xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโลกคน “ออกแบบตัวอักษร” สร้างเงินผ่านลายเส้น และไลเซนส์ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การสื่อสารด้วยการอ่าน นอกเหนือจากเนื้อหาใจความที่เขียนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถ่ายทอดไปถึงผู้รับโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ ความรู้สึกจากลักษณะ “ตัวอักษร” หรือฟอนต์ (Font) ที่แฝงไปด้วยเรื่องความสวยงาม อารมณ์ และเอกลักษณ์ ช่วยให้สารที่ออกไปเพิ่มคุณค่า และความสำคัญมากยิ่งขึ้น

ความสำคัญดังกล่าวทำให้มีการคิดค้นรูปแบบตัวอักษรต่างๆ มายาวนาน และต่อเนื่องจนพัฒนากลายเป็นอาชีพ มีผู้รับจ้างออกแบบตัวอักษรโดยตรง ซึ่งในต่างประเทศเกิดขึ้นหลายสิบปีแล้ว

ทว่า ในเมืองไทยแล้วอาชีพนี้ถือเป็นเรื่องใหม่มากๆ ทั้งวงการมีบุคลากรนักออกแบบตัวอักษรมืออาชีพแค่ไม่เกิน 100 คน เทียบสัดส่วนกับความต้องการของตลาดที่สามารถขายได้ทั่วโลก จึงยังมีช่องไฟอีกเหลือเฟือให้หน้าใหม่ก้าวเข้ามาหาโอกาสในอาชีพนี้
สมิชฌน์ สมันเลาะ ตัวแทน บริษัท คัดสรร ดีมาก จำกัด
หากจะหาจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมของวงการออกแบบตัวอักษรในเมืองไทยนั้น ต้องย้อนไปตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เมื่อค่ายมือถือของไทยแข่งขันกันดุเดือด แต่ละรายพยายามสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกเหนือจากแบ่งกันโดย “สี” และ “โลโก้”เท่านั้น จึงมองมาที่การสร้าง “ฟอนต์ประจำตัว” ของแบรนด์ โดยว่าจ้างบริษัท คัดสรร ดีมาก จำกัด ซึ่งเวลานั้นเป็นบริษัทไทยหนึ่งเดียวที่มีบริการออกแบบฟอนต์

สมิชฌน์ สมันเลาะ ตัวแทน บริษัท คัดสรร ดีมาก จำกัด เสริมให้ฟังว่า บริษัทฯ ก่อตั้งมาประมาณ 12 ปี บุกเบิกโดย คุณอนุทิน วงศ์สรรคกร รับจ้างออกแบบฟอนต์ให้แก่บริษัทในต่างประเทศ จนเมื่อค่ายมือถือไทยรายหนึ่งเข้ามาว่าจ้าง และผลงานที่ออกไปได้ผลตอบรับอย่างดี ทำให้ธุรกิจไทยอื่นๆ หันมาให้ความสำคัญ แล้วเกิดการว่าจ้างออกแบบตัวอักษรต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

เขาอธิบายเสริมถึงลักษณะพิเศษของอาชีพรับจ้างออกแบบฟอนต์ คนที่จะทำได้ดีควรเป็นเจ้าของภาษานั้นๆ เนื่องจากอักษรของแต่ละภาษาจะมาพร้อมกับวัฒนธรรมประจำชาติ ซึ่งคนท้องที่เท่านั้นจึงจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งแท้จริง

“ยกตัวอย่างอักษรภาษาไทย ให้ชาวตะวันตกมาออกแบบ แม้จะทำออกมาได้ แต่การวางตำแหน่งสระ วรรณยุกต์ เว้นช่องไฟ ฯลฯ ยังไงเสียไม่มีทางจะเข้าใจได้ดีกว่าคนไทยเอง เช่นเดียวกับเราจะไปออกแบบฟอนต์จีน เกาหลี ก็ไม่มีทางทำได้ดีเท่าเจ้าของภาษา ดังนั้น บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในเมืองไทย เมื่อจะทำสื่อโฆษณาโดยใช้ฟอนต์ภาษาไทยจึงต้องจ้างทีมออกแบบโดยคนไทย ทำให้วงการนักออกแบบฟอนต์ได้ประโยชน์และเติบโตมากยิ่งขึ้น” สมิชฌน์กล่าว และเผยด้วยว่า

