“อภิสิทธิ์” เผย รับไม่แปลกนักการเมืองถูกมองเชิงลบ ตปท. ก็เป็น ยก 14 ตุลา เป็นเหตุให้สนการเมือง รับ ระบอบทักษิณเลวร้ายสุด ขัดแย้งไม่จบถ้ายังมุ่งชนะ กม. ลั่น เป็นไปไม่ได้ ขอ ปชช. อย่ายอม ลั่น แพ้เลือกตั้งอีกจบวางมือ รับยังไม่พอใจภาพรวมการทำงาน หวัง คสช. จัดระบบการเมืองให้เร็ว - ดี ห่วงกลไกสังคมอยากให้ตื่นตัว ไม่มั่นใจแผนรัฐทำได้จริง ตั้ง คกก. ขับเคลื่อนปฏิรูป เชื่อ ไม่สำเร็จ ติง รัฐใช้อำนาจ ม.44 คิดว่าดี แต่ห้าม รบ. เลือกตั้งทำ
วันนี้ (17 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพการเป็นนักการเมือง” ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง ม.รังสิต ว่า หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมขณะนี้ตนถึงยังเป็นนักการเมือง ในสภาวะที่สังคมและผู้มีอำนาจแสดงความรังเกียจนักการเมือง อีกทั้งนักการเมืองถูกมองในทางลบ ซึ่งตั้งแต่เข้ามาทำงานการเมืองมากว่า 23 ปี ไม่มีช่วงไหนที่คนยกย่องสรรเสริญนักการเมือง และที่ผ่านมา นักการเมืองตกเป็นจำเลยของสังคมมาโดยตลอด แต่สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้แตกต่างกับในต่างประเทศ ที่คนมีความศรัทธาต่อนักการเมืองหรือองค์กรทางการเมืองลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบหลาย 10 ปี แต่ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการเมืองเป็นเรื่องการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ โดยเฉพาะนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องพร้อมรับการตรวจสอบ และยอมรับการเปิดโปงในสิ่งที่ทำไป
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้หันมาสนใจการเมืองคือ เหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ได้เห็นภาพเหตุการณ์นักศึกษา และคนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวและสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ จึงเป็นจุดที่ทำให้ตนเปลี่ยนมุมมองและอยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย โดยอาศัยกลไกของประชาชนและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และจะตั้งใจจะรักษาอุมดมการณ์นี้ในการทำงานการเมือง จะไม่ใช้วิธีการโดยมิชอบ จึงทำให้เหนื่อยกว่าปกติ ซึ่งแม้เราจะเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็พยายามพัฒนาระบบตรวจสอบเชิงนโยบาย และอยากให้ภาพฝ่ายค้านเป็นระบบ จึงพยายามเสนอทางเลือกมาเป็น ครม. เงา ไม่ใช่เป็นการเมืองแบบตอบโต้ตลอดเวลา ทั้งนี้ตนมองว่าการตรวจสอบเป็นเรื่องของสภา ตั้งแต่เป็นนายกฯ ได้เห็นนักการเมืองอยู่ 2 ประเภท คือ นักการเมืองที่ไปสภา และคอยสภา
“ตั้งแต่เข้ามาทำงานการเมือง สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ การเมืองในช่วง 10 ปีหลัง ที่ประสบกับตัวเอง จึงยืนยันได้ว่าระบอบทักษิณมีจริง และเข้ามาทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนไปให้ได้ ซึ่งความขัดแย้งในประเทศจะไม่จบตราบที่ทักษิณยังต้องการเอาชนะกฎหมายไทย ฉะนั้น ก็ต้องถามว่าหนึ่งประชาชนจะใจแข็งอย่ายอม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รอให้ตายก่อน หรือสองยอมให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะระบบยุติธรรม ซึ่งผมเลือกข้อหนึ่งอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าข้อ 2 เป็นไปไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมีเวลาเหลือทำงานทางการเมืองอีกไม่มากนัก