สพฐ.งัดงานวิจัยเข้าข่ม! ยัน อปท.ไม่มีความพร้อมรับโอนสถานศึกษา ย้ำ สพฐ.ต้องเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา เพราะเป็นหน่วยงานรัฐและมีความรับผิดชอบ ขณะที่ โฆษก สปช.แจงเป็นแค่ข้อเสนอ ยังไม่ใช้ข้อสรุปชัดเจน วอนสังคมอย่าสับสน
วันนี้ (6 พ.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้โอนย้ายสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นกระแสที่ลุกลามไปมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ก็มาการพูดคุยผ่านโปรแกรมไลน์ (Line) และเว็บไซต์ต่างๆของกลุ่มเรียกร้องและเคลื่อนไหวว่าไม่ต้องการไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้ศึกษางานวิจัยเรื่อง ความพร้อมการถ่ายโอนการศึกษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิ 25 คนและสุ่มตัวอย่างโดยใช้แบบสอบถามจำนวน 388 คนและได้สรุปผลการวิจัยว่า อปท. ทั้งหมด 267 แห่งพบว่ามีความพร้อมในการจัดการศึกษา 95 แห่งและไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษา 172 แห่ง ขณะที่ผู้ปกครอง นักเรียน ประชาชนในท้องถิ่น บุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็มีความเห็นว่า อปท.ไม่มีความพร้อมทั้งด้านงบประมาณ ด้านวิชาการและด้านการบริหารบุคคล ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการถ่ายโอนการศึกษา เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าในแง่ผลการวิจัย อปท.ยังไม่มีความพร้อม และสพฐ.มีความเห็นว่า สพฐ.น่าจะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาเหมาะสมกว่า เพราะเราเป็นองค์กรรัฐและทำงานบนความรับผิดชอบ ไม่ว่าการทำงานผลจะออกมาดีหรือไม่ก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้คนอื่นจัดการศึกษาก็ไม่รู้เขาจะรับผิดชอบการศึกษาหรือไม่
“ในมิติของสพฐ.มองว่าการโอนย้ายสถานศึกษาไปสังกัด อปท.ยังไงก็ไม่มีความพร้อม เมื่อมีกระแสออกมาอีก กลุ่มผอ.จึงมีความห่วงใยและออกมาเคลื่อนไหว อีกทั้งกลุ่มนี้เคยมีประสบการณ์ทำงานกับ อปท.เมื่อครั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.)มาก่อนจึง รู้ปัญหาหลายด้าน อาทิ การเปลี่ยนผู้บริหารมีผลต่อนโยบายการทำงาน ความรู้เชิงวิชาการ ซึ่งที่สุดแล้วความรู้ที่ท้องถิ่นมียังสู้หน่วยงานราชการไม่ได้ และปัญหาที่ในอดีตท้องถิ่นให้ครูทำกิจกรรมที่ไม่ใช้การเรียรการสอน ซึ่งครูรู้สึกไม่สบายใจ อีกประเด็นคือครูที่อยู่สังกัดท้องถิ่นไม่สามารถขอโอนย้ายได้ เหมือนกรณีการเป็นครูในส่วนราชการเดียวกัน”นายกมล กล่าว
ด้าน นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกคณะกรรมาธิการ
(กมธ.) การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็น จึงมีกลุ่มบุคคลและผู้เกี่ยวข้องมีข้อเสนอต่างๆ เข้ามามาก ซึ่ง กมธ.การศึกษาฯ ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย แต่เวลานี้ยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจน จึงไม่อยากให้สังคมสับสน ทั้งนี้ในส่วนของ กมธ. การศึกษาฯ มองว่าการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่เพียงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางเท่านั้น แต่เป็นการกระจายอำนาจลงไปยังพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาคนเก่งทิ้งถิ่น และจัดการศึกษาตามบริบทพื้นที่ แต่ยังคงมาตรฐานกลางไว้ อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน กมธ.การศึกษาฯ จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งที่ส่งมายัง สปช. และเวทีเสวนาตามจังหวัดต่างๆ และประมวลสรุปต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่