xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มสาวพม่าเซลฟีเพื่อนต่างศาสนายืนยันรักไร้พรมแดน ต้านการสร้างความเกลียดชัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เผยให้เห็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวจากต่างศาสนาและชาติพันธุ์ถ่ายรูปเซลฟีร่วมกันที่บริเวณทะเลสาบกันดอจี ในนครย่างกุ้ง.--Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

เอเอฟพี - ในประเทศที่ศาสนา และเชื้อชาติเป็นประเด็นปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ การรณรงค์ถ่ายเซลฟีของนักศึกษาพม่าที่ส่งเสริมมิตรภาพข้ามวัฒนธรรมกลายเป็นขั้วตรงข้ามซึ่งหาได้ยากต่อการใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อต้านมุสลิมของกลุ่มพระสงฆ์หัวรุนแรง

หากมองผ่านๆ ก็ดูไม่มีอะไรผิดปกติในกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังส่งยิ้มให้แก่กล้องโทรศัพท์มือถือ แต่การเซลฟีของเด็กๆ เหล่านี้ เป็นการกระทำที่แสดงความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันในประเทศที่ถูกโจมตีจากเหตุรุนแรงระหว่างชุมชน และการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังที่ลุกลามเป็นวงกว้างก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญในปีนี้

วัยรุ่นชายสวมแว่นตาที่นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ของประเทศถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มเพื่อนนักศึกษาที่เป็นชาวมุสลิม ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ชื่อ “เพื่อนของฉัน” ที่สนับสนุนให้ผู้คนจากต่างศาสนา และชาติพันธุ์ถ่ายภาพร่วมกันและโพสต์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์

“ทุกคนชอบถ่ายเซลฟีในแบบของตัวเอง ดังนั้น ทำไมเราไม่ใช่ในทางที่ถูกต้อง เพื่อให้สังคมดียิ่งขึ้น” วาย วาย นู ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการรณรงค์ถ่ายภาพเซลฟีอธิบาย

พระสงฆ์หัวรุนแรงได้ใช้ถ้อยคำต่อต้านมุสลิมผ่านการชุมนุมประท้วงตามที่สาธารณะ และบนสื่อออนไลน์ พร้อมกับการเสนอนโยบายที่หลายคนระบุว่า มีเป้าหมายเป็นชนกลุ่มน้อย

การประท้วงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานในนครย่างกุ้ง และรัฐยะไข่ เป็นการประท้วงต่อต้านความช่วยเหลือที่ทางการมอบให้แก่บรรดาผู้อพยพมุสลิมโรฮิงญาซึ่งพบอยู่บนเรือในอ่าวเบงกอล

กลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยหลายหมื่นคนหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพื่อหลบหนีการกดขี่ข่มเหง หลังความไม่สงบระหว่างชุมชนปะทุขึ้นในปี 2555 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน และอีกกว่า 140,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

บนเพจเฟซบุ๊กของพระวิระธู พระสงฆ์หัวรุนแรงที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวมากที่สุดของพม่า ได้โพสต์เตือนต่อต้านการยกเลิกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ระบุห้ามผู้ที่สมรสกับชาวต่างชาติเป็นประธานาธิบดี พร้อมภาพร่างผู้นำประเทศในอนาคตยืนข้างคู่สมรสที่สวมฮิญาบ

“หากแก้ไขกฎหมาย ประเทศจะมีลักษณะเช่นนี้” พระวิระธู เขียนเตือน

เทคโนโลยีมือถือที่ราคาถูกลงได้จุดประกายการปฏิวัติบนอินเทอร์เน็ตในพม่าที่หลุดพ้นจากการโดดเดี่ยวตัวเองหลายทศวรรษนับตั้งแต่การปกครองของรัฐบาลทหารสิ้นสุดลงในปี 2554 แต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เติบโตมากขึ้น ก็ทำให้เห็นถ้อยสร้างความคำเกลียดชังบนสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน

นาย โพน ลัต บล็อกเกอร์ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มเคลื่อนไหว Panzagar หรือถ้อยคำภาษาดอกไม้ ได้ตรวจสอบ และแจ้งรายงานเมื่อพบเห็นถ้อยคำเกลียดชังบนเว็บไซต์ เช่น เฟซบุ๊ก

นาย โพน ลัต กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการเพียงเล็กน้อยที่จะหยุดยั้งการแพร่กระจายเนื้อหาที่ยั่วยุ

“มีบางกลุ่มที่ตั้งใจเผยแพร่ถ้อยคำเกลียดชัง และพยายามที่จะจุดชนวนความรุนแรง” โพน ลัต กล่าว

กลุ่มเซลฟี “เพื่อนของฉัน” ที่เคลื่อนไหวอยู่บนเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ตัดสินใจที่จะใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันในการลดความแตกแยก พวกเขามุ่งมั่นที่จะรณรงค์ก่อนการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ด้วยวิตกว่า การรณรงค์หาเสียงจะยิ่งสร้างความแตกแยกในชุมชน
<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นักรณรงค์ ถ้อยคำภาษาดอกไม้ ชูป้ายต่อต้านการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง ที่สำนักงานในนครย่างกุ้ง.--Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>
พม่าเป็นประเทศที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย แต่หลายทศวรรษของการเพิกเฉยละเลยภายใต้การปกครองของทหาร และความขัดแย้งที่ยังคงระอุอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทางภาคเหนือ และตะวันออกของประเทศ ได้ทำให้หลายกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ

สมาชิกพระสงฆ์หัวรุนแรงที่เป็นแนวหน้าเคลื่อนไหวก็ไม่ให้ความสำคัญต่อชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิม

มะบะธา กลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยมชาวพุทธที่มีการจัดการเป็นอย่างดี และเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับกลุ่มเคลื่อนไหว 969 ของพระวิระธู ได้ตีพิมพ์วารสารที่เข้าถึงผู้อ่านหลายหมื่นคน

กลุ่มมะบะธา ระบุว่า พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวพม่าส่วนใหญ่ของประเทศ และมักที่จะวาดภาพศาสนาอิสลามเป็นผู้รุกรานจากภายนอกที่จะกวาดล้างชาวพุทธ แม้ว่าความเป็นจริงว่าชาวมุสลิมมีอยู่ในพม่ามาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ

พระปามุกคา โฆษกกลุ่มมะบะธา ปฏิเสธว่า กลุ่มก่อให้เกิดความรุนแรงต่อต้านชาวมุสลิม และกล่าวว่า มะบะธาแค่ทำงานหนักเพื่อให้แน่ใจว่า ประเทศพม่าจะไม่กลายเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม

นักการเมืองกระแสหลักไม่กี่คน รวมทั้งนางอองซานซูจี ที่กล้าส่งเสียงป้องชาวมุสลิมด้วยกลัวว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งชาวพุทธจะไม่พอใจก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญ

ชาวพม่าชาตินิยมชาวพุทธได้รณรงค์ต่อต้านซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เพราะพรรคกล่าวต่อต้านกฎหมายคุ้มครองชาวพุทธ ที่กลุ่มมะบะธายื่นเสนอต่อรัฐสภา

“เราจะรณรงค์ไม่ลงคะแนนให้พรรค NLD หรือผู้ที่คัดค้านต่อต้านกฎหมายนี้ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ และแผ่นพับ” ปามุกคา กล่าว

โครงการ “เพื่อนของฉัน” บนเฟซบุ๊กยังต้องเดินทางอีกยาวไกล การรณรงค์ของหนุ่มสาวนักศึกษาชาวพม่าได้ยอดไลก์ประมาณ 1,700 คลิก ถือตัวเลขที่ยังเล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดตามเพจของพระวิระธู ที่มีมากกว่า 74,000 ชื่อ

แต่พวกเขายังคงหวังว่า ข้อความของมิตรภาพจะได้รับความสนใจ ขณะที่ประเทศกำลังเตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง

ฮัน เซธ ลู ผู้เข้าร่วมโครงการรณรงค์ในหน้าเพจเฟซบุ๊ก ได้โพสต์รูปถ่ายขณะยืนอยู่ร่วมกับผู้หญิงที่สวมฮิญาบ พร้อมข้อความที่เขียนว่า “ผมเป็นชาวพุทธ และเพื่อนของผมเป็นชาวมุสลิม”

“เราแตกต่างแต่เรายอบรับซึ่งกันและกัน เพราะมิตรภาพนั้นไร้พรมแดน” ฮัน เซธ ลู กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น