ไม่ทราบว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้าก็พร้อมที่จะลงสมัครอย่างแน่นอน แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็จบ ตนเป็นผู้นำฝ่ายค้านมา 3 ครั้ง มากพอแล้ว เป็นครั้งที่ 4 อีกคงไม่ได้ แต่หากได้ทำงานอีกก็จะทำอย่างเต็มที่ เดิมเคยคิดไว้ว่าถ้าไม่มีอะไรสะดุดเมื่ออายุ 50 ปี ก็จะเลิกเล่นการเมือง เสร็จจากงานการเมืองก็จะไปทำอย่างอื่นแล้ว ซึ่งจากการทำงานการเมืองมา 23 ปี ในภาพรวมยังไม่พอใจ แต่สิ่งที่เคยทำไปก็ไม่ได้สูญเปล่า แม้ขณะนี้บ้านเมืองไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ แต่เราก็ต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ
นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า วันนี้ เมื่อเกิด คสช. ขึ้นมา แม้จะอยากหรือไม่อยากให้เกิด แต่สิ่งที่หวังคือต้องทำให้กติกา และบ้านเมืองกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนให้ได้ ซึ่งใน 10 ปี ข้างหน้าคงไม่มี คสช. แน่นอน สิ่งที่ตนอยากเห็น คือ การจัดการระบบการเมืองให้เข้ารูปเข้ารอยให้เร็วที่สุด เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด ซึ่งการกระจายอำนาจมีความจำเป็นที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและชี้ชะตาอนาคตของตัวเอง และไปแก้ไขปัญหาที่หมักหมมอยู่ เพราะโดยลำพังรัฐบาลไม่น่าแก้ไขได้ ซึ่งหากกลไกการเมืองล้มเหลว การปฏิรูปก็เดินไปไม่ได้ ฉะนั้น ใน 1 - 2 ปี ควรทำระบบให้ดีและทำสังคมให้เข้มแข็ง คัดคนที่ดีเข้ามาอยู่ในระบบได้ และต้องทำให้คนไม่ดีเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้วต้องเป็นคนดีให้ได้ แต่ที่ห่วงคือหัวใจไม่ได้อยู่ที่ศาลหรือองค์กรอิสระ แต่อยู่ที่กลไกสังคม ตนถึงอยากเห็นคนในสังคมตื่นตัว
ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนบอกตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ต้องทำประชามติ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากว่า 80 ปี แต่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองมากถึง 20 ฉบับ ฉะนั้นหากไม่ทำประชามติสังคมก็จะถกเถียงในเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลและนายกฯ มีความคิดจะทำสิ่งที่ดีๆ มากมาย แต่บางเรื่องที่เขียนในรัฐธรรมนูญเรื่องการปฏิรูปก็ไปในทิศทางที่ถูกต้อง นายกฯเป็นห่วงในเรื่องโครงการระยะยาว มีแผนยุทธศาสต์ แต่ขอตั้งคำถามว่า ในขณะที่บอกว่ามีแผนมีระบบแล้วได้ทำจริงหรือไม่ ตนไม่แน่ใจว่าแผนที่วางไว้เดินได้จริงหรือไม่ ทั้งหมดอยู่ที่กระบวนการทางการเมือง ถ้าคิดว่าจะปฏิรูปได้โดยตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน มีสภาปฏิรูป ไม่มีทางสำเร็จ เพราะสุดท้ายอาศัยรัฐบาลอย่างน้อยสองชุดต่อไปที่ต้องมาสานต่อ
“แต่มีความเป็นห่วงว่า ในขณะที่เราพยายามให้มีการวางระบบ แต่สิ่งที่รัฐบาลและนายกฯ ทำขณะนี้ กลับทำวิธีการที่ไม่ตามระบบ เช่น การใช้มาตรา 44 ปราบทุจริตคอร์รัปชัน ถามว่าหลังจากนี้จะมีมาตรา 44 มาใช้ย้ายข้าราชารได้อย่างที่ทำได้ในขณะนี้หรือไม่ แต่กลับตรงข้ามเพราะไปเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ถ้ามีรัฐบาลต่อไปนักการเมืองไม่สามารถย้ายข้าราชการได้แม้แต่คนเดียว สิ่งที่รัฐบาลทำแล้วคนคิดว่าดี แต่กลับบอกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งห้ามทำ แล้วเราจะทำอย่างไร