แม้ทุกวันนี้จะมีฟอนต์ให้โหลดใช้งานฟรีมากมาย ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ทว่า วงการออกแบบตัวอักษรไทยยังมีทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง จากการเก็บข้อมูลเฉลี่ยโตปีละ 25% ปัจจัยสำคัญมาจากเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ในเมืองไทย โดยเฉพาะช่วง 5 ปีหลังที่ผ่านมารัดกุมมากยิ่งขึ้นและมีบทลงโทษรุนแรงเป็นรูปธรรม หากไปใช้ฟอนต์ละเมิดลิขสิทธิ์แล้วถูกดำเนินคดี ค่าเสียหายจะสูงกว่าจ้างออกแบบเสียอีก

และปัจจัยต่อมาที่มีความสำคัญเช่นกัน คือ ภาคธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีเห็นความสำคัญเกี่ยวกับตัวอักษรมากขึ้น ยอมควักกระเป๋าจ้างออกแบบ เพราะรับรู้แล้วว่า ของฟรีมักไม่ตอบสนองการใช้งานที่เหมาะสม

“ศุภกิจ เฉลิมลาภ” และ “ธนรัชฏ์ วชิรัคกุล” บริษัท กะทัดรัด อักษร จำกัด ซึ่งมุ่งเจาะลูกค้าเอสเอ็มอี เผยว่า ลูกค้าหลักของนักออกแบบฟอนต์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. รับจ้างออกแบบให้แก่องค์กรโดยตรง กลุ่มนี้ค่าออกแบบสูง เริ่มต้นที่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท และ 2. ขายปลีกสำหรับรายย่อยทั่วไปที่ต้องการมีฟอนต์เฉพาะตัว โดยจะมีช่องทางเป็นเว็บไซต์หน้าร้านออนไลน์รวบรวมฟอนต์ต่างๆ จากทั่วโลกไว้ร่วมกัน สามารถเข้าไปเลือกซื้อใช้ได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยในการนำไปงานประกอบด้วย

“เดิมผู้มาจ้างออกแบบฟอนต์จะเป็นองค์กรใหญ่ เงินทุนสูงเท่านั้น แต่ปัจจุบันตลาดฟอนต์เปิดกว้างขึ้น งบประมาณแค่หลักหมื่นบาท ก็สามารถมีฟอนต์เฉพาะตัวได้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงเข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันช่วยเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ และทำให้ข้อมูลที่ต้องการสื่อไปถึงลูกค้าถูกต้อง จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า” ศุภกิจกล่าว
ธนรัชฏ์ วชิรัคกุล (ซ้าย) และ ศุภกิจ เฉลิมลาภ  บริษัท กะทัดรัด อักษร จำกัด
อย่างไรก็ตาม ในวงการออกแบบฟอนต์มืออาชีพของเมืองไทยเวลานี้ เบ็ดเสร็จแล้วมีอยู่เพียง 12 บริษัทเท่านั้น นับบุคลากรรวมกันยังไม่ถึง 100 คนด้วยซ้ำ ศุภกิจไล่เรียงสาเหตุหลักมาจากในเมืองไทยยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนศาสตร์นี้อย่างเป็นทางการ ทำให้ความรู้ไม่ถูกแพร่กระจายในวงกว้าง

และเหตุผลต่อว่า การออกแบบตัวอักษรต้องอาศัยทักษะระหว่างงานศิลปะกับด้านเทคโนโลยีควบคู่อยู่ในคนคนเดียว จึงยากมากที่จะหาบุคลากรประเภทนี้ได้ รวมถึงในความเป็นจริงการออกแบบตัวอักษรเป็นงานละเอียดอ่อน ใช้เวลานานมาก ถ้าใจไม่รักจริงๆ ย่อมกลายเป็นความน่าเบื่อ

“อักษรไทยหนึ่งชุด ต้องมีทั้งตัวหนา ตัวเอน ฯลฯ รวมถึงไอคอนต่างๆ รวมแล้วชุดหนึ่งมีอักษรมากกว่า 500 แบบ อย่างอักษรจีน หรือเกาหลี ชุดหนึ่งมีเป็นพันแบบ ใช้เวลาทำเป็นปีกว่าจะเสร็จ ดังนั้น หน้าใหม่ทำไปสักพักจะรู้สึกว่ามันไม่สนุกเลย ซึ่งเทรนด์นี้ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย แม้แต่ต่างชาติ คนที่ยึดอาชีพนี้ในแต่ละประเทศก็มีจำนวนไม่มาก” ศุภกิจเผย

ในส่วนของเมืองไทยนั้น อาชีพนักออกแบบฟอนต์มักจะแตกยอดจากการเป็นนักออกแบบสาขาอื่นๆ ที่มักประสบปัญหาว่า อักษรไทยที่มีอยู่ยังไม่ตอบสนองความต้องการในการใช้งานอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องออกแบบใหม่ขึ้นเอง และหลังจากนั้นเชี่ยวชาญจนก้าวสู่การเป็นนักออกแบบตัวอักษรมืออาชีพ
         ขวัญชัย อัครธรรมกุล จากสตูดิโอ คราฟส์แมนชิพ
ขวัญชัย อัครธรรมกุล จากสตูดิโอ คราฟส์แมนชิพ เป็นหนึ่งในผลผลิตที่เติบโตมาจากโมเดลดังกล่าว เดิมรับจ้างออกแบบงานคอมพิวเตอร์กราฟิก แต่ฟอนต์ทั่วไปไม่เป็นที่พอใจ เลยต้องออกแบบเอง และพัฒนาจนปัจจุบันกลายเป็นจุดขายเสริมในธุรกิจเดิม สามารถออกแบบฟอนต์เฉพาะตัวให้แก่ลูกค้าได้ ช่วยให้ลูกค้ากลับมาจ้างซ้ำเรื่อยๆ และแน่นอนว่าได้ค่าจ้างในการผลิตสูงขึ้นด้วย

ด้านผลตอบแทนของอาชีพนักออกแบบตัวอักษรนับได้ว่าหอมหวานไม่น้อย แต่ละรายเฉลี่ยเจ็ดหลักต่อปี เนื่องจากเป็นอาชีพที่ไม่ต้องใช้ทุนและทีมงานมาก แค่คอมพิวเตอร์สเปกเทพหนึ่งตัวกับหนึ่งสมองและสองมือของคนคนเดียว สามารถรับจ้างเนรมิตตัวอักษรที่มีผลตอบแทนหลักล้านบาทได้

ย้อนกลับมาที่ สมิชฌน์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมออกแบบตัวอักษรยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ทั้ง 12 รายร่วมกันสร้างเครือข่าย “สโมสรอักษรศิลป์และอักขรศิลป์กรุงเทพฯ” (Typographic Association Bangkok หรือ TAB) ขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ระหว่างกัน จัดกิจกรรมต่างๆ สร้างการรับรู้สู่คนภายนอก อีกทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายช่วยเหลือกันและกัน และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ๆ ให้ก้าวเข้าสู่วงการนี้

“สำหรับหน้าใหม่ที่อยากเข้าสู่วงการ อันดับแรก ต้องรักตัวอักษร ต้องเข้าใจว่าอักษรมีความรู้ประวัติศาสตร์ และต้องตระหนักเสมอว่า การออกแบบตัวอักษร สิ่งสำคัญที่สุดต้องนำไปใช้งานได้จริง ยิ่งปัจจุบันโลกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว การทำงานให้แก่บริษัทต่างชาติต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล อย่าคิดแค่เข้ามาทำเพราะเห็นว่าง่าย และรายได้ดี สุดท้ายงานจะออกมาไม่ได้คุณภาพ” สมิชฌน์กล่าว


เหล่านักออกแบบตัวอักษร ร่วมกันสร้างเครือข่าย “สโมสรอักษรศิลป์และอักขรศิลป์กรุงเทพฯ” (Typographic Association Bangkok หรือ TAB)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น