รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ ชั้น 17 อาคารนวมินทราธราช คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) Email: pongpiajun@gmail.com
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ ชั้น 17 อาคารนวมินทราธราช คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) Email: pongpiajun@gmail.com
ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในการก่อการร้ายที่อุกอาจและสร้างความเศร้าโศกพร้อมกับปลุกกระแสความโกรธแค้นไปยังตัวผู้กระทำผิดรวมถึงการสร้างสมมุติฐานต่างๆเพื่อนำไปสู่ต้นตอที่ชักใยอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ในอดีตที่ผ่านการก่อการร้ายโดยเฉพาะการวางระเบิดในประเทศไทยส่วนใหญ่มักถูกเหมารวมว่าจะต้องเกิดแต่เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ในระยะหลังความรุนแรงได้ขยายผลมาถึงกรุงเทพมหานครซึ่งนอกจากจะเป็นเมืองหลวงของประเทศแล้วยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมีคำถามหลายข้อที่ผุดขึ้นมาในใจเช่น
1. ทำไมคนร้ายจึงเลือกที่จะก่อเหตุเพียงจุดเดียวแทนการวางระเบิดหลายจุดเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549 และ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 ระหว่างงานเฉลิมฉลองวันสิ้นปีในกรุงเทพมหานคร?
2. ทำไมจึงเลือกเป็นการวางระเบิดแทนการกราดยิงหรือการระเบิดฆ่าตัวตายแบบที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศอิรักหรืออัฟกานิสถาน?
3. ทำไมจึงเลือกที่ราชประสงค์ใกล้กับศาลพระพรหมด้วย?
4. ทำไมต้องเป็นเวลา 19.00 น โดยประมาณของวันที่ 17 สิงหาคม 2558?
หากเราจะเปรียบเทียบเหตุการณ์วางระเบิดทั่วกรุงเทพปี 49 กับเหตุระเบิดราชประสงค์ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือภาพความสยดสยองและจำนวนผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักที่ผู้ก่อการร้ายต้องการสื่อออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้ ในขณะที่การระเบิดทั่วกรุงเทพปี 49 มีจุดหมายหลักคือการสร้างความปั่นป่วนและเป็นการท้าทายอำนาจรัฐบาลในยุคนั้นมากกว่ามุ่งเป้าไปที่จำนวนผู้เสียชีวิต จากข้อมูลที่เผยแพร่โดย สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics and Peace) ได้มีการคำนวณค่าดัชนีชี้วัดการก่อร้ายทั่วโลกหรือที่เรียกว่า Global Terrorism Index (GTI) จากข้อมูลการก่อร้ายทั่วโลกย้อนหลังไป 14 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2557 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 125,000 ครั้งพบว่าประเทศที่มีความถี่ของเหตุก่อการร้ายสูงมักมีปัจจัยหลักสามประการนั้นคือ
1. ความเป็นปรปักษ์รวมทั้งการเผชิญหน้าระหว่าง กลุ่มชาติพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนาและการใช้ภาษาที่แตกต่างกันในสังคม
2. ความรุนแรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการวิสามัญฆาตกรรมซึ่งเป็นฆาตกรรมที่เจ้าพนักงานกระทำโดยปราศจากการอนุมัติตามกระบวนการยุติธรรมหรือตามวิถีทางแห่งกฎหมาย
3. แนวโน้มการยอมรับความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการทำร้ายร่างกายหรือการฆาตกรรมอันเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างองค์กรหรือกลุ่มคนที่มีความเห็นต่าง
และประเทศที่มีองค์ประกอบครบทั้งสามประการคือ อิรัก อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ซีเรีย และ ไนจีเรีย ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 จากจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายทั่วโลก สำหรับประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 10 โดยมีค่า GTI 7.19 รองจากฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 9 และมีค่า GTI 7.29 ซึ่งสูงกว่าไทยเพียงแค่ 0.1 หน่วยเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประชาคมอาเซียนเช่น พม่า (อันดับโลกที่ 35 และมีค่า GTI อยู่ที่ 4.24) กัมพูชา (อันดับโลกที่ 98 และมีค่า GTI อยู่ที่ 0.31) ลาว (อันดับโลกที่ 113 และมีค่า GTI อยู่ที่ 0.08) เวียดนาม (อันดับโลกที่ 124 และมีค่า GTI อยู่ที่ 0)
ทั้งไทยและฟิลิปปินส์จัดอยู่ในกลุ่มที่อาการน่าเป็นห่วง แต่ที่น่าประหลาดใจมากคือประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันโหดร้ายจากสงครามและมีการปกครองแนวเผด็จการทหารเช่น พม่า กัมพูชา และ เวียดนาม กลับมีค่า GTI ที่ต่ำมากอย่างเช่น เวียดนาม แทบไม่มีเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นเลยในระยะ 14 ปีที่ผ่านมา!
ย้อนกลับมาที่เหตุระเบิดราชประสงค์และพิจารณาถึงเงื่อนไขในการเกิดเหตุก่อการร้ายตามนิยามของ สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เมื่อนำมาร้อยเรียงเข้ากับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตัวเลข GTI และอันดับโลกของเหตุการณ์ก่อการร้ายที่สูงของประเทศไทย คือสิ่งตอกย้ำให้พวกเราชาวไทยทุกคนจำต้องตระหนักถึงบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปรวมทั้งความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับสถานการณ์ความรุนแรงอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง สำหรับการระเบิดพลีชีพเป็นยุทธวิธีที่มีลักษณะเฉพาะและมักถูกนำมาปฏิบัติอย่างแพร่หลายในกลุ่ม Islamic State of Iraq and the Levant นอกจากนี้ยังพบเหตุก่อการร้ายในลักษณะเดียวกันที่ เยเมน อัฟกานิสถาน และ ซีเรีย โดยจากข้อมูลทางสถิติของผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายทั่วโลกในปี พ.ศ.2556 มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่อ้างความรับผิดชอบโดยสัดส่วนของการระเบิดพลีชีพคิดเป็นเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ในขณะที่การก่อการร้ายแบบกราดยิงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 และการวางระเบิดคือรูปแบบก่อการร้ายที่มีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 60 จากเหตุก่อการร้ายทั้งหมดทั่วโลก
เมื่อนำตัวเลขสถิติการก่อการร้ายทั่วโลกมาวิเคราะห์ดูแล้วจะพบว่า เหตุวางระเบิดที่ราชประสงค์เป็นรูปแบบของก่อการร้ายกระแสหลักนั้นคือใช้ ระเบิด เป็นอาวุธ มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเสียหายทางด้านความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่มีต่อความปลอดภัยในประเทศไทย ตัวอย่างผลกระทบจากการก่อการร้ายทางด้านอื่นเช่น มิติทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดอย่างกรณีของเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 หรือ 9/11 (ไนน์วันวัน) มีการประเมินมูลค่าความเสียหายไว้ที่ 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.96 ล้านล้านบาทเฉพาะที่มหานครนิวยอร์กที่เดียว หากรวมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการถดถอยทางด้านเศรษฐกิจ และค่าความเสียหายอื่นๆรวมกันแล้วอาจมีมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และในส่วนนี้ยังไม่รวมถึงค่าความเสียหายในระยะยาวซึ่งอาจมีมูลค่าสูงกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเกือบ 10-20 เท่า
สมมุติว่าผู้ก่อการร้ายมาจากต่างประเทศและมีวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ผมยังตอบคำถามให้ตัวเองไม่ได้คือทำไมต้องเป็น ราชประสงค์ และในวันที่ 18 สิงหาคม 2558? เช่น หากเป็นการก่อการร้ายแบบหวังผลกับชาวตะวันตกจริงๆ ทำไมไม่ทำที่ย่านถนนข้าวสาร หรือหากมุ่งหวังไปเพียงที่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ทำไมไม่เลือกใจกลางย่านเศรษฐกิจเช่น สุขุมวิท หรือเพียงแค่ต้องการสื่อถึงนัยทางการเมืองก็ควรไปวางแถวราชดำเนินไม่ตอบโจทย์ได้ดีกว่าเหรอ? แสดงว่าโจทย์ที่ตั้งไว้อาจไม่ได้มีเพียงข้อเดียว ผลลัพธ์ที่คาดหวังอาจมีมากกว่าหนึ่ง เช่น นอกจากจะสื่อไปถึงเรื่องการชุมนุมทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมาแล้วยังสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวเสมือนหนึ่งเป็นการยิงนกทีเดียวได้สองสามตัวก็เป็นได้
และที่สร้างความประหลาดใจให้มากที่สุดคือเมื่อนำ วันเวลา ที่เกิดเหตุมาวิเคราะห์ทางโหราศาสตร์ดูแล้วจะพบว่าตำแหน่งของดวงดาวขณะที่เกิดเหตุต่างส่งผลร้ายต่อลักคณาของดวงเมืองซึ่งตั้งอยู่ที่ราศีเมษเช่น อาทิตย์กับอังคารซึ่งเป็นคู่ศัตรูและมีความหมายถึง อุบัติเหตุ การก่อการร้าย การเสียชีวิต อยู่ที่ภพพันธุของดวงเมือง พร้อมกับมีดาวมฤตยูซึ่งเชื่อมโยงกับความวิบัติและสิ่งที่เลวร้ายกุมลักคณาดวงเมืองไว้ที่ราศีเมษ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าหากเป็นผู้ก่อการร้ายชาวต่างชาติจริงเหตุใดจึงเจตนาที่จะก่อเหตุในวันที่ดวงเมืองตกเช่นนี้?