เอเอฟพี - นักรณรงค์เคลื่อนไหวชาวพม่าหลายสิบคนร้องตะโกนข้อความถึงญาติพี่น้องจากรถเรือนจำที่บริเวณนอกศาล เมื่อวันพุธ (11) หลังถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในการปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง ที่ก่อให้เกิดเสียงประณามจากนานาประเทศ และความวิตกว่า การปราบปรามในยุครัฐบาลเผด็จการทหารหวนกลับมาอีกครั้ง
ขบวนชุมนุมประท้วงนำโดยนักศึกษาที่เรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา ถูกทางการเข้าสลายอย่างไร้ความปรานีถึง 2 ครั้ง ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ก่อให้เห็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดาประเทศต่างๆ และฝ่ายค้านที่ระบุว่า กลยุทธ์ที่ใช้ในการปราบปรามสะท้อนภาพอดีตรัฐบาลทหาร
ในเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร (10) ตำรวจพร้อมกระบอง ได้เข้าทุบตีนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวในเมืองเลทปะดอง และจับกุมนักเคลื่อนไหวทั้งหมด 127 คน
นักเคลื่อนไหวจำนวนมากปรากฏตัวที่ศาลของเมืองเลทปะดอง วานนี้ (11) เพื่อรับฟังการพิจารณาคดีที่บรรดาสมาชิกญาติพี่น้องไม่สามารถเข้าร่วมรับฟังได้
“สิทธิมนุษยชนของเราถูกล่วงละเมิด” นักเคลื่อนไหวที่ถูกจับกุมตัวร้องตะโกน บางคนมีร่องรอยบาดเจ็บ ขณะถูกนำตัวออกจากศาล
สมาชิกครอบครัวของผู้ถูกจับกุม กล่าวว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ประกอบด้วยผู้หญิง 20 คน และผู้ชาย 40 คน ถูกตั้งข้อหา 5 ข้อ ที่เกี่ยวข้องต่อการประท้วง และจะเข้ารับฟังการพิจารณาคดีในวันที่ 25 มี.ค.
ส่วนผู้ชุมนุมประท้วงอีกจำนวนหนึ่งถูกนำตัวไปยังศาลในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน (11) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่น
กระทรวงข้อมูลของพม่าระบุในคำแถลงที่โพสต์ลงบนเว็บไซต์ของกระทรวง ว่า ทางการจะดำเนินคดีต่อนักเคลื่อนไหวที่เป็นผู้บงการการชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมที่ยังคงเป็นนักศึกษาอยู่นั้น ทางการจะปล่อยตัวด้วยความเมตตา และสามารถเข้าศึกษาต่อได้โดยอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง ขณะที่พระสงฆ์อีก 10 รูป จะพาส่งกลับวัด
“เราเป็นห่วงลูกสาวของเรา เราได้ยินว่าเธอถูกทำร้าย” เน วิน พ่อของนักเคลื่อนไหว เพียว เพียว ออง กล่าว ขณะรออยู่ด้านนอกเรือนจำ ที่ผู้ประท้วงหลายคนถูกควบคุมตัวไว้
สหภาพยุโรป ที่ดำเนินโครงการฝึกอบรมกองกำลังตำรวจของพม่า ออกคำแถลงแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การปราบปรามการชุมนุมประท้วง ขณะที่สหรัฐฯ และอังกฤษ ก็แสดงความวิตกถึงเรื่องนี้เช่นกัน
นักเคลื่อนไหวที่ถูกปล่อยตัวจากการควบคุมรายหนึ่ง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตีผู้ชุมนุมต่อแม้อยู่ในระหว่างการควบคุมแล้วก็ตาม
“พวกเขาตีพวกเราทุกคน พวกเขากดหัวเรา และย่ำลงไปที่เท้าของพวกเรา ตีเราด้วยกระบอง บางคนจำไม่ได้ว่าโดนตีไปกี่ครั้ง” นักเคลื่อนไหว กล่าว
รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เข้าแทนที่รัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2554 ได้ดำเนินการปฏิรูปในหลายด้านที่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ประเทศ แต่ผู้สังเกตการณ์วิตกว่า การปฏิรูปประชาธิปไตยกำลังหยุดชะงัก ขณะที่ประเทศกำลังมุ่งไปสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญในช่วงปลายปี
นักศึกษาได้จัดชุมนุมประท้วงมาเป็นเวลาหลายเดือน ต่อต้านกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่รวมทั้งการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางของระบบโรงเรียน การอนุญาตให้ตั้งสหภาพนักศึกษา และการสอบภาษาชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี ก็รว่มประณามการปราบปรามว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
“ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ใช้วิธีทุบตี หรือปราบปรามเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ไม่สอดคล้องต่อกระบวนการของรัฐบาลประชาธิปไตย นี่เหมือนกับเป็นขั้นตอนภายใต้การปกครองของทหาร” เนียน วิน โฆษกพรรค NLD กล่าว
เนียน วิน ยังยกประเด็นความวิตกเกี่ยวกับการใช้กลุ่มชายในชุดพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการชุมนุมที่เมืองเลทปะด่อง
พยานที่เห็นเหตุการณ์การปราบปรามการชุมนุมในนครย่างกุ้ง ระบุว่า เห็นกลุ่มชายสวมปลอกแขนสีแดงเข้าทุบตีผู้ชุมนุมประท้วงร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สื่อทางการพม่ารายงานเมื่อวันพุธ (11) ระบุว่า ทางการจะดำเนินการสอบสวนในเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมในนครย่างกุ้งว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเหมาะสมหรือไม่ในการเข้าสลายผู้ชุมนุม และผลการสืบสวนจะถูกส่งให้แก่ประธานาธิบดี ในวันที่ 31 มี.ค.