“พาณิชย์” เผยปีทองลำไย หลังจีนเหมายกสวน ประเมินผลผลิตทะลักช่วงปลาย ก.ค.นี้ 70% ของ 5.57 แสนตันไม่มีปัญหาราคาตกต่ำแน่ เตือนเกษตรกรระวังการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ห้ามตกค้างเกินกำหนด หวั่นถูกห้ามนำเข้า เผยผลไม้ไทยอีก 23 ชนิดยังส่งออกเข้าจีนได้เพียบ ชี้พวกอบแห้งและแปรรูปเริ่มเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น ห่วงทุเรียนเวียดนามตีตลาด หลังราคาถูกกว่าและไม่ฉีดสารเร่งสุก
นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลผลิตลำไยจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2558 นี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของผลผลิตทั้งหมดที่คาดว่าจะมีประมาณ 5.57 แสนตัน ซึ่งกระทรวงฯ มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาราคาตกต่ำ เพราะล่าสุดจีนได้ติดต่อขอซื้อแบบเหมาสวนไปเกือบหมดแล้ว เพื่อป้อนความต้องการของตลาดจีนที่นิยมบริโภคลำไยเพราะถือเป็นผลไม้มงคล
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ขอให้เกษตรกรระวังเรื่องสารตกค้างอย่าให้มีการปนเปื้อน โดยเฉพาะสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ใช้สำหรับรมลำไยเพื่อให้ผิวสวยและเก็บรักษาได้นานขึ้น ซึ่งจีนได้กำหนดให้ลำไยนำเข้ามีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 50 ppm และหากไม่ระมัดระวังปล่อยให้มีสารตกค้างอาจจะถูกสั่งห้ามนำเข้า และกระทบต่อการส่งออกลำไยไทยไปจีนได้
สำหรับการส่งออกลำไยไทยไปจีนในช่วง 5 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-พ.ค.) ส่งออกได้แล้ว 1,938.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.51% ขณะที่ทั้งปี 2557 ส่งออกไปจีนได้มูลค่า 2,710.2 ล้านบาท และในช่วง 5 เดือนส่งออกลำไยไปทั่วโลกได้มูลค่า 4,041.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.17% และทั้งปี 2557 ส่งออกไปทั่วโลกได้ 7,933.96 ล้านบาท ซึ่งจีนถือได้ว่าเป็นตลาดส่งออกสำคัญเกือบจะครึ่งหนึ่งของยอดส่งออกทั้งหมด
นางดวงกมลกล่าวว่า นอกเหนือจากลำไย จีนยังนำเข้าผลไม้จากไทยอีกเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันรัฐบาลจีนได้อนุญาตให้ผลไม้ไทยนำเข้าได้จำนวน 23 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ ลิ้นจี่ มะพร้าว มะละกอ มะเฟือง มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ เงาะ สับปะรด ละมุด เสาวรส น้อยหน่า มะขาม ขนุน สละ ลองกอง ส้มเขียวหวาน ส้ม และส้มโอ ซึ่งเกือบทุกชนิดเป็นที่นิยมในตลาดจีน และมีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ได้รับความนิยมมาก เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ มะม่วงน้ำดอกไม้ เงาะโรงเรียน ส้มโอ มะขามหวาน มะพร้าวน้ำหอม ส้มเปลือกร่อน น้อยหน่า แต่ทั้งนี้ เฉพาะชมพู่ จีนมีความเข้มงวดมาก หากตรวจพบว่ามีแมลงหรือมีเชื้อราก็จะห้ามนำเข้าทันที
นอกจากนี้ ผลไม้อบแห้งและแปรรูปหลายๆ ชนิดก็เริ่มเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น เช่น ลำไยอบแห้ง ทุเรียนทอดกรอบ อบกรอบ กล้วยอบกรอบ ขนุนอบกรอบ สับปะรดอบกรอบ และมะขามหวานแกะเมล็ด เป็นต้น ซึ่งกระทรวงฯ มีแผนที่จะผลักดันให้มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้นแล้ว
สำหรับราคาขายปลีกผลไม้ไทยในนครกว่างโจวเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ราคาเฉลี่ย ทุเรียน 30-33 หยวนต่อกิโลกรัม (กก.) ลำไย 12.89 หยวนต่อ กก. มังคุด 34 หยวนต่อ กก. เป็นต้น ส่วนผลไม้ที่จีนนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น องุ่น และเชอร์รี นำเข้าจากชิลี แก้วมังกร นำเข้าจากเวียดนาม และยังเริ่มมีการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามด้วย เพราะมีราคาถูกกว่าไทย และมีการพัฒนาด้านคุณภาพ ไม่มีการฉีดสารเร่งสุก ซึ่งถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของไทย