ตามดูบทบาท “ปัญจะ เกสรทอง” ก่อนอนิจกรรม 4 ปี ในฐานะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 16 ตั้งแต่ 3 ส.ค. 31-สิ้นสุดลง 23 ก.พ. 34 ก่อนถูก “รัฐบาล รสช.” ภายใต้การนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ปฏิวัติ ปิดตำนาน ’อดีตประธานสภาฯ ยุค “ชวน 1” และ ส.ส.เพชรบูรณ์ 11 สมัย
วันนี้ (6 ก.ค.) หลังจากมีข่าวว่านายปัญจะ เกสรทอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อายุ 84 ปี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งอดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ 11 สมัย ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคประจำตัวหลายอย่างตั้งแต่เมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 5 กรกฎาคม ที่บ้านพักในกรุงเทพมหานคร ญาติและครอบครัว ได้เคลื่อนย้ายศพมาบำเพ็ญกุศลที่ จ.เพชรบูรณ์ บ้านเกิด โดยมีพิธีรดน้ำศพในวันที่ 7 ก.ค. เวลา 17.00 น. ที่บ้านพักข้างสำนักงานไปรษณีย์จังหวัดเพชรบูรณ์ ถนนสระบุรี-หล่มสัก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
สำหรับประวัติ จากฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า “นายปัญจะ เกสรทอง” เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2474 ที่ตำบลท่าพล อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ บิดาชื่อนายแป้น เกสรทอง มารดาชื่อนางแตงโม เกสรทอง สมรสกับนางกอบแก้ว เกสรทอง (เทพสาร) มีบุตร 2 คน ธิดา 3 คน จบระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนสตรีวิทยานุกูล อำเภอเมือง จบระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเพชรพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปศาสตร์ จากสถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
งานด้านการเมืองการปกครอง “นายปัญจะ เกสรทอง” ถือได้ว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จผู้หนึ่งของนักการเมืองไทยเนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 11 ครั้ง นับเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดของวงการการเมืองไทยผู้หนึ่ง
ปี พ.ศ. 2512 สังกัดพรรคสหประชาไทย ปี 2518-2519 สังกัดพรรคเกษตรสังคม พ.ศ. 2522-2526 สังกัดพรรคชาติไทย ต่อมา พ.ศ. 2538-2539 ย้ายมาสังกัด พรรคชาติพัฒนา (พ.ศ. 2535) และยุติบทบาททางการเมืองหลังแพ้เลือกตั้ง จากนั้น นายปัจจะได้ผลักดันบุตรชาย คือ พล.ต.ปกรณ์ เกสรทอง เข้ามาสู่แวดวงการเมือง โดยลงรับเลือกตั้งในนามพรรคชาติพัฒนา แต่ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งใน จ.เพชรบูรณ์ได้ ปัจจุบันเป็นข้าราชการบํานาญ และนายทหารพระธรรมนูญ กองพลที่ 1 และ อดีต รอง ผบ.กองพลพัฒนา เคยลงรับสมัคร ส.ส.เพชรบูรณ์ 1 ครั้ง
“ทั้งนี้ อาจเนื่องจากเป็นผู้ที่มีนิสัยตรงไปตรงมา และมีความจริงใจที่ช่วยเหลือประชาชนในเขตเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง การได้รับเลือกตั้งมาหลายสมัย ทำให้ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ และเป็นเกียรติประวัติแก่ชาวเพชรบูรณ์หลายตำแหน่ง คือ พ.ศ. 2531-2534 ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2537 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2540 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2541-2542 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ในยุคที่ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ขณะนั้น) เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย ก่อนที่นายปัจจะจะย้ายตาม พล.อ.ชาติชาย มาก่อตั้ง “พรรคชาติพัฒนา”
นอกจากนี้ ยังได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น ตำแหน่งประธานกรรมการต่างๆ รองประธานกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และยังดำรงตำแหน่งอื่นๆ ในท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ และในท้องที่ส่วนกลางอีกหลายตำแหน่ง
งานด้านการศึกษา นายปัญจะได้ประกอบคุณความดีหลายประการ และยังแสดงออกซึ่งความรู้ความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์ โดยทำประโยชน์ทางการด้านการศึกษาแก่ชาวเพชรบูรณ์ เช่น ในปี 2514 ได้ร่วมมือกับเขตการศึกษา 7 สมาคมพ่อค้าชาวอำเภอหล่มสัก รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความสนใจการกีฬาในจังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการจัดตั้ง “วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์” จนกระทั่งปี 2529 ได้ย้ายสถานที่มาอยู่แห่งใหม่ในอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี 2548 ได้เปลี่ยนเป็นสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตเพชรบูรณ์ และยังมีสถานศึกษาอีกหลายแห่งที่นายปัญจะ เกสรทอง เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการศึกษาตลอดมา
งานด้านสาธารณสุข นายปัญจะได้ประสานการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณด้านการสาธารณสุขจำนวนมากและส่งเสริมการก่อสร้างสถานพยาบาลของรัฐตามอำเภอต่างๆ หลายแห่ง
งานด้านการเกษตรและการประกอบอาชีพของประชาชน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเกษตรกร นายปัญจะ เกสรทอง จึงส่งเสริมการเกษตรให้แก่ประชาชน โดยได้ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำในชนบทหลายโครงการ
งานด้านการพัฒนาเส้นทางคมนาคม นายปัญจะได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท และหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมของจังหวัดให้เจริญยิ่งขึ้น จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาวเพชรบูรณ์ตามหน้าที่ของคนเพชรบูรณ์ และสมาชิกสภาผู้แทนของจังหวัดเพชรบูรณ์ตลอดมา
บทบาทในฐานะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2531 วันที่ 29 เมษายน 2531 และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคชาติไทย ได้เป็นแกนนำพรรคการเมืองอื่นเพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
ในคราวประชุมครั้งที่ 1 สมัยสามัญ วันพุธที่ 3 สิงหาคม 2531 นายประเสริฐ ดวงวิชัย เลขาธิการรัฐสภาในขณะนั้น ได้ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2528 ข้อ 18 ซึ่งตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 142 กำหนดว่า “เมื่อไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานของที่ประชุม ให้สมาชิกผู้มีอายุสูงสุดซึ่งมาประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกตั้งประธานและรองประธานสภา”
ปรากฏว่า นายทองหยด จิตตวีระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง เป็นผู้มีอายุสูงสุดได้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม และหลังจากเปิดประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุม ก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 กำหนดว่า “ก่อนเข้ารับหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก”
หลังจากนั้นจึงได้ดำเนินการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2521 มาตรา 108 บัญญัติให้มีประธานสภา 1 คน และข้อบังคับข้อ 5 กำหนดว่า “การเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน”
และนายนิยม คำแหง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอชื่อนายปัญจะ เกสรทอง พรรคชาติไทย และนายจรูญ กุวานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เสนอชื่อนายสุธี ภูวพันธ์ พรรครวมไทย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากเลขาธิการรัฐสภาขานชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการตรวจนับคะแนนจำนวน 5 คนได้นับคะแนนแล้วเสร็จ ทั้งสิ้น 357 คน ปรากฏว่านายปัญจะ เกสรทอง ได้ 230 คะแนน นายสุธี ภูวพันธ์ ได้ 122 คะแนน จึงถือว่านายปัญจะ เกสรทอง ได้รับการเลือกตั้งตามมติของสภาให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 16 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในวันที่ 3 สิงหาคม 2531
หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นายปัญจะ เกสรทอง ได้กล่าวความในใจต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า “กระผมและรองประธาน ทั้งสองรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากบรรดาเพื่อนสมาชิกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน กระผมและท่านรองประธานทั้งสองขอกราบขอบพระคุณท่านไว้ ณ โอกาสนี้เป็นอย่างยิ่งที่ท่านทั้งหลายได้มอบความไว้วางใจให้แก่กระผมและท่านรองประธานทั้งสอง กระผมและรองประธานทั้งสองขอตั้งปณิธานและคำมั่นสัจวาจาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ผดุงรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือความผาสุกของมวลชนและประชาราษฎร ความมั่นคงของประเทศและราชบัลลังก์ กระผมและท่านรองประธานทั้งสองขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้เป็นอย่างสูง”
และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง นายปัญจะ เกสรทอง ได้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มความสามารถในการควบคุมการประชุม เช่น มีบทบาทที่สำคัญในการควบคุมการประชุมในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลใน (นายสันติ ชัยวิรัตนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย) ครั้งที่ 17/2531 สมัยสามัญ เป็นพิเศษ วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2531
การอภิปรายในครั้งนี้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ กับคณะ ได้ยื่นญัตติด้วยเหตุผลว่า นายสันติ ชัยวิรัตนะ ได้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ คือกรมโยธาธิการนำทรัพย์สินของทางราชการ เช่น เครื่องมือขุดเจาะบ่อบาดาลและวัสดุทั้งหลายที่ใช้เพื่อการนั้นไปดำเนินการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต ด้วยการใช้งบประมาณและทรัพย์สินของราชการ ความประพฤติเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต และสมาชิกได้อภิปรายสลับไปกับการประท้วง แต่นายปัญจะ เกสรทอง ได้ทำหน้าอย่างแข็งขัน ควบคุมการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและที่สุดในการประชุมครั้งที่ 18/2531 ได้ลงมติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ด้วยคะแนนเสียงไว้วางใจ 206 คะแนน ไม่ไว้วางใจ 142 คะแนน ถือว่าที่ประชุมมีมติไว้วางใจนายสันติ ชัยวิรัตนะ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อไป
จากนั้นในปี 2532 และ ปี 2533 ได้มีสมาชิกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในครั้งที่ 18-20/2532 และญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ในครั้งที่ 19-22/2533 อีก นับได้ว่านายปัญจะ เกสรทอง ได้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างสมบูรณ์แบบ และได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2531 - สิ้นสุดลงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เหตุเพราะการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 เป็นผลให้วุฒิสภา และสภาผู้แทนสิ้นสุดลงตามประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 3 ในระหว่างนั้นได้แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
นายปัญจะ เกสรทอง ถือได้ว่าเป็นนักการเมืองต้นแบบให้กับนักการเมืองรุ่นต่อมา เพราะเป็นผู้ที่วางตน ประพฤติตนอย่างเหมาะสมกับตำแหน่งทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ที่สังกัด นักการเมือง ไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญอย่างยิ่ง หากนักการเมืองรุ่นหลังยึดถือนักการเมืองต้นแบบที่ดีแล้ว จึงต้องทำงานด้วยอุดมการณ์ ความมุ่งมั่น ความจริงใจ ที่อยากจะช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง