เอเอฟพี - นักเคลื่อนไหวหลายสิบคนเดินทางถึงศาลเมืองเลทปะด่อง ในวันนี้ (25) เพื่อรับฟังการพิจารณาคดี หลังถูกจับกุมตัวในระหว่างการปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ที่ทำให้ต่างชาติวิตกกังวล
ผู้ชุมนุมประท้วงราว 80 คน ยังคงอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ หลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมยุติการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา อันเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พม่ากำลังกลับไปใช้รูปแบบการปราบปรามอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการปกครองของทหาร
รถบรรทุก 3 คัน ที่บรรทุกนักเคลื่อนไหวเดินทางออกจากเรือนจำสารวดี ใกล้เมืองเลทปะด่อง เพื่อขึ้นศาลในเช้าวันนี้ (25) โดยนักเคลื่อนไหวต่างร้องเพลงเสียงดัง และโบกมือผ่านซี่กรงให้กำลังใจแก่บรรดาญาติพี่น้องที่รวมตัวกันอยู่ภายนอก
ผู้ชุมนุมประท้วงมากกว่า 100 คน ถูกจับกุมตัวหลังเดินขบวนเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ และเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเป็นผู้ชาย 19 คน และผู้หญิง 1 คน ในวันต่อมา
“จนถึงตอนนี้ทางการได้ปล่อยตัวนักศึกษาแล้วทั้งสิ้น 28 คน และนักข่าวอีก 2 คน ที่ถูกจับตัวจากการปราบปรามการชุมนุม หลังพิจารณาถึงบทบาทที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมประท้วง” รายงานระบุ
บรรดาญาติที่อยู่ในอาการวิตกเนื่องจากติดต่อกับผู้ถูกจับกุมได้เพียงไม่นานอ้างว่า นักเคลื่อนไหวถูกทารุณภายในเรือนจำ และทราบข้อมูลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายที่พวกเขาต้องเผชิญ
“ลูกสาวผมไม่รู้ว่าพวกเขาถูกตั้งข้อหาอะไร ไม่รู้อะไรแน่ชัดสักอย่าง” เน วิน พ่อของเพียว เพียว อ่อง นักเคลื่อนไหวซึ่งถูกตีที่ศีรษะประมาณ 6 ครั้ง หลังถูกจับกุมตัว กล่าว
ด้านเจ้าหน้าที่พม่าที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของคดี ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรต่อประเด็นนี้
ซาน ตุน ออง ทนายความที่อยู่ท่ามกลางบรรดาญาติ นักข่าว และนักเคลื่อนไหว ซึ่งรวมตัวกันอยู่ด้านนอกเรือนจำสารวดี กล่าวว่า ทนายความจากมัณฑะเลย์ และย่างกุ้ง ราว 45 คน เสนอที่จะเป็นตัวแทนให้แก่ผู้ชุมนุมประท้วงที่ถูกจับกุม
“การจับกุมคนเหล่านี้เป็นเหมือนการทำลายประชาธิปไตย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราที่เป็นทนายความต้องเป็นตัวแทนให้พวกเขา” ซาน ตุน ออง กล่าว
ผู้สังเกตการณ์วิตกว่า การปฏิรูปที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากมายของพม่ากำลังชะงักงัน ในขณะที่พม่ากำลังมุ่งไปสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญในช่วงปลายปีนี้
การปราบปรามการชุมนุมประท้วงในเมืองเลทปะด่อง มีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษาในนครย่างกุ้ง ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มชายในชุดพลเรือน อันเป็นความเคลื่อนไหวที่พรรคฝ่ายค้านของนางอองซานซูจี กล่าวว่า สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ของอดีตรัฐบาลทหาร
สหภาพยุโรป ที่ดำเนินโครงการฝึกอบรมให้แก่กองกำลังตำรวจพม่าได้แสดงความวิตกต่อเหตุปราบปรามดังกล่าว ขณะที่สหรัฐฯ และสหประชาชาติก็แสดงความวิตกเช่นกัน
นักศึกษาพม่าจัดชุมนุมประท้วงมาเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อต่อต้านกฎหมายการศึกษา และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่ ที่รวมทั้งการกระจายอำนาจในระบบการศึกษา การสอนภาษาชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และการอนุญาตให้จัดตั้งสหภาพนักศึกษา
การหารือระหว่างรัฐบาล และนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวนำไปสู่การทบทวนกฎหมาย โดยรัฐสภาที่กำลังอธิปรายเสนอแก้ไขกันในตอนนี้ แต่ขณะเดียวกัน ทางการก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะหยุดการเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาจากเมืองมัณฑะเลย์ ในภาคกลาง มายังนครย่างกุ้ง ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค.
สื่อทางการของพม่าได้ประกาศว่า ทางการจะดำเนินการสอบสวนเหตุปราบปรามการชุมนุมในนครย่างกุ้ง ว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมในการสลายผู้ชุมนุมหรือไม่ โดยผลของการสืบสวนจะยื่นต่อประธานาธิบดีภายในวันที่ 31 มี.ค. นี้.