือนกับต้นตำรับ สร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงยังกระทบชื่อเสียงของมะขามหวานเพชรบูรณ์แท้ๆ ส่งผลให้ราคาลดต่ำลงไปด้วย

จากปัญหาดังกล่าว ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกันจัดโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์ โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวานภายในจังหวัดเพชรบูรณ์พัฒนามาตรฐานจนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ได้ขึ้นทะเบียนมะขามหวานเพชรบูรณ์เป็นสินค้าอันเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือเครื่องหมาย GI (Geographical Indications) เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองว่าเป็นมะขามหวานเพชรบูรณ์แท้ๆ

นางดวงกมลกล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการที่จะได้รับเครื่องหมาย GI นั้นต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสอบต่างๆ เช่น เรื่องคุณภาพของสถานที่ปลูก พันธุ์ที่ใช้ปลูก และผลผลิตที่ได้ ฯลฯ โดยจะมีการตรวจคุณภาพทุกๆ 2 ปี ผู้ประกอบการที่ผ่านจะได้รับเครื่องหมาย GI สามารถนำเครื่องหมายไปติดในตัวสินค้าหรือบนบรรจุภัณฑ์ได้ ซึ่งจะช่วยด้านการตลาด ส่งเสริมให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจว่าเป็นสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานและผลิตจากแหล่งต้นตำรับท้องถิ่นจริงๆ
สินค้าที่เข้าโครงการฯ จะได้รับการติดเครื่องหมาย GI (Geographical Indications) การันตีคุณภาพ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันภายในจังหวัดเพชรบูรณ์มีผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์ได้รับเครื่องหมาย GI แล้วจำนวน 30 ราย และเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรรายอื่นๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์เร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อจะเข้าสู่มาตรฐานได้รับเครื่องหมาย GI มากยิ่งขึ้น ทางโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์จึงช่วยมาต่อยอด ทั้งด้านการทำสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องราวของมะขามหวานเพชรบูรณ์ใน 3 ภาษา ได้แก่ ไทย จีน และอังกฤษ ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และออนไลน์ ป้ายโฆษณา นิตยสารบนสายการบิน เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีการจัดงานแสดงสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์ทั้งในจังหวัดเพชรบูรณ์ และกรุงเทพฯ เพื่อช่วยเสริมการตลาดให้คนทั่วไปรู้จักมะขามหวานเพชรบูรณ์ที่ได้ GI และจูงใจให้เกษตรกรเร่งพัฒนาเพื่อเข้าสู่ GI ต่อไป
นายบุญเลิศ พุทธเจริญ เจ้าของไร่ชนิกา จ.เพชรบูรณ์
ด้านนายบุญเลิศ พุทธเจริญ เจ้าของไร่ชนิกา จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ได้รับเครื่องหมาย GI กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะขามหวานกว่า 800 ไร่ อยู่ที่ ต.ซับสมอทอด อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ โดยเป็นผู้ประกอบการรุ่นแรกของจังหวัดที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์ให้ได้รับมาตรฐาน GI โดยผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งหลังจากได้รับเครื่องหมายดังกล่าวแล้วส่งผลดีให้ยอดขายเติบโตขึ้นถึงสองเท่าตัว และยังขายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้นด้วย เพราะตลาดทั้งในและต่างประเทศให้ความเชื่อมั่นอย่างสูง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันภายใน จ.เพชรบูรณ์มีพื้นที่เพาะปลูกมะขามหวานรวมกว่า 46,698 ไร่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดเฉลี่ยปีละกว่า 19,300 ตัน